แรงสนับสนุนกำลังรบ เพื่อการสร้างเสถียรภาพ
ความร่วมมือด้านปฏิบัติการพิเศษช่วยเสริมความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
นันับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 (พ.ศ. 2493-2502) เป็นต้นมา คาบสมุทรเกาหลีถือเป็นจุดวิกฤตที่อาจเกิดความขัดแย้งในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ความตึงเครียดในปัจจุบันเพิ่มขึ้นจนถึงจุดที่ใกล้จะลุกลามเนื่องจากการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือที่ถูกสั่งห้าม รวมถึงสงครามที่ผิดกฎหมายของรัสเซียต่อยูเครน
กองกำลังทหารแบบดั้งเดิมเป็นส่วนสําคัญของสถานการณ์การป้องปรามแบบบูรณาการระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ ซึ่งมีบทบาทในการสร้างเสถียรภาพ ความมั่นคง และเศรษฐกิจที่แข็งแรง อย่างไรก็ตาม หากการป้องปรามล้มเหลว หน่วยปฏิบัติการพิเศษซึ่งมีขนาดเล็กกว่าและมีลักษณะไม่เปิดเผยตัวตน จะเตรียมความพร้อมไว้ในระดับสูงเพื่อเอาชนะและลดข้อได้เปรียบแบบอสมมาตรที่ฝ่ายตรงข้ามอาจมี
หากจำเป็น กองกำลังเหล่านี้สามารถออกปฏิบัติภารกิจเชิงรุกหรือลาดตระเวนเฉพาะทาง ให้การป้องกันและความช่วยเหลือด้านความมั่นคงภายในแก่ประเทศหุ้นส่วน ต่อต้านการก่อการร้าย การก่อความไม่สงบ และการแพร่กระจายของอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง มีส่วนร่วมในสงครามนอกแบบแผนและปฏิบัติการข้อมูลทางทหาร รวมถึงการช่วยเหลือและชิงตัวประกัน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
กว่า 70 ปีมาแล้วที่เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษจากหลายประเทศได้มีบทบาทในการป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นในคาบสมุทรเกาหลี โดยคำนึงถึงความสำคัญด้านการป้องกันร่วมกันระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา รวมถึงผลประโยชน์ร่วมกันของพันธมิตรและหุ้นส่วนหลายฝ่ายในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง และมีเสถียรภาพ
พลังความร่วมมือ
สงครามเกาหลี ซึ่งเริ่มต้นเมื่อเกาหลีเหนือที่เป็นคอมมิวนิสต์บุกเข้ายึดครองเกาหลีใต้ใน พ.ศ. 2493 ได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดการปฏิวัติและการพัฒนาของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ในช่วงปีแรก ๆ ของสงคราม ที่ปรึกษาจากสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ได้ฝึกฝนร่วมกับหน่วยรบพิเศษของสาธารณรัฐเกาหลีในญี่ปุ่นและในคาบสมุทรเกาหลี เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรวบรวมข่าวกรอง การสนับสนุนการปฏิบัติการทางยุทธวิธี และการบุกโจมตีในเขตหลังแนวรบของเกาหลีเหนือ ตลอดการปฏิบัติการ ทีมเหล่านี้ได้รับการเสริมกำลังและจัดวางกำลังโดยหน่วยรบเสริมเฉพาะทางจากกองกำลังร่วม หน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพบกสหรัฐฯ เข้าร่วมการสู้รบครั้งแรกใน พ.ศ. 2496 โดยส่งทหารไปปฏิบัติการร่วมกับกองกำลังฝ่ายเดียวกันหลังแนวรบของศัตรู นี่คือจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างหน่วยปฏิบัติการพิเศษของเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
