ความร่วมมือเรื่องเด่น

หล่อหลอม การป้องปราม

เทคโนโลยีใหม่ และความร่วมมือที่เข้มแข็งช่วยยกระดับเสถียรภาพทั่วโลก

เซนทรี

ระบบด้านกลาโหมรุ่นใหม่จะมีความรวดเร็วมากขึ้น แม่นยำมากขึ้น และทรงพลังมากขึ้น เพื่อปกป้องสหรัฐอเมริการวมทั้งพันธมิตรและหุ้นส่วนจากภัยคุกคามที่เกิดขึ้นใหม่ได้ดียิ่งขึ้น ขณะที่กองทัพสหรัฐฯ และหุ้นส่วนปรับปรุงความทันสมัยให้กับระบบต่าง ๆ ของตนเอง เทคโนโลยีใหม่ก็ช่วยมอบขีดความสามารถขั้นสูงในการตรวจจับและป้องกันภัยคุกคามต่อภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและที่อื่น ๆ รัสเซียและพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีจุดมุ่งหมายที่จะขัดขวางระบบด้านกลาโหมของสหรัฐฯ และพันธมิตรมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีนเองก็ยังคงนำระบบของตนเองมาใช้อย่างต่อเนื่อง เกาหลีเหนือและอิหร่านก็กำลังขยายคลังแสงและขีดความสามารถทางนิวเคลียร์ของตนด้วยเช่นกัน

“สำหรับกองกำลังสหรัฐฯ พร้อมทั้งพันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐฯ ทั่วโลก ในยุคของสงครามที่มุ่งเน้นไปที่ขีปนาวุธ การป้องกันขีปนาวุธเชิงรุกได้กลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการวางกำลังทางทหารที่น่าเชื่อถือ” นายจอห์น ดี. ฮิล รองรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ด้านนโยบายอวกาศและการป้องกันขีปนาวุธ กล่าวต่อคณะกรรมาธิการกิจการทหารของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 “หากจะอธิบายโดยเรียบง่ายที่สุด การป้องกันภัยทางอากาศและขีปนาวุธแบบบูรณาการประกอบไปด้วยเซ็นเซอร์และอาวุธยิงที่หลากหลาย และระบบบัญชาการและควบคุมที่เชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกันเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาภาคสนามสามารถเลือกสรรอุปกรณ์สกัดกั้นที่ดีที่สุดในการป้องกันภัยคุกคามที่เกิดขึ้นได้ แต่โดยภาพรวมนั้น การป้องกันภัยทางอากาศและขีปนาวุธแบบบูรณาการยังจำเป็นต้องผสานเข้ากับองค์ประกอบอื่น ๆ ของการวางกำลังทางทหาร รวมถึงขีดความสามารถในการโจมตีที่สามารถทำอันตรายต่อขีดความสามารถทางทหารที่สำคัญของศัตรูได้”

ภัยคุกคามใหม่ เทคโนโลยีใหม่

สหรัฐฯ พร้อมด้วยพันธมิตรและหุ้นส่วนกำลังพัฒนาโครงการด้านการป้องกันและการเตือนภัย ซึ่งครอบคลุมขอบเขตต่าง ๆ รวมถึงอวกาศ ทั้งนี้เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่เพิ่มขึ้นและเพื่อรับรองถึงเสถียรภาพของโลก ตัวอย่างเช่น ระบบป้องกันขีปนาวุธในอนาคตจะผสานเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเพื่อการตรวจจับ ติดตาม และสกัดกั้นอาวุธ ระบบป้องกันที่กำลังพัฒนา ได้แก่

