กลุ่มความมั่นคงทางทะเลได้พิจารณาความท้าทายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ ที่สามารถเข้าถึงได้

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
แผนความร่วมมือใหม่ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่จะเปลี่ยนแปลงความมั่นคงทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะจัดสรรงบประมาณประมาณ 3.25 พันล้านบาท (ประมาณ 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปี เพื่อนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีต้นทุนต่ำและสามารถเข้าถึงได้ทางการค้า เพื่อเสริมสร้างขอบเขตในการเฝ้าระวังทางทะเล การบำรุงรักษา และความมั่นคงในภูมิภาค
กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาได้เปิดตัวกลุ่มความมั่นคงทางทะเลในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 กลุ่มความมั่นคงทางทะเลจะเป็นการรวมตัวกันระหว่างผู้นำรัฐบาลจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เจ้าหน้าที่ด้านนวัตกรรมของสหรัฐฯ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมกลาโหม เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาเร่งด่วน
การรับรองว่าพันธมิตรและหุ้นส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีวิธีการที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าในการตรวจสอบ จัดการ และบังคับใช้ความมั่นคงทางทะเล จะช่วยเสริมสร้างสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองทั้งในภูมิภาคและทั่วโลก ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา
วิดีโอจาก: ส.ท. คริสเตียน ทอฟเทอรู/นาวิกโยธินสหรัฐฯ
โครงการขอบเขตในการเฝ้าระวังทางทะเลตอบสนองความต้องการที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น การทำประมงที่ผิดกฎหมาย นายหวง โด นักวิจัยแห่งสถาบันทะเลตะวันออกของเวียดนาม เขียนไว้ในวารสารซีเคียวริตี เน็กซัส ของศูนย์เอเชียแปซิฟิก แดเนียล เค. อิโนะอุเอะ เพื่อการศึกษาด้านความมั่นคง
ข้อมูลตามเวลาจริงจากพื้นที่ทางทะเลอันกว้างใหญ่ เช่น ข้อมูลที่ได้รับการสนับสนุนจากปัญญาประดิษฐ์และยานพาหนะไร้คนขับ สามารถช่วยให้รัฐตรวจจับและทำความเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว นายโดกล่าว
“กลไกที่คล้ายกันซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จคือกรณีของข้อตกลงความร่วมมือระดับภูมิภาคว่าด้วยการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการโจรกรรมติดอาวุธต่อเรือในเอเชีย” นายโดกล่าว “มีรายงานว่าจำนวนเหตุการณ์โดยรวมในเอเชียลดลงตั้งแต่จัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลของข้อตกลงความร่วมมือระดับภูมิภาคว่าด้วยการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการโจรกรรมติดอาวุธต่อเรือในเอเชีย ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ … โดยรวมแล้ว ความรุนแรงและความถี่ของการปล้นด้วยอาวุธได้ลดลงระหว่าง พ.ศ. 2561 – 2565 โดยประเทศต่าง ๆ เช่น ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย มีการพัฒนาที่เห็นได้อย่างชัดเจน”
กลุ่มความมั่นคงทางทะเลจะเพิ่มการสาธิตเทคโนโลยีให้แก่พันธมิตรและหุ้นส่วนในการฝึกซ้อมทางทหารแบบพหุภาคี เช่น การฝึกบาลิกาตันในฟิลิปปินส์ ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา
ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีส่วนร่วมในการฝึกซ้อมแบบทวิภาคีและพหุภาคีกับสหรัฐฯ หลายสิบครั้งในแต่ละปี โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งกำลังพลกว่า 30,000 นายเพื่อเสริมสร้างความพร้อมและการประสานงานร่วมกันระหว่างประเทศหุ้นส่วน การฝึกซ้อมระดับภูมิภาคแบบพหุภาคีที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ การฝึกคอบร้าโกลด์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และการฝึกซูเปอร์การูด้าชิลด์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอินโดนีเซียกับสหรัฐฯ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีกำหนดจัดการฝึกซ้อมทางทะเลครั้งที่สองร่วมกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียนใน พ.ศ. 2568 ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา
หุ้นส่วนในกลุ่มความมั่นคงทางทะเลจะจัดการประชุมอย่างสม่ำเสมอเพื่อแก้ไขปัญหาในการส่งมอบเทคโนโลยีด้านความมั่นคง พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับหุ้นส่วนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายด้านกลาโหมอย่างมีประสิทธิภาพ
สำนักงานผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการความมั่นคงแห่งภูมิภาคอินโดแปซิฟิกกำลังทำงานร่วมกับหน่วยนวัตกรรมด้านกลาโหม สำนักงานความร่วมมือด้านความมั่นคงกลาโหม และกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกในการดำเนินโครงการกลุ่มความมั่นคงทางทะเล
“สหรัฐอเมริกามองเห็นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปราศจากการบีบบังคับ โดยมีความปลอดภัย ความมั่นคง อธิปไตย การกำหนดการปกครองด้วยตนเอง และความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งทั้งหมดนี้ขับเคลื่อนภายใต้ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน” ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา “การค้าทางทะเลมากกว่าร้อยละ 60 ของการค้าทางทะเลทั่วโลกที่ผ่านภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเรือ ทำให้ขอบเขตทางทะเลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคนี้ สหรัฐอเมริกามุ่งมั่นที่จะรับรองว่าเส้นทางการค้าเหล่านี้จะยังคงเปิดกว้างและปราศจากอุปสรรคสำหรับทุกประเทศ”