หลังจากที่การลงนามในข้อตกลงสงบศึกเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2496 ได้ยุติการสู้รบ แต่ละฝ่ายจึงหันไปมุ่งเน้นที่การพัฒนาและการรักษาไว้ซึ่งกองกำลังป้องปรามที่ไว้ใจได้ ซึ่งรวมถึงเกาหลีใต้ สหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ความร่วมมือนี้ดำเนินต่อเนื่องตลอดช่วงสงครามเย็น และยังคงแข็งแกร่งในปัจจุบันผ่านการฝึกซ้อมแบบพหุชาติและการหมุนเวียนกองกำลังร่วมกัน การดำเนินงานของหน่วยปฏิบัติการพิเศษช่วยให้ผู้นำระดับสูงมีทางเลือกในทุกขั้นตอนของการแข่งขันหรือความขัดแย้ง โดยสร้างความได้เปรียบให้กับกองกำลังทั่วไปในการใช้ประโยชน์ และให้เวลาแก่ผู้ตัดสินใจในการเลือกผลลัพธ์ทางการเมืองหรือการทูตที่เป็นประโยชน์สูงสุด ความพยายามเหล่านี้ยังเสริมด้วยการฝึกซ้อมที่น่าเชื่อถือและการปฏิบัติการร่วมกัน
การจัดตั้งกองบัญชาการปฏิบัติการพิเศษของกองกำลังสหรัฐอเมริกาในเกาหลีใน พ.ศ. 2531 ได้สถาปนาความร่วมมือนี้อย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ความร่วมมือระหว่างกหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสองประเทศก็ลึกซึ้งขึ้น โดยเน้นหลักไปที่ความสามารถในการดำเนินงานร่วมกันผ่านการฝึกซ้อม การวางแผน และการฝึกควบคุมและสั่งการ
กองกำลังปฏิบัติการพิเศษมีบทบาทในการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2485 พ.อ. ไบรอัน เฟนตัน ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐฯ กล่าวต่อคณะอนุกรรมการข่าวกรองและปฏิบัติการพิเศษของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 “แปดทศวรรษที่ผ่านมาได้ทำให้ปฏิบัติการพิเศษของคุณถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสมสำหรับยุคนี้ … “การป้องปรามแบบบูรณาการและการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์เป็นสิ่งที่ไหลเวียนอยู่ในสายเลือดของเรา” พ.อ. เฟนตันกล่าว
การป้องปรามแบบบูรณาการ
ครั้งสุดท้ายที่กองทัพประชาชนเกาหลีเหนือเชื่อว่าตนมีความได้เปรียบในกำลังรบ กองทัพของพวกเขาได้บุกลงใต้และจุดชนวนสงครามที่คร่าชีวิตผู้คนนับล้าน เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เหตุการณ์เดียว แม้แต่ในสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ในปัจจุบัน รัสเซียยังใช้กำลังอำนาจเป็นเครื่องมือในการต่อรอง ทว่าความสามารถของประชาชนยูเครนในการต่อต้านกองทัพที่เคยถูกมองว่าเป็นหนึ่งในกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก แสดงให้เห็นเหตุผลในการลงทุนในกองกำลังป้องปรามที่น่าเชื่อถือในเกาหลีใต้
พันธมิตรที่ยาวนานระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ เป็นรากฐานสำคัญสำหรับความมั่นคงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกในวงกว้างขึ้น การฝึกซ้อมต่าง ๆ เช่น การฝึกแลกเปลี่ยนร่วมผสมและการฝึกความพร้อมในการส่งกำลังออกปฏิบัติการ ช่วยเสริมสร้างความสามารถทวิภาคีของหน่วยปฏิบัติการพิเศษในการตอบสนองความสำคัญของการป้องกันร่วมกัน การฝึกซ้อมพหุชาติต่าง ๆ ที่ดำเนินเป็นประจำ เช่น อุลชีฟรีดอมชิลด์และฟรีดอมชิลด์ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาความพร้อมและป้องปรามภัยคุกคามในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ
