ฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ลงนามในข้อตกลงแบ่งปันข่าวกรองทางการทหารเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการทำงานร่วมกันในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
รอยเตอร์
ฟิลิปปินส์และสหรัฐอเมริกาได้ลงนามในข้อตกลงแบ่งปันข่าวกรองทางการทหาร เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการกลาโหมระหว่างพันธมิตรที่เผชิญความท้าทายด้านความมั่นคงร่วมกันในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
นายกิลแบร์โต เตโอโดโร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ และนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ลงนามในข้อตกลงนี้เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ กองบัญชาการทหารของรัฐบาลฟิลิปปินส์ในกรุงมะนิลา ทั้งสองยังได้ร่วมทำพิธีวางศิลาฤกษ์ศูนย์ประสานงานร่วม เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกัน ข้อตกลงด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลทางการทหารทั่วไปช่วยให้ทั้งสองประเทศสามารถแบ่งปันข้อมูลทางการทหารที่เป็นความลับได้อย่างปลอดภัย
“ข้อตกลงนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้ฟิลิปปินส์สามารถเข้าถึงขีดความสามารถที่สูงขึ้นและยุทโธปกรณ์มูลค่าสูงจากสหรัฐอเมริกา แต่ยังเปิดโอกาสให้เราสามารถทำข้อตกลงในลักษณะเดียวกันกับประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันได้อีกด้วย” นายอาร์เซนิโอ อันโดลอง โฆษกกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ กล่าว
ความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากทั้งสองประเทศต้องการตอบโต้กิจกรรมที่ก้าวร้าวของสาธารณรัฐประชาชนจีนในทะเลจีนใต้และรอบ ๆ ไต้หวันที่ปกครองตนเอง
รัฐบาลฟิลิปปินส์และรัฐบาลสหรัฐฯ มีสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันที่ลงนามตั้งแต่ พ.ศ. 2494 ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้หากประเทศใดประเทศหนึ่งถูกโจมตี รวมถึงในพื้นที่ทะเลจีนใต้
“ผมขอเริ่มต้นด้วยการย้ำถึงความมุ่งมั่นที่แน่วแน่ของเราต่อฟิลิปปินส์” นายออสตินกล่าวระหว่างพิธีวางศิลาฤกษ์ศูนย์ประสานงาน ซึ่งนายออสตินระบุว่าจะช่วยให้แบ่งปันข้อมูลได้ตามเวลาจริง “และเป็นสถานที่ที่กองกำลังของเราสามารถทำงานร่วมกันเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายในภูมิภาคนี้ได้”
ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่เผชิญกับการรุกรานของจีนในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางเรือมูลค่ากว่า 103.71 ล้านล้านบาท (ประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปี จีนอ้างว่าพื้นที่เกือบทั้งหมดของน่านน้ำดังกล่าวเป็นดินแดนของตนเอง แม้จะมีคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศใน พ.ศ. 2559 ที่ระบุว่าการอ้างสิทธิ์ของรัฐบาลจีนเป็นไปโดยไม่มีมูลทางกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม จีนปฏิเสธคำตัดสินดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่การเผชิญหน้าทางทะเลและอากาศหลายครั้ง และทำให้ทะเลจีนใต้กลายเป็นจุดเสี่ยงที่อาจเกิดความขัดแย้งได้
“การเข้ามามีบทบาทของสหรัฐอเมริกา ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเป็นสิ่งสำคัญต่อการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคนี้” นายเตโอโดโรกล่าว