Uncategorized

สหภาพยุโรปเรียกร้องให้จีนยุติการข่มขู่ไต้หวัน และแสวงหาความร่วมมือมากขึ้นเพื่อเสริมสร้างภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

สหภาพยุโรปประณามการยั่วยุทางทหารของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีต่อไต้หวัน โดยระบุว่ากลวิธีที่ผิดกฎหมาย บีบบังคับ ก้าวร้าว และหลอกลวงนั้นเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและภูมิภาคอื่น ๆ

รัฐสภายุโรป สภานิติบัญญัติที่เป็นตัวแทนของ 27 ประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป ได้อนุมัติผลการลงมติในช่วงปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 เพื่อประณามการกลั่นแกล้งของจีนและการพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์และกฎหมายระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง มาตรการที่ได้รับการอนุมัติอย่างท่วมท้นนี้ได้ยืนยันถึงการปฏิเสธของยุโรปต่อความพยายามเพียงฝ่ายเดียวในการเปลี่ยนแปลงสถานภาพที่เป็นอยู่ในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญระดับโลก โดยเน้นย้ำว่ามติขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ใน พ.ศ. 2514 ยอมให้จีนเป็นตัวแทนที่ชอบธรรมในองค์การสหประชาชาติ แต่ไม่ได้แสดงจุดยืนใด ๆ เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของไต้หวัน

จีนยืนกรานอย่างผิด ๆ ว่ามติขององค์การสหประชาชาติสนับสนุนการกล่าวอ้างของตนต่อไต้หวัน ซึ่งเป็นเกาะที่ปกครองตนเองและถูกพรรคคอมมิวนิสต์จีนขู่ว่าจะใช้กำลังยึดครอง ในช่วงกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 กองทัพปลดปล่อยประชาชนของรัฐบาลจีนได้จัดการฝึกซ้อมรบทางทหารครั้งใหญ่โดยรอบไต้หวัน ซึ่งจำลองการโจมตีท่าเรือและการปิดล้อมทางทะเล การที่จีนส่งกำลังพลของกองกำลังรักษาชายฝั่งไปละเมิดน่านน้ำที่ไต้หวันควบคุมอยู่ ถือเป็น “สัญญาณที่ชัดเจนที่สุดถึงเจตนาของจีนที่จะทำลายสถานภาพที่เป็นอยู่” ตามที่ระบุในมติของสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ จีนยังอ้างถึงมติขององค์การสหประชาชาติในการพยายามลดความสำคัญของไต้หวัน โดยการขัดขวางการเข้าร่วมของไต้หวันกับองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น องค์การอนามัยโลก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และอนุสัญญาองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตัวอย่างเช่น ใน พ.ศ. 2565 จีนได้ขัดขวางไม่ให้ไต้หวันเข้าร่วมการประชุมประจำปีขององค์การอนามัยโลกในฐานะผู้สังเกตการณ์ จีนได้ใช้แผนการระดมทุน การจ้างงานเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติอย่างมีกลยุทธ์ และเทคนิคอื่น ๆ เพื่อขัดขวางไม่ให้ไต้หวันเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ ตามรายงาของเจอร์แมน มาร์แชล ฟันด์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในสหรัฐอเมริกา

มติของสหภาพยุโรประบุว่า “การกระทำเหล่านี้เน้นย้ำถึงความทะเยอทะยานของจีนในการเปลี่ยนแปลงระเบียบระหว่างประเทศแบบพหุภาคีที่มีอยู่ และบ่อนทำลายกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งสามารถมองได้ว่าเป็นการแสดงออกของการเผชิญหน้าทางระบบ”

มติของสหภาพยุโรปแสดงถึง “สัญญาณของความสามัคคีและความเข้าใจร่วมกันว่า เราไม่ต้องการให้สถานการณ์ทางการเมืองถูกตีความไปในทิศทางใดทางหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว” นายไมเคิล กาห์เลอร์ สมาชิกรัฐสภายุโรปจากเยอรมนี กล่าวระหว่างการเยือนไต้หวันหลังการลงมติ

มติขององค์การสหประชาชาติใน พ.ศ. 2514 ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่าการเป็นมลรัฐคือข้อกำหนดสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และไต้หวันควรใช้ประโยชน์จากโอกาสในการเข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศในฐานะผู้สังเกตการณ์หรือผู้เข้าร่วมการประชุม นายกาห์เลอร์กล่าว ตามรายงานของสำนักข่าวกลางไต้หวัน

“ไม่มีเหตุผลใดที่ทำให้จีนตีความมติขององค์การสหประชาชาติในลักษณะที่เป็นภัยต่อไต้หวัน นอกเสียจากความพยายามของจีนเอง” นายกาห์เลอร์กล่าว

มติของสหภาพยุโรปเรียกร้องให้จีนยุติการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ รวมถึงการโจมตีทางไซเบอร์และการบิดเบือนข้อมูลที่มุ่งเป้าไปยังไต้หวัน ทั้งยังชื่นชม “ความกล้าหาญ” ของประชาชนไต้หวัน และ “การตอบสนองอย่างเหมาะสมและมีศักดิ์ศรีของรัฐบาลและสถาบันต่าง ๆ ของไต้หวันต่อภัยคุกคามและกิจกรรมที่ทวีความรุนแรงจากจีน”

นอกจากนี้ยังแสดงความขอบคุณต่อบทบาทของไต้หวันในช่วงการระบาดของโควิด-19 ยอมรับความสำคัญของไต้หวันในการรักษาความมั่นคงให้กับห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งยังชื่นชมการฝึกซ้อมเสรีภาพในการเดินเรือที่เพิ่มขึ้นจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ และเรียกร้องให้เกิดความร่วมมือและการประสานงานกับพันธมิตรในภูมิภาคเพื่อรักษาภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button