ออสเตรเลียจะเพิ่มการผลิตขีปนาวุธเมื่ออินโดแปซิฟิกก้าวเข้าสู่ยุคใหม่
รอยเตอร์
ออสเตรเลียเพิ่มความสามารถด้านการป้องกันขีปนาวุธของตนท่ามกลาง “ความกังวลอย่างมาก” เกี่ยวกับการทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปของสาธารณรัฐประชาชนจีนในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ทั้งยังจะเสริมคลังแสงอาวุธและการส่งออกไปยังหุ้นส่วนด้านความมั่นคงด้วย
ออสเตรเลียจะเพิ่มความสามารถในการป้องกันขีปนาวุธและความสามารถในการโจมตีระยะไกล และจะร่วมมือกับหุ้นส่วนด้านความมั่นคง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา เพื่อสนับสนุนเสถียรภาพในภูมิภาค นายแพท คอนรอย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกลาโหมออสเตรเลีย กล่าวเมื่อปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567
จีนได้ทำการทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 โดยมีระยะยิงประมาณ 11,000 กิโลเมตร พุ่งลงในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย
“เราได้แสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัวนี้ โดยเฉพาะเมื่อเข้ามาในเขตมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งเป็นไปตามสนธิสัญญาราโรตองกาที่ระบุว่ามหาสมุทรแปซิฟิกควรเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์” นายคอนรอยกล่าว
ทั้งยังกล่าวเสริมอีกว่าอินโดแปซิฟิกกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ของ “ขีปนาวุธ” ซึ่งขีปนาวุธกลายเป็น “เครื่องมือในการบีบบังคับ”
ออสเตรเลียได้ติดตั้งขีปนาวุธ เอสเอ็ม-6 บนกองเรือพิฆาตของตนเพื่อให้การป้องกันขีปนาวุธ นายคอนรอยกล่าว โดยในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 รัฐบาลออสเตรเลียได้ประกาศข้อตกลงมูลค่า 1.6 แสนล้านบาท (ประมาณ 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) กับสหรัฐฯ เพื่อซื้อขีปนาวุธพิสัยไกล เอสเอ็ม-2 ทรีซี และ เอสเอ็ม-6 สำหรับกองทัพเรือออสเตรเลีย
ออสเตรเลียระบุว่าจะใช้งบประมาณ 1.67 ล้านล้านบาท (ประมาณ 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในการจัดหาขีปนาวุธและการป้องกันขีปนาวุธในช่วงสิบปีข้างหน้า ซึ่งงบประมาณเกือบครึ่งหนึ่งจะใช้สนับสนุนโครงการจัดการอาวุธนำวิถีและยุทโธปกรณ์ระเบิดของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นความสามารถใหม่ในการผลิตภายในประเทศ
“เราต้องแสดงให้ผู้ที่อาจเป็นศัตรูได้เห็นว่าหากความขัดแย้งยืดเยื้อต่อไป การกระทำที่เป็นศัตรูต่อออสเตรเลียจะไม่เกิดผลและไม่สามารถดําเนินต่อไปได้” นายคอนรอยกล่าว
ออสเตรเลียจะใช้เงิน 7.1 พันล้านบาท (ประมาณ 209 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในการผลิตระบบยิงจรวดนำวิถีหลายลำกล้องในประเทศร่วมกับบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน ของสหรัฐฯ โดยโรงงานจะสามารถผลิตระบบยิงจรวดนำวิถีหลายลำกล้องได้ถึง 4,000 ชิ้นต่อปี หรือประมาณหนึ่งในสี่ของการผลิตทั่วโลกในปัจจุบัน นายคอนรอยกล่าว
บริษัทธาเลสของฝรั่งเศสจะผลิตกระสุนขนาด 155 มม. รุ่น เอ็ม795 ซึ่งใช้ในปืนใหญ่ ที่โรงงานกระสุนของรัฐในออสเตรเลียตะวันออกเฉียงใต้ และจะเป็นโรงงานผลิตโดยเฉพาะแห่งแรกนอกสหรัฐฯ โดยจะเริ่มผลิตใน พ.ศ. 2571 และมีความสามารถในการผลิต 100,000 นัดต่อปี
สงครามในยูเครนใช้กระสุนขนาด 155 มม. วันละ 10,000 นัดใน พ.ศ. 2566 ซึ่งมากกว่าการผลิตในยุโรป นายคอนรอยกล่าว
“ในโลกที่มีการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและความเปราะบางทางยุทธศาสตร์ ออสเตรเลียจำเป็นต้องจัดหาขีปนาวุธมากขึ้น และผลิตให้ได้มากขึ้นในประเทศของเรา” นายคอนรอยกล่าว
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567 ออสเตรเลียระบุว่าจะร่วมผลิตขีปนาวุธโจมตีทางทะเลระยะไกลและขีปนาวุธโจมตีร่วมกับบริษัทกองส์เบิร์กดีเฟนส์จากนอร์เวย์ที่เมืองนิวคาสเซิลทางชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสถานที่เดียวที่อยู่นอกนอร์เวย์
กองทัพเรือออสเตรเลียจะมีขีปนาวุธโทมาฮอว์กที่ผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งมีพิสัย 2,500 กิโลเมตร ภายในสิ้น พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของอาวุธในกองเรือสิบเท่า