ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดความร่วมมือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มาเลเซียและเกาหลีใต้เสริมความสัมพันธ์ด้านอุตสาหกรรมกลาโหม

รอยเตอร์

มาเลเซียและเกาหลีใต้ตกลงที่จะร่วมมือกันในการจัดหาแร่ธาตุที่สำคัญจากแหล่งแร่สำรองของมาเลเซีย และเสริมสร้างความร่วมมือในอุตสาหกรรมกลาโหม ขณะที่มาเลเซียมุ่งพัฒนาเครื่องบินรบของกองทัพอากาศของตน

นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และนายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยืนยันความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศที่จะบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีภายใน พ.ศ. 2568 ตามแถลงการณ์จากสำนักงานของนายยุน

นายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ และนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ร่วมพูดคุยกันที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดยตกลงที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านกลาโหม การค้า และพลังงาน
วิดีโอจาก: เบอร์นามา/รอยเตอร์

รัฐบาลเกาหลีใต้เชิญชวนให้รัฐบาลมาเลเซียแสดงความสนใจอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมาเลเซียเริ่มโครงการเปลี่ยนเครื่องบินขับไล่น้ำหนักเบา ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากสัญญาใน พ.ศ. 2566 สำหรับการจัดหาเครื่องบินขับไล่ 18 ลำ มูลค่า 3.16 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 920 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามคำแถลงการณ์

ในแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมสุดยอดเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ที่กรุงโซล ผู้นำทั้งสองประเทศให้คำมั่นที่จะขยายขอบเขตความร่วมมือในหลากหลายด้าน เนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตของมาเลเซียและเกาหลีใต้

“ผมหวังว่าความร่วมมือทวิภาคีจะขยายไปไกลกว่าการค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้คน โดยขยายไปจนครอบคลุมถึงด้านกลาโหม อุตสาหกรรมอาวุธ และด้านใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ไฮโดรเจนสีเขียวและแร่ธาตุที่สำคัญ” นายยุนกล่าว ตามรายงานของสำนักข่าวยอนฮัป

นายอันวาร์ระบุถึงความร่วมมือในด้านใหม่ ๆ รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนความมั่นคงในภูมิภาค อุตสาหกรรมกลาโหม และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

นายอันวาร์และนายยุนเน้นย้ำว่าความร่วมมือในอุตสาหกรรมกลาโหมเป็น “สัญลักษณ์ของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน” ภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศ และตกลงที่จะผลักดันความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงเทคโนโลยีกลาโหม ตามแถลงการณ์จากสำนักงานของนายยุน

มาเลเซียและเกาหลีใต้ยังเห็นพ้องที่จะจัดตั้งรากฐานเชิงสถาบันเพื่อความร่วมมือในประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนที่ลงนามไปก่อนหน้านี้ ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวใน พ.ศ. 2572

ผู้นำของมาเลเซียและเกาหลีใต้ยังแสดงความกังวลต่อความร่วมมือทางทหารที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซีย พร้อมประณามการยิงขีปนาวุธทิ้งตัวของเกาหลีเหนือ

พวกเขาเรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีเหนืองดเว้นการกระทำการเชิงยั่วยุเพิ่มเติม ปฏิบัติตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และมุ่งมั่นต่อ “การปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์ ตรวจสอบได้ และไม่สามารถย้อนกลับคืนได้” ของเกาหลีเหนือ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button