สถาปัตยกรรมเซ็นเซอร์กำลังก้าวหน้าขึ้นเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากอาวุธความเร็วเหนือเสียงระยะไกล “เรายืนอยู่ ณ จุดพลิกผันของการป้องกันขีปนาวุธ ซึ่งเริ่มต้นด้วยเซ็นเซอร์” นายมาซาโอะ ดาห์ลเกรน นักวิจัยในโครงการป้องกันขีปนาวุธของสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ กล่าวในการอภิปรายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 “เซ็นเซอร์เป็นจุดแรกในกระบวนการทำลายของการป้องกันขีปนาวุธ และคุณจะออกแบบข้อกำหนดอื่น ๆ ทั้งหมดสำหรับการป้องกันขีปนาวุธโดยอิงจากสิ่งนี้” เช่น เซ็นเซอร์อวกาศติดตามอาวุธความเร็วเหนือเสียงและขีปนาวุธทิ้งตัวประกอบไปด้วยเซ็นเซอร์ชนิดใช้แสงหลายความยาวคลื่น และสามารถตรวจจับและติดตามอาวุธความเร็วเหนือเสียง ขีปนาวุธทิ้งตัว และภัยคุกคามในสภาพแวดล้อมที่มีสิ่งของระเกะระกะปริมาณมาก ทำให้กองกำลังสกัดกั้นได้ดีขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 สำนักงานป้องกันขีปนาวุธสหรัฐฯ และหน่วยพัฒนาอวกาศของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ได้ปล่อยดาวเทียม 6 ดวงสู่วงโคจรต่ำของโลก โดย 2 ใน 6 ดวงติดตั้งเซ็นเซอร์อวกาศติดตามอาวุธความเร็วเหนือเสียงและขีปนาวุธทิ้งตัวรุ่นต้นแบบ สหรัฐฯ กำลังพัฒนาเครือข่ายเซ็นเซอร์อินฟราเรด ซึ่งสามารถตรวจจับลำแสงร้อนของจรวดเมื่อถูกปล่อยออกมา ทำให้กองกำลังสหรัฐฯ และพันธมิตรมีเวลาตอบโต้ เซ็นเซอร์สามารถตรวจจับประเภทของขีปนาวุธ แหล่งที่มาของการปล่อย และตำแหน่งเป้าหมายจากระยะหลายพันกิโลเมตรเหนือพื้นโลกได้ด้วยกลุ่มดาวเทียมในวงโคจรพ้องคาบโลก (หมุนตามการหมุนของโลกเพื่อคงตำแหน่งในพื้นที่เฉพาะ) และวงโคจรแบบวงรีสูง (ให้การครอบคลุมพื้นที่ละติจูดสูงและบริเวณขั้วโลก) ในอนาคตจะมีการส่งดาวเทียมขึ้นไปในวงโคจรต่ำและกลางของโลก ซึ่งเป็นการเพิ่มการเฝ้าระวังขึ้นอีกชั้น

ขีปนาวุธพิสัยไกลรุ่นใหม่ ซึ่งสามารถโจมตีเป้าหมายที่อยู่ลึกเข้าไปในดินแดนของศัตรู จะผสานรวมเทคโนโลยีใหม่เพื่อปรับปรุงระบบการนำทาง ระยะยิง การล่องหน และความคงทน กองทัพอากาศสหรัฐฯ กำลังพัฒนาขีปนาวุธร่อนแบบอากาศสู่พื้นดินที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ ซึ่งออกแบบมาเพื่อทะลุทะลวงและทนทานต่อระบบป้องกันภัยทางอากาศ เอจีเอ็ม-181 ยังสามารถใช้งานร่วมกับเครื่องบินทิ้งระเบิด บี-52เอช
สตราโตฟอร์เทรส และ บี-21 โดยติดตั้งหัวรบเทอร์โมนิวเคลียร์สองขั้น
ตอนที่มีพลังทำลายระดับต่ำถึงระดับปานกลาง ขีปนาวุธนี้มีพิสัยการยิงเกินกว่า 2,500 กิโลเมตร และมีกำหนดจะเข้าประจำการภายใน พ.ศ. 2573 ในขณะเดียวกัน กองทัพเรือสหรัฐฯ กำลังพัฒนาขีปนาวุธต่อต้านเรือเชิงรุกความเร็วเหนือเสียงแบบยิงทางอากาศ ซึ่งสามารถเดินทางด้วยความเร็วมากกว่า 6,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามรายงานของเดอะดีเฟนซ์โพสต์ ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ขีปนาวุธต่อต้านเรือเชิงรุกความเร็วเหนือเสียงแบบยิงทางอากาศจะสามารถใช้งานร่วมกับ เอฟ/เอ-18อี/เอฟ ซูเปอร์ฮอร์เน็ต ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ที่มีสมรรถนะสูง เครื่องยนต์คู่ รวมทั้งสามารถบรรทุกขึ้นบนเรือบรรทุกเครื่องบินได้ และคาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ภายใน พ.ศ. 2571

ขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปแบบยิงจากพื้นดิน เอ็มจีเอ็ม-35 เซนทิเนล กำลังพัฒนาขึ้นในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงความทันสมัยให้กับขีปนาวุธ 400 ลูก ฐานปล่อยขีปนาวุธ 45 แห่ง และฐานปฏิบัติการมากกว่า 600 แห่งในสหรัฐฯ คาดว่าโครงการ
เซนทิเนลจะดำเนินการต่อไปได้จนถึง พ.ศ. 2618 อีกทั้งยังประกอบไปด้วยความสามารถด้านการสั่งการ การควบคุม และการสื่อสารที่แข็งแกร่ง ฐานปฏิบัติการที่มีความแข็งแกร่ง และเครือข่ายไฟเบอร์ออปติกที่ยาวหลายพันกิโลเมตร การมาถึงของเซนทิเนลประจวบเหมาะกับการปลดประจำการของมินิทแมนทรี เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการปฏิบัติการขาดช่วง การก่อสร้างได้เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 ที่โรงงานผลิตอาวุธแห่งใหม่ที่ฐานทัพอากาศมาล์มสตรอม รัฐมอนแทนา

อาวุธพลังงานควบคุมทิศทาง ซึ่งรวมถึงเลเซอร์ อุปกรณ์คลื่นความถี่วิทยุหรือไมโครเวฟที่มีกำลังสูง และเทคโนโลยีลำแสงอนุภาค ล้วนใช้พลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าในการระงับ ลดทอน ทำลายล้าง หรือหลอกลวงศัตรู โดยไม่จำเป็นต้องมีการส่งกระสุนออกไป อาวุธพลังงานควบคุมทิศทางยังใช้ในการระบุเป้าหมาย การค้นหาและการสอดแนมเพื่อการต่อต้านข่าวกรอง และสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงการรบกวนหรือขัดขวางสัญญาณและการปิดการทำงานหรือทำลายเป้าหมาย มีการคาดการณ์ว่านวัตกรรมในภาคส่วนการค้าจะผลักดันการพัฒนาอาวุธพลังงานควบคุมทิศทาง ซึ่งรวมถึงระบบที่มีขนาดเล็กลง มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีต้นทุนต่ำลง ระบบที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาและการทดสอบส่วนใหญ่มีไว้สำหรับปฏิบัติการต่อต้านโดรน และผู้นำทางทหารก็แสดงความสนใจเป็นพิเศษในอาวุธไมโครเวฟกำลังสูง ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าเลเซอร์ในการต่อต้านฝูงโดรน “สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือเมื่อคุณเริ่มพูดถึงฝูงโดรน เราจึงต้องลงทุนในสิ่งต่าง ๆ เช่น ไมโครเวฟกำลังสูง เพื่อสามารถรับมือกับฝูงโดรนที่กำลังบุกเข้ามาหาคุณ” พล.อ. ไมเคิล “อีริก” คูริลลา หัวหน้ากองบัญชาการกลางสหรัฐฯ กล่าวต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 “คุณจำเป็นต้องมีการป้องกันหลายชั้น”

