ความร่วมมือทรัพยากรส่วนรวมของโลก

บันทึกความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ สะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างประเทศในการกำกับดูแลเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

สหรัฐฯ ประกาศมาตรการเพื่อเสริมสร้างการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วในการบรรลุเป้าหมายด้านความมั่นคงแห่งชาติ โดยมุ่งเน้นการกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือ

บันทึกความมั่นคงแห่งชาติว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 ได้วางกรอบแนวทางสำหรับการใช้งานปัญญาประดิษฐ์อย่างเหมาะสม นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งฝ่ายบริหารให้จัดทำเอกสารฉบับนี้ เพื่อผลักดันให้สหรัฐฯ “ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการใช้ประโยชน์จากโอกาสและรับมือกับความเสี่ยงของปัญญาประดิษฐ์” กรอบแนวทางการกำกับดูแลและจัดการความเสี่ยงของปัญญาประดิษฐ์ในด้านความมั่นคงแห่งชาติเป็นเอกสารที่เพิ่มเติมจากบันทึกความมั่นคงแห่งชาติ

การเผยแพร่บันทึกและกรอบแนวทางดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ 61 ประเทศร่วมลงนามใน “แผนปฏิบัติการ” ระดับนานาชาติว่าด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในกองทัพอย่างมีความรับผิดชอบ ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 แผนงานดังกล่าวมุ่งเน้นการพัฒนาปฏิบัติการในเชิงรุก เช่น การใช้โดรนที่มีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งยูเครนใช้ในการป้องกันการรุกรานจากกองกำลังรัสเซีย ตามรายงานของรอยเตอร์ แผนงานฉบับนี้ครอบคลุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในอาวุธ ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ รวมถึงการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในปฏิบัติการทางไซเบอร์ สงครามอิเล็กทรอนิกส์ ปฏิบัติการทางข้อมูล และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์

สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดว่าด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในกองทัพอย่างมีความรับผิดชอบ แต่ไม่ได้ให้การสนับสนุนเอกสารที่ไม่มีผลผูกมัดฉบับนั้น

บันทึกความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2567 ยึดมั่นในความเชื่อที่ว่า ความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติและนโยบายต่างประเทศ ตามที่ระบุในรายงานของทำเนียบขาว ซึ่งเอกสารดังกล่าวเรียกร้องให้มี:

  • การรับรองให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำระดับโลกในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และมั่นคง การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นต้องมีการจัดเตรียมสารกึ่งตัวนำสำหรับการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ ยุทธศาสตร์การต่อต้านการจารกรรมที่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่เชื่อถือได้และปลอดภัย รวมถึงการสนับสนุนการวิจัยปัญญาประดิษฐ์จากมหาวิทยาลัย ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ
  • การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมทั้งคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและค่านิยมประชาธิปไตย คำแนะนำในกรอบแนวทางการดำเนินการตามบันทึกความมั่นคงแห่งชาติประกอบด้วยกลไกในการจัดการความเสี่ยงและประเมินระบบ รวมทั้งการรับรองความรับผิดชอบและความโปร่งใส
  • การส่งเสริมฉันทามติและการกำกับดูแลระหว่างประเทศเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ บันทึกความมั่นคงแห่งชาติได้กำหนดให้สหรัฐฯ ร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนของตนในการ “สร้างกรอบการกำกับดูแลที่มั่นคง รับผิดชอบ และเคารพสิทธิมนุษยชน เพื่อให้มั่นใจว่าเทคโนโลยีจะได้รับการพัฒนาและใช้งานอย่างสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมทั้งคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน” ตามรายงานของทำเนียบขาว

บันทึกความมั่นคงแห่งชาติได้ระบุถึงความรับผิดชอบในปฏิบัติการทางทหาร โดยเน้นย้ำว่าประเทศและผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ของการดำเนินการ ไม่ว่าจะมีบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ในกิจกรรมนั้นหรือไม่ ตามรายงานของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567

การบิดเบือนข้อมูลเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยการเพิ่มขึ้นของข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นด้วยปัญญาประดิษฐ์กำลังท้าทายความมั่นคงและเสถียรภาพของประเทศต่าง ตามรายงานของแรนด์ คอร์ปอเรชัน กลุ่มวิจัยที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะโมเดลภาษาขั้นสูง เช่น แชทจีพีที ของโอเพนเอไอ, เจมิไน ของกูเกิล และ ลาม่า 2 ของเมต้า ได้ขยายขอบเขตของกิจกรรมเหล่านี้ออกไปอย่างมาก

กลุ่มประเทศหุ้นส่วนควรตอบโต้การรณรงค์เกี่ยวกับข้อมูลที่บิดเบือนด้วยยุทธศาสตร์ที่มีความยืดหยุ่นและเชิงรุก โดยผสมผสานการเฝ้าระวัง การตอบสนองอย่างรวดเร็ว และความร่วมมือระหว่างประเทศ ตามรายงานของแรนด์ คอร์ปอเรชัน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button