การโจมตี เป็นฝูง
พันธมิตรและหุ้นส่วนได้พัฒนาการใช้งานโดรนที่ควบคุมด้วยปัญญาประดิษฐ์
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาได้พัฒนายานพาหนะไร้คนขับเป็นครั้งแรกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยอังกฤษได้ทดสอบการยิงเป้าหมายทางอากาศซึ่งเป็นเครื่องบินบังคับวิทยุขนาดเล็กในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2460 ขณะที่สหรัฐอเมริกาได้ทดสอบ ยูเอส เคตเทอริง บั๊ก ซึ่งเป็นตอร์ปิโดทางอากาศครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2461 ตามรายงานของสถาบันพิพิธภัณฑ์สงครามจักรวรรดิในกรุงลอนดอน การทดสอบทั้งสองรายการนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในระหว่างการทดสอบ ทว่ากลับไม่ได้นำมาใช้งานจริงในช่วงสงคราม
กว่าหนึ่งศตวรรษต่อมา อากาศยานไร้คนขับหรือโดรนได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในการป้องปรามและการทำสงคราม โดยช่วยเสริมขีดความสามารถด้านข่าวกรอง การลาดตระเวน การเฝ้าระวัง การกำหนดเป้าหมาย และการบรรทุกสัมภาระให้กับสหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วน การพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทำให้จำเป็นต้องมุ่งเน้นที่การสร้างฝูงโดรนที่มีความว่องไวและสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างอิสระ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในการสู้รบและการป้องปราม
โดรนจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ผู้นำกองทัพกล่าว
“หากคุณต้องการขยายขอบเขตการป้องกันให้ครอบคลุมประเทศเกาะหรือประเทศต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ การขนส่งและการสนับสนุนอาจเป็นเรื่องท้าทาย แต่การขยายขอบเขตการป้องกันดังกล่าวอาจมีประโยชน์อย่างมาก” พ.อ. เชย์ เกย์ลส์ แห่งคณะผู้ให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงของกระทรวงกลาโหมยูเครน กล่าวที่การประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติการแปซิฟิกที่จัดขึ้นในรัฐฮาวายเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567
ตามการประมาณการของนิว อเมริกา ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ใน พ.ศ. 2563 ทั่วทั้งโลกมี 39 ประเทศที่มีโดรนทหารติดอาวุธ จำนวนประเทศที่มีโดรนทหารติดอาวุธกำลังเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากพันธมิตรและหุ้นส่วนต่างลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านกลาโหม
• ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ออสเตรเลียประกาศว่าจะใช้งบประมาณ 8.83 พันล้านบาท (ประมาณ 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อการผลิตโดรนทางทหาร
• อินเดียวางแผนซื้อโดรนติดอาวุธ 31 ลำจากสหรัฐฯ โดยมีมูลค่ารวมเกือบ 1.36 แสนล้านบาท (ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
• ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 เยอรมนีประกาศว่าจะจัดหาโดรนให้กับกองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์ หลังจากที่กองกำลังรักษาชายฝั่งของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น การใช้ปืนฉีดน้ำและเลเซอร์ทางทหารเพื่อคุกคามเรือของฟิลิปปินส์
• ไต้หวันจะจัดหาโดรนสองประเภทจากสหรัฐฯ ภายใน พ.ศ. 2569 และอีกสองประเภทภายใน พ.ศ. 2570 ภายใต้ ข้อตกลงที่มีมูลค่า 1.59 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 467 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
• ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการการพัฒนาด้านกลาโหมที่ประกาศในช่วงปลาย พ.ศ. 2565 ญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้มีการจัดหาโดรนระยะไกลและทรัพย์สินบนเรือสำหรับการข่าวกรอง การเฝ้าระวัง การลาดตระเวน และการกำหนดเป้าหมายสำหรับกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังอาจใช้โดรนเพื่อส่งเสบียงไปยังฐานทัพและหน่วยงานในพื้นที่ห่างไกลอีกด้วย
• มัลดีฟส์ได้จ่ายเงิน 1.26 พันล้านบาท (ประมาณ 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อซื้อโดรนเฝ้าระวังจากตุรกีในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 ซึ่งจะใช้สำหรับการลาดตระเวนในเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่ของประเทศเกาะแห่งนี้ ตามรายงานของเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ อัดฮาดู
“ผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์จากการเพิ่มจำนวนโดรนทางทหารในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกไม่สามารถประเมินค่าต่ำเกินไปได้” น.ท.