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้นำปัญญาประดิษฐ์มาใช้เข้ากับระบบต่าง ๆ เป็นเวลานานกว่า 60 ปีแล้ว เมื่อปัญญาประดิษฐ์มีความซับซ้อนมากขึ้น ผู้นำด้านความมั่นคงก็มองหาวิธีการเพิ่มเติมที่เทคโนโลยี รวมถึงการเรียนรู้ของเครื่องและระบบอัตโนมัติ จะช่วยอำนวยความสะดวกในการตัดสินใจที่เร็วขึ้นและดียิ่งขึ้นในภาคสนาม “เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์และระบบไร้คนขับได้เปลี่ยนแปลงวิธีการที่กองทัพจัดเตรียมการรักษาความปลอดภัยและพยายามยับยั้งสงคราม … และในที่สุดก็สามารถตัดสินใจได้ว่าฝ่ายใดจะมีชัยในช่วงเวลาแห่งการทำสงคราม” พล.ร.ท. แบรด คูเปอร์ รองผู้บัญชาการกองบัญชาการกลางสหรัฐฯ กล่าวกับผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและกลาโหมในการประชุม “ปัญญาประดิษฐ์ในยุคของการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์” ที่จัดขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 ที่เมืองแทมปา รัฐฟลอริดา “ที่กองบัญชาการกลางสหรัฐฯ เราสามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ในขอบเขตทางทะเลเพื่อตรวจจับรูปแบบเพื่อระบุภัยคุกคามในอัตราที่รวดเร็วขึ้น” พล.ร.ท. คูเปอร์ระบุ “เราต้องการก้าวนำหน้าการกระทำที่ชั่วร้าย และปัญญาประดิษฐ์ … ได้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง” ปัญญาประดิษฐ์เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบอินฟราเรดในอวกาศ ซึ่งมีเซ็นเซอร์เพื่อรับมือกับการโจมตีต่าง ๆ เช่น การโจมตีเรือพาณิชย์ในทะเลแดงโดยกลุ่มกบฏฮูตีที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน “ความสามารถในการแจ้งเตือนเกี่ยวกับขีปนาวุธ เช่น ‘มีขีปนาวุธกำลังมุ่งหน้าเข้ามาและนี่คือสถานที่ที่ขีปนาวุธนั้นถูกยิงออกมา และนี่คือที่ที่ขีปนาวุธกำลังมุ่งหน้าไป’ เป็นข้อมูลที่มีคุณค่าในการรักษาความปลอดภัยของผู้คน” พล.อ. บี. ชานซ์ ซอลซ์แมน หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการอวกาศของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ กล่าวกับหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 แม้ว่าปัญญาประดิษฐ์จะสามารถให้ข้อมูลอย่างรวดเร็วเพื่อการตัดสินใจได้ แต่ในท้ายที่สุดมนุษย์ยังคงเป็นผู้ควบคุมระบบอยู่ พล.ร.ท. คูเปอร์กล่าว “เราสามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วในระดับที่ก่อนหน้านี้เราไม่อาจจินตนาการได้มาก่อน” พล.ร.ท. คูเปอร์กล่าว

ดาวเทียม 2 ใน 6 ดวงที่ปล่อยขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ติดตั้งเซ็นเซอร์อวกาศติดตามอาวุธความเร็วเหนือเสียงและขีปนาวุธทิ้งตัวรุ่นต้นแบบ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ผ่านทางสเปซเอ็กซ์

การสร้างและเสริมสร้างความร่วมมือ

ในโลกที่เผชิญกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงมากมาย สหรัฐฯ กำลังเสริมสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรและหุ้นส่วน และสร้างแนวร่วมใหม่ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการแบ่งปันข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์

“การนำศักยภาพเต็มรูปแบบของข้อมูล การวิเคราะห์ และปัญญาประดิษฐ์ มาใช้ให้เกิดผลอย่างเต็มที่นั้นไม่ใช่ความรับผิดชอบเฉพาะขององค์กรหรือโครงการใดเพียงแห่งเดียว” ตามที่ระบุในยุทธศาสตร์การนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้งานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ “แต่จำเป็นต้องอาศัยความพยายามร่วมกันจากทุกหน่วย ผู้นำทุกคน เจ้าหน้าที่กองกำลัง และหุ้นส่วนและพันธมิตรที่อยู่ทั่วทุกมุมโลก”

ในการทดลองล่าสุดที่ชื่อว่าโครงการคอนเวอร์เจนซ์ เจ้าหน้าที่จากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร ได้เข้าร่วมกับกองกำลังร่วมของสหรัฐฯ เพื่อรวบรวมข่าวกรองที่มีการแบ่งปันกัน และทำการตัดสินใจเลือกอาวุธที่ดีที่สุดเพื่อรับมือกับภัยคุกคาม การฝึกซ้อมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการบังคับบัญชาและควบคุมร่วมทุกขอบเขตแบบผสมผสาน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในการรวบรวมและตีความข้อมูลด้วยความเร็วที่ไม่เคยมีมาก่อน เป้าหมายคือการขจัดอุปสรรคทางโครงสร้างที่ขัดขวางกระแสข้อมูลและข้อเสนอแนะระหว่างหน่วยงานและชาติพันธมิตร ซึ่งอาจนำไปสู่การทำงานซ้ำซ้อนและการสูญเสียสินทรัพย์