ความขัดแย้งในภูมิภาคนี้ไม่ใช่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ นายเอลี แรตเนอร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก กล่าวกับสมาชิกสภานิติบัญญัติของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 “นี่เป็นเพราะว่า ไม่ว่าจะเป็นในคาบสมุทรเกาหลี ทั่วทั้งช่องแคบไต้หวัน หรือที่อื่นๆ ในภูมิภาคนี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มุ่งมั่นดำเนินการให้มากขึ้นเพื่อเสริมสร้างการป้องปรามที่ไว้วางใจได้ และเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้ง หากจำเป็น” นายแรตเนอร์กล่าว “เรายังได้ย้ำถึงความเปิดกว้างในการเจรจาเพื่อลดความเสี่ยง และหลีกเลี่ยงการยกระดับความรุนแรงโดยไม่จำเป็น เมื่อรวมกันแล้ว ความพยายามเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อความมั่นคงในภูมิภาค”
นอกเหนือจากพันธมิตรระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ แล้ว กองบัญชาการสหประชาชาติยังเป็นศูนย์รวมของเจ้าหน้าที่จากพันธมิตร 22 ประเทศทั่วโลกในการสนับสนุนข้อตกลงสงบศึก การร่วมมือระยะยาวนี้ได้สร้างรากฐานสำหรับการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในภูมิภาค เช่น ญี่ปุ่น โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่ง สถานการณ์ด้านความมั่นคงในปัจจุบันแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการร่วมมืออย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น “ภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องจากเกาหลีเหนือขยายไปไกลเกินกว่าคาบสมุทรเกาหลีและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และครอบคลุมถึงหลายมิติรวมถึงไซเบอร์และอวกาศ” พ.อ. พอล ลาคาเมรา ผู้บัญชาการกองกำลังผสมของเกาหลีใต้และสหรัฐฯ กองบัญชาการสหประชาชาติ และกองกำลังสหรัฐฯ ในเกาหลี กล่าวในคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมาธิการทางทหารของวุฒิสภาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567
พ.อ. ลาคาเมรายังกล่าวถึงความร่วมมือระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซียเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งรวมถึงการฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ด้วยการจัดหาอาวุธปืนใหญ่และขีปนาวุธให้กับรัฐบาลรัสเซียเพื่อใช้ในสงครามกับยูเครน ซึ่งส่งผล
กระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาค “สหรัฐฯ และเกาหลีใต้จะยังคงยืนหยัดร่วมกันเพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลีและเสถียรภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ” พ.อ. ลาคาเมรากล่าว “ความมุ่งมั่นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพในภูมิภาคและเป็นตัวอย่างให้กับประเทศอื่น ๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน”
สถานการณ์ภัยคุกคามที่มีร่วมกันนี้กลายเป็นตัวเร่งให้เกิดความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เกาหลีใต้มีความพร้อมมากขึ้นในการขยายความร่วมมือในภูมิภาค โดยตระหนักว่าความมั่นคงร่วมกันเป็นวิธีการที่ดีที่สุด นายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้เน้นย้ำถึงการเสริมสร้างกองบัญชาการสหประชาชาติ และพันธมิตรระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ เพื่อรักษาสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี ในขณะเดียวกัน การประชุมสุดยอดที่แคมป์เดวิดซึ่งสหรัฐฯ เป็นผู้นำในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ได้ช่วยอำนวยความสะดวกในความร่วมมือและการแบ่งปันข้อมูลไตรภาคีระหว่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามจากขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ
