ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดทรัพยากรส่วนรวมของโลกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานระบุว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและความน่าเชื่อถือในเมียนมาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

เมียนมาอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 และได้รับการจัดอันดับอยู่ในลำดับท้ายสุดของการประเมินเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตประจำปีจากทั้งหมด 72 ประเทศทั่วโลก โดยอยู่ในอันดับร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

การจัดอันดับของฟรีดอมเฮาส์ประเมินการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ข้อจำกัดด้านเนื้อหา และการละเมิดสิทธิของผู้ใช้ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งรวมกันแล้วคิดเป็นประมาณร้อยละ 87 ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก องค์กรนอกภาครัฐที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นี้มีบทบาทในการส่งเสริมประชาธิปไตยและเฝ้าติดตามเสรีภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ

นับตั้งแต่การยึดครองอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย “กองทัพเมียนมาได้ดำเนินการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างโหดร้ายทารุณ และได้จำคุกประชาชนหลายพันคนที่กระทำการตอบโต้ด้วยการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ ขณะเดียวกันก็ได้สร้างระบอบการเซ็นเซอร์และการเฝ้าระวังอย่างกว้างขวางเพื่อปราบปรามกิจกรรมของนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนและกลุ่มต่อต้านติดอาวุธ” ตามรายงานของฟรีดอมออนเดอะเน็ต ที่เผยแพร่ในช่วงกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 รัฐบาลทหารเมียนมาได้เพิ่มความรุนแรงในการปราบปรามทางดิจิทัลในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ด้วยการปิดกั้นเครือข่ายส่วนตัวเสมือนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้ใช้งานหลีกเลี่ยงการควบคุมอินเทอร์เน็ตได้

รัฐบาลทหารเมียนมาได้ใช้มาตรการกวาดล้างรุนแรงและโหดเหี้ยมต่อพลเรือนฝ่ายต่อต้านภายในประเทศ ภายหลังจากหลังการสู้รบอย่างดุเดือดยาวนานหลายเดือน กลุ่มผู้ต่อต้านซึ่งประกอบด้วยพลเรือนผู้สนับสนุนประชาธิปไตยและชนกลุ่มน้อยสามารถเอาชนะกองกำลังของรัฐบาลทหารได้ และเริ่มเข้ายึดครองพื้นที่ตามแนวชายแดน โดยเฉพาะในรัฐฉานที่ติดกับชายแดนเมียนมาและจีน กองทัพที่เคยมีภาพลักษณ์แข็งแกร่งไร้เทียมทานเริ่มสั่นคลอน และปัจจุบันจึงต้องหันไปพึ่งพาการโจมตีทางอากาศมากยิ่งขึ้น

ความขัดแย้งครั้งนี้ได้บั่นทอนการค้าชายแดนที่เคยมั่นคงระหว่างเมียนมากับจีน และยังคุกคามโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่จีนวางแผนเพื่อขยายอิทธิพลและเปิดเส้นทางสู่มหาสมุทรอินเดีย จีนไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจาเพื่อให้หยุดยิง

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 กลุ่มต่อต้านได้ปฏิเสธแผนสันติภาพที่รัฐบาลทหารเมียนมานำเสนอ ซึ่งถือเป็นข้อเสนอแรกนับตั้งแต่การรัฐประหาร ตามรายงานของบีบีซี ขณะที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติที่ถูกเนรเทศอยู่นั้นกล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวไม่มีคุณค่าพอที่จะพิจารณา

การประเมินของฟรีดอมเฮาส์ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษที่จีนไม่ได้เป็นเพียงประเทศเดียวที่อยู่ในฐานะผู้ละเมิดเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตที่แย่ที่สุดในโลก รัฐบาลจีนยังคงทำให้ระบบอินเทอร์เน็ตในประเทศเป็นเอกเทศ ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ต่างประเทศไปยังเว็บไซต์ภาครัฐบางแห่ง และปรับเงินผู้ที่ใช้เครือข่ายส่วนตัวเสมือนหรือวีพีเอ็น อีกทั้งยังปราบปรามความคิดเห็นต่าง โดยการเซ็นเซอร์การอภิปรายออนไลน์ที่ขัดต่อจุดยืนของรัฐบาล

ขณะที่พลเมืองจีนต้องเผชิญกับการเซ็นเซอร์ทางอินเทอร์เน็ตอย่างเป็นระบบมานานหลายทศวรรษ ประชาชนในเมียนมานั้นไม่คุ้นเคยกับการจำกัดทางอินเทอร์เน็ตที่เข้มงวดในระดับนี้ นายเคียน เวสไตน์สัน ผู้ร่วมเขียนรายงานกล่าว กลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ผู้นำการรัฐประหารใช้ประกอบไปด้วย การปิดกั้นเว็บไซต์ข่าวอิสระและการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต ตามรายงานของวอยซ์ออฟอเมริกา

อันดับใน พ.ศ. 2567 ของเมียนมาแตกต่างกันกับอันดับสูงสุดของตนเองใน พ.ศ. 2557 ที่ฟรีดอมเฮาส์จัดอันดับให้เป็น “เสรีภาพบางส่วน” หลังจากมีการยกเลิกการเซ็นเซอร์สื่อก่อนเผยแพร่ และความสามารถในการใช้งานซิมการ์ดโทรศัพท์มือที่ช่วยให้ผู้ใช้เชื่อมต่อกับเครือข่ายได้มากขึ้น ตามรายงานของนิตยสารเดอะ ดิโพลแมต อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและความเสถียรก็ลดลง

“ฉันรู้สึกเหมือนกำลังจะตายด้วยความเครียด” นายหลี่ เหมียนเจิน ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาในเมืองรุ่ยลี่ของจีนกล่าวกับบีบีซี “สงครามนี้นำความโชคร้ายมาให้เรามากมาย เรื่องนี้จะจบลงเมื่อไร?”

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติที่หลบหนีการจับกุมในช่วงรัฐประหาร ได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของรัฐบาลทหารที่ “จำกัดและปิดกั้นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน” ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติให้คำมั่นว่า “จะสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอิสระในพื้นที่ที่ปลอดจากการควบคุมของรัฐบาลทหารผู้ก่อการร้าย”

ฟรีดอมเฮาส์รายงานว่า ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตลดลงเป็นปีที่ 14 ติดต่อกัน มีหลายประเทศที่ทำการเลือกตั้งหรือวางแผนจะจัดการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2567 ซึ่งทำให้เกิดมาตรการที่ควบคุมที่เข้มงวด เช่น การปิดกั้นเว็บไซต์ การจำกัดการเข้าถึงแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ และการตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button