ทรัพยากรส่วนรวมของโลกเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ญี่ปุ่นมุ่งเน้นเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจและการปกป้องเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการป้องกันประเทศ

ทอม แอบกี

ท่ามกลางแรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ญี่ปุ่นกำลังปรับปรุงแนวทางด้านการป้องกันประเทศ โดยให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจและความเป็นอิสระทางเทคโนโลยี รัฐบาลญี่ปุ่นมุ่งปกป้องเทคโนโลยีสำคัญ ๆ รับประกันห่วงโซ่อุปทาน และป้องกันโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นจากการแทรกแซงของต่างชาติด้วยโครงการต่าง ๆ เช่น กฎหมายส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของญี่ปุ่น ที่ซึ่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้รับการยกให้เป็นศูนย์กลางในการป้องกันความเปราะบางที่อาจเกิดขึ้น และส่งเสริมความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับพันธมิตรที่ยาวนานอย่างสหรัฐฯ และหุ้นส่วนอื่น ๆ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

มี “จุดเปลี่ยนสำคัญ” หลายประการในหน้าประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของญี่ปุ่นที่ได้เร่งรัดให้เกิดพัฒนาการขึ้น ดร. สตีเฟน นากี ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยคริสเตียนนานาชาติในญี่ปุ่น กล่าวกับ ฟอรัม ดร. นากียกตัวอย่างเหตุการณ์ใน พ.ศ. 2553 เมื่อญี่ปุ่นตอบโต้การทำประมงที่ผิดกฎหมายของเรือจากสาธารณรัฐประชาชนจีนในเขตน่านน้ำของญี่ปุ่น รัฐบาลจีนได้ใช้มาตรการห้ามส่งออกแร่ธาตุสำคัญ ๆ ไปยังญี่ปุ่นอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเผยให้เห็นถึงจุดอ่อนในห่วงโซ่อุปทานของญี่ปุ่น เหตุการณ์ความวุ่นวายที่คล้ายกันนี้ยังเกิดขึ้นจากการอ้างสิทธิ์ทางดินแดนที่ไม่มีมูลความจริงของจีนเหนือหมู่เกาะเซ็งกะกุ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นผู้บริหารจัดการในทะเลจีนตะวันออก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดกว่านั้นคือการระบาดของโควิด-19 ซึ่งได้เผยให้เห็นถึงความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มใช้หลักการ “ความมั่นคงและความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ” เป็นแกนหลักในด้านการป้องกันประเทศ ดร. นากีกล่าว

การดำเนินการตามกฎหมายส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2565 มีเป้าหมายเพื่อรับประกันทรัพยากรและเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อด้านเศรษฐกิจและกลาโหมของญี่ปุ่น กฎหมายนี้ประกอบด้วยหลักการสี่ประการเพื่อปกป้องอธิปไตยของญี่ปุ่นจากการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การรับประกันวัสดุสำคัญ การปกป้องโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเทคโนโลยี และการปกป้องสิทธิบัตร

ความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหม และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว ด้วยการปรับนโยบายทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านกลาโหม กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมดูแลโครงการที่มุ่งกระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน และลดความเสี่ยงจากความขัดแย้งในภูมิภาคที่อาจเกิดขึ้น

ดร. นากีระบุว่า การที่รัฐบาลจีนมีความตั้งใจเพิ่มขึ้นในการใช้ “การบีบบังคับทางเศรษฐกิจและยุทธวิธีผสมอื่น ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านนโยบายต่างประเทศ” ทำให้กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมเริ่มพัฒนาเส้นทางการจัดหาวัสดุทางเลือกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และยุโรปกลาง ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะมีความสำคัญในกรณีที่เกิดความขัดแย้งจากภัยคุกคามของจีนที่จะผนวกไต้หวันที่ปกครองตนเอง หรือการที่จีนละเมิดดินแดนในทะเลจีนใต้ ซึ่งอาจขัดขวางเส้นทางการค้าอันมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและการค้าโลก

กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมยังได้พัฒนานโยบายเพื่อส่งเสริมการผลิตเทคโนโลยีและสินค้าสำคัญในประเทศ เช่น สารกึ่งตัวนำและระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อลดการพึ่งพาศูนย์การผลิตในต่างประเทศ กลยุทธ์นี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมกลาโหมแห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างฐานอุตสาหกรรมที่หลากหลายและยืดหยุ่น

กฎหมายส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจยังจัดทำกรอบการทำงานเพื่อปกป้องเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาของญี่ปุ่น รวมถึงการจำกัดการเปิดเผยสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อลดความเสี่ยงจากการขโมยเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนจากข้อกล่าวหาเรื่องการจารกรรมทางไซเบอร์ที่มุ่งไปยังรัฐบาลจีน

นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้มีการลงทุนในห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของญี่ปุ่น โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมได้จัดสรรงบประมาณกว่า 4.14 แสนล้านบาท (ประมาณ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อการวิจัย การพัฒนา และการผลิตในประเทศของวัสดุที่สำคัญ เช่น สารกึ่งตัวนำและแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูง กระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นรายงานเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 ว่ากำลังร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เพื่อรับประกันความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน โดยทีมงานทวิภาคีกำลังมุ่งเน้นที่การผลิตขีปนาวุธและการบำรุงรักษาอากาศยาน

ด้วยปริมาณการค้ากับจีนอย่างมีนัยสำคัญ ญี่ปุ่นจึงใช้แนวทางที่ละเอียดอ่อนและปฏิบัติได้จริง ซึ่งเรียกว่า “การลดความเสี่ยง” โดยมุ่งหลีกเลี่ยงการพึ่งพาจีนมากเกินไป ขณะเดียวกันก็รักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจควบคู่กับข้อกังวลด้านความมั่นคง ดร. นากีกล่าว

ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button