ขีดความสามารถเฉพาะทาง
หน่วยปฏิบัติการพิเศษมีบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลีด้วยการผสมผสานภารกิจเฉพาะทางและความสามารถที่โดดเด่น หนึ่งในหน้าที่สำคัญคือการสนับสนุนกองกำลังความมั่นคง โดยเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ของหน่วยปฏิบัติการพิเศษจะทำหน้าที่ฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแก่กองกำลังของประเทศพันธมิตรในด้านสำคัญ เช่น การต่อต้านการก่อการร้าย สงครามนอกแบบแผน และการรวบรวมข่าวกรอง การเสริมสร้างขีดความสามารถนี้ช่วยให้ประเทศพันธมิตรสามารถจัดการกับภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หน่วยปฏิบัติการพิเศษยังนำเสนอความได้เปรียบเฉพาะทางในสถานการณ์สงคราม ความสามารถเฉพาะทางของของหน่วยปฏิบัติการพิเศษเป็นสิ่งที่พิเศษมากและไม่สามารถพบได้ในกองกำลังแบบดั้งเดิม เช่น การปฏิบัติภารกิจที่มีความเสี่ยงสูงต่อเป้าหมายสำคัญ การลาดตระเวนลึกเข้าไปในดินแดนศัตรู และการปฏิบัติการสงครามนอกแบบแผน
กุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพเต็มที่ของหน่วยปฏิบัติการพิเศษคือการขยายการฝึกอบรมร่วมกับพันธมิตรในภูมิภาค เพื่อให้สามารถประสานงานกันได้มากขึ้นในการรับมือกับภัยคุกคาม หน่วยปฏิบัติการพิเศษของเกาหลีใต้และสหรัฐฯ มักฝึกซ้อมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ กองบัญชาการปฏิบัติการพิเศษสหรัฐฯ ประจำเกาหลีใต้ ยังจัดการแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษจากประเทศสมาชิกของสหประชาชาติอีกด้วย “ด้วยระยะเวลากว่า 70 ปี พันธมิตรระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก” พล.ต. เดเร็ค ลิปสัน ผู้บัญชาการกองบัญชาการปฏิบัติการพิเศษสหรัฐฯ ประจำเกาหลีใต้ กล่าวขณะร่วมการฝึกซ้อมหลายชาติใน พ.ศ. 2566 ที่ค่ายฮัมฟรีย์ ประเทศเกาหลีใต้ “พวกเราทุกคนที่กองบัญชาการแห่งนี้ส่งเสริมความสัมพันธ์พิเศษนี้ทุกวันผ่านการฝึกอบรมและการมีส่วนร่วม โดยคำนึงถึงความสามารถเฉพาะทางของปฏิบัติการพิเศษเป็นหลัก”
หน่วยปฏิบัติการพิเศษของแต่ละประเทศที่เข้าร่วมมีชุดทักษะเฉพาะที่ช่วยส่งเสริมให้กองกำลังร่วมมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลองนึกภาพสถานการณ์ที่ความเชี่ยวชาญของหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนทางอากาศในระยะประชิด ผสมผสานกับความเชี่ยวชาญของเกาหลีใต้ในสงครามเมือง และทักษะในการปฏิบัติการทางไซเบอร์ของหุ้นส่วนในภูมิภาค แนวทางความร่วมมือเช่นนี้จะใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของแต่ละประเทศ ขณะเดียวกันก็สร้างความไว้วางใจ ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน และสร้างการป้องปรามที่แข็งแกร่งขึ้นต่อศัตรูที่อาจเกิดขึ้น
การขยายความร่วมมือเหล่านี้กับพันธมิตรในภูมิภาคจะช่วยเสริมสร้างการรับมือร่วมกันต่อความท้าทาย เช่น โครงการอาวุธนิวเคลียร์์ที่ผิดกฎหมายของเกาหลีเหนือ และสร้างโครงสร้างความปลอดภัยที่แข็งแกร่งและหลากหลายสำหรับภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ในท้ายที่สุด ความร่วมมือที่แข็งแกร่งของหน่วยหน่วยปฏิบัติการพิเศษบนคาบสมุทรเกาหลีนั้นถือเป็นแรงสนับสนุนกำลังรบสำหรับเสถียรภาพในภูมิภาค และเป็นการปูทางไปสู่อนาคตที่มั่นคงปลอดภัย