การฝึกนี้จัดขึ้นเป็นเวลาสี่สัปดาห์ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม พ.ศ. 2567 โครงการคอนเวอร์เจนซ์มีผลลัพธ์ที่น่าประทับใจหลายประการ นั่นคือ เจ้าหน้าที่สามารถระบุเป้าหมายได้ในเวลาเพียงเสี้ยวเดียวของเวลาที่ใช้ตามปกติ บางครั้งอาจทำได้ภายในไม่กี่วินาที “ผมคิดว่าโครงการคอนเวอร์เจนซ์และการทำสงครามแบบจำลองของเราเป็นโอกาสอันดีในการทำให้แน่ใจว่าเราไม่ได้เพียงแค่แบ่งปันกับหุ้นส่วนของเรา แต่ได้เรียนรู้จริง ๆ” พล.อ. เจมส์ อี. เรนนีย์ ผู้บัญชาการกองบัญชาการด้านอนาคตของกองทัพบกสหรัฐฯ กล่าวในงานสัมมนาและนิทรรศการกองกำลังระดับโลกของสมาคมกองทัพบกสหรัฐอเมริกาที่จัดขึ้นในเมืองฮันต์สวิลล์ รัฐแอละแบมา เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 “แนวคิดที่ดีที่สุดบางอย่างเกิดขึ้นนอกประเทศสหรัฐอเมริกา … ผมคิดว่าเรามีหน้าที่รับผิดชอบทางศีลธรรมที่จะต้องเรียนรู้และสังเกตทุกสิ่งที่เราสามารถทำได้”

สหรัฐฯ ยังทำงานร่วมกับพันธมิตรในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกหลายรายเพื่อรับมือกับภัยคุกคามในระดับภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ช่วยญี่ปุ่นจัดหาเครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 ที่ผลิตในสหรัฐฯ เครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้าทางอากาศ อี-2ดี เครื่องบินเติมเชื้อเพลิง เคซี-46 ระบบอากาศยานไร้คนขับ โกลบอล ฮอว์ก และเครื่องบินใบพัดกระดก เวอร์ทิคัล 22 ของนาวิกโยธิน รวมถึงระบบขีปนาวุธอากาศสู่อากาศพิสัยปานกลางที่ก้าวหน้า แอร์ อินเตอร์เซป มิสไซล์ 120 ระบบขีปนาวุธต่อต้านเรือ ยูจีเอ็ม-84 ฮาร์พูน และระบบสกัดกั้นป้องกันขีปนาวุธทิ้งตัว เอสเอ็ม-3 บล็อก ไอไอเอ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้เพิ่มระบบป้องกันขีปนาวุธแพทริอ็อตที่ผลิตในสหรัฐฯ เข้าไปในยุทโธปกรณ์ที่ผลิตในประเทศของตน ใน พ.ศ. 2566 ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ยังได้ประกาศเปิดใช้งานกลไกการแบ่งปันข้อมูลแบบตามเวลาจริงเพื่อตรวจสอบการยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ และได้จัดทำแผนการฝึกทหารร่วมสามฝ่ายระยะเวลาหลายปีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและการประสานงาน

ฟิลิปปินส์ยังได้เพิ่มความร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วน รวมถึงสหรัฐฯ และเวียดนาม เพื่อตอบโต้การคุกคามอย่างต่อเนื่องของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนต่อเรือของกองทัพฟิลิปปินส์ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลฟิลิปปินส์ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 พล.อ. โรมิโอ บราวเนอร์ จูเนียร์ ผู้บัญชาการทหารบกฟิลิปปินส์ ได้ประกาศการยกระดับด่านทหารชั้นนอกในทะเลจีนใต้ของฟิลิปปินส์เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้น สหรัฐฯ ได้ลงนามในสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันกับฟิลิปปินส์มากว่า 70 ปีแล้ว และยังได้ให้คำมั่นในการสนับสนุน อีกทั้งจะมอบเงินช่วยเหลือจำนวน 4.07 พันล้านบาท (ประมาณ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปีให้กับกองกำลังของรัฐบาลฟิลิปปินส์ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์

“สหรัฐอเมริกาตรงกันข้ามกับจีนอย่างสิ้นเชิง เรามีพันธมิตรตามกฎหมายประมาณ 35 ประเทศ” นายแมก แครีย์ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของสถาบันเลกซิงตัน ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านนโยบายสาธารณะ กล่าวในงานสัมมนาของสมาคมกองทัพบกสหรัฐอเมริกา “จีนมีพันธมิตรเพียงหนึ่งเดียว และนั่นก็คือเกาหลีเหนือ ซึ่งมีลักษณะเหมือนรัฐลูกค้ามากกว่าจะเป็นพันธมิตร”

นิตยสารเซนทรีผลิตโดยกองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button