ประเทืองปัญญาแผนก

นักวิทยาศาสตร์ไทยเพาะเลี้ยง ปะการังในห้องปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู แนวปะการังที่เสื่อมโทรม

เรื่องและภ“พโดยรอยเตอร์

ในคืนที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยดวงดาว นักชีววิทยาทางทะเลชาวไทย 4 คนว่ายน้ำในพื้นที่น้ำตื้นนอกเกาะแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกของประเทศ ขณะที่จุดสีชมพูหลายพันล้านจุดลอยขึ้นมาจากพื้นทะเล ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงปีละครั้ง

จุดเหล่านั้นคืออสุจิและไข่ที่ปะการังปล่อยออกมา นักวิทยาศาสตร์เก็บตัวอย่างให้ได้มากที่สุดเพื่อการเพาะพันธุ์ พร้อมกับพยายามปกป้องแนวปะการังอันกว้างใหญ่ของไทยจากความเสื่อมโทรมที่เกิดจากน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นและกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การท่องเที่ยว

การวิจัยของพวกเขาต้องใช้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ: ปะการังจะวางไข่เพียงปีละครั้ง และอาจต้องใช้เวลานานถึง 5 ปีในการเพาะเลี้ยงปะการังที่ยังเป็นตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ ก่อนที่ปะการังจะพร้อมกลับไปสู่พื้นทะเล “เราหวังว่าแนวปะการังที่เสื่อมโทรมจะฟื้นฟูและกลับคืนสู่ความงดงามเดิมได้อีกครั้ง” นันต์ธิกา กิจสม นักชีววิทยาทางทะเล กล่าวเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567

การสูญเสียแนวปะการังของไทยไม่เพียงเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วย เนื่องจากมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการประมงที่ต้องพึ่งพาแหล่งที่อยู่อาศัยของปะการังที่อุดมสมบูรณ์สำหรับประชากรปลา

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทยเริ่มโครงการเพาะเลี้ยงและฟื้นฟูปะการังเมื่อ พ.ศ. 2559 บนเกาะมันใน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของปะการังประมาณ 100 สายพันธุ์ ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวจำนวนมากที่เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2553 เกิดจากอุณหภูมิของน้ำที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อแนวปะการังของไทยถึงร้อยละ 90 ปะการังฟอกขาวเป็นภัยคุกคามต่อแนวปะการังเขตร้อนทั่วโลก ตามรายงานขององค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา

เจ้าหน้าที่ระบุว่า นับตั้งแต่ที่ไทยเริ่มดำเนินโครงการดังกล่าว ปะการังรอบเกาะมันในได้รับการฟื้นฟูแล้วไปมากกว่า 4,000 โคโลนี

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button