อมิลา ปราสังกา แห่งสถาบันการศึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยภายใต้การดูแลของกระทรวงกลาโหมศรีลังกา ได้เขียนบทความในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ซึ่งเผยแพร่โดยศูนย์ความมั่นคงทางทะเลระหว่างประเทศ “โดรนได้ปฏิวัติปฏิบัติการทางทะเลแบบดั้งเดิม โดยมอบขีดความสามารถใหม่ในการเฝ้าระวัง การลาดตระเวน และการโจมตีขั้นสูง ความสามารถของโดรนเหล่านี้ในการปฏิบัติการในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง การรวบรวมข่าวกรองตามเวลาจริง และการดำเนินโครงการที่ลดความเสี่ยงต่อชีวิตมนุษย์ ได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของความมั่นคงทางทะเลไปอย่างสิ้นเชิง”
เบื้องต้น กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ วางแผนใช้จ่าย 3.4 หมื่น
ล้านบาท (ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับโครงการ
เรพลิเคเตอร์ ซึ่งประกาศในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 โดยมีเป้าหมายในการนำระบบอัตโนมัติหลายพันระบบมาใช้อย่างรวดเร็วในหลายขอบเขตภายใน พ.ศ. 2568
“เห็นได้ชัดว่าระบบเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีต้นทุนที่ต่ำกว่าเท่านั้น แต่ยังสามารถผลิตได้ใกล้เคียงกับแนวปฏิบัติการอีกด้วย ระบบดังกล่าวสามารถนำมาใช้เพื่อสนับสนุนแนวทางในการบัญชาการภารกิจของเรา โดยส่งเสริมให้หน่วยรบระดับล่างสุดสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและประสบความสำเร็จในสนามรบได้” นางเคทลีน ฮิกส์ รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวในการประชุมของสมาคมอุตสาหกรรมกลาโหมแห่งชาติประจำ พ.ศ. 2566 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. “และยังสามารถทำหน้าที่เป็นระบบที่ทนทานและกระจายตัวได้ แม้ว่าความกว้างของแถบสัญญาณจะถูกจำกัด ขาดหาย เสื่อมสภาพ หรือถูกปฏิเสธ”
นางฮิกส์ได้กล่าวเสริมข้อความนั้นในระหว่างการไปเยือน
ซิลิคอนวัลเลย์ของรัฐแคลิฟอร์เนียว่า “เห็นได้ชัดว่าลักษณะของสงครามกำลังเปลี่ยนแปลงไป เรพลิเคเตอร์เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ใช้เพื่อให้แน่ใจว่าอเมริกาจะไม่เพียงแค่เป็นคู่แข่งหรือศัตรูทางยุทธศาสตร์ แต่จะเป็นผู้นำในการกำหนดทิศทางและรูปแบบของสงครามในอนาคต”
บทเรียนจากยูเครน
ลักษณะของสงครามที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นปรากฏชัดในจุดยืนของยูเครนตั้งแต่การรุกรานโดยมิชอบด้วยกฎหมายของรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 การรุกรานดังกล่าวได้ขยายวงกว้างไปถึงการโจมตีของกบฏฮูตีที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน โดยใช้โดรนเพื่อโจมตีเรือในทะเลแดง และในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 ผู้ก่อการร้ายฮามาสได้เริ่มโจมตีอิสราเอลด้วยการใช้โดรนเชิงพาณิชย์ที่มีวางจำหน่ายทั่วไปเพื่อบรรทุกวัตถุระเบิดไปโจมตีจุดเฝ้าระวัง
ยูเครนมีแนวคิดริเริ่มที่จะใช้งานโดรนที่ติดตั้งกล้องเพื่อถ่ายทอดวิดีโอแบบไร้สาย นายเคอร์รี ไรท์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของผู้บัญชาการคณะผู้ให้ความช่วยเหลือด้านความปลอดภัยของกระทรวงกลาโหมยูเครน กล่าวที่การประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติการแปซิฟิก โดรนเหล่านี้ถือเป็น “การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสงครามที่เราทุกคนรู้กัน”
โดรนวิดีโอขนาดกะทัดรัดที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายนี้ “มีบทบาทสำคัญสำหรับเรา เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้เปรียบเสมือนปืนใหญ่เคลื่อนที่ซึ่งสามารถทดแทนกระสุนปืนใหญ่ที่ขาดแคลนได้” ผู้ควบคุมโดรนชาวยูเครนกล่าวกับหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ “ซึ่งใช้งานในระยะเดียวกับปืนครก แต่มีความแม่นยำสูงกว่ามาก”
ยูเครนได้นำโดรนดังกล่าวมาใช้เป็นอาวุธนำวิถีเพื่อป้องปรามและก่อกวนสนามเพลาะและยานพาหนะของผู้รุกรานชาวรัสเซีย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการผสมผสานระหว่างโดรนราคาถูกและใช้แล้วทิ้งกับโดรนขั้นสูง นายไรท์กล่าวว่า การต่อสู้กับโดรนที่ออกแบบโดยอิหร่านและใช้โดยรัสเซียร่วมกับระบบขีปนาวุธจากพื้นดินสู่อากาศนั้น “มีประสิทธิภาพสูง” แต่ก็มีต้นทุนที่สูงเช่นกันเมื่อพิจารณาจากค่าใช้จ่ายต่อการยิงหนึ่งครั้ง
“เราได้ใช้ขีปนาวุธมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อจัดการกับโดรนเหล่านั้น” นายไรท์กล่าว จากมุมมองด้านกลาโหม การจับคู่ระหว่างขีดความสามารถที่มีความซับซ้อนสูงและมีราคาแพงกับขีดความสามารถที่ใช้แล้วทิ้งและมีต้นทุนต่ำกว่า อาจเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ “ในการเอาชนะสิ่งที่ศัตรูใช้กับเรา”
การจัดหายุทโธปกรณ์อาจใช้เวลานาน อย่างไรก็ตาม ยูเครนกำลังผลิตโดรนวิดีโอด้วยการพิมพ์ 3 มิติ และจากนั้น “นำโดรนเหล่านั้นมาจับคู่กับวัตถุระเบิดหรือกระสุนที่สหรัฐฯ มอบให้ และใช้ปัจจัยเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายไรท์กล่าว
นายโวโลดีมีร์ เซเลนสกีย์ ประธานาธิบดียูเครน กล่าวว่ายูเครนมีแผนที่จะผลิตโดรน 1 ล้านลำใน พ.ศ. 2567 และได้ประกาศจัดตั้งกองทัพที่เน้นการผลิตโดรนโดยเฉพาะในช่วงต้นปีเดียวกัน “นี่ไม่ใช่คำถามสำหรับอนาคต แต่จะต้องได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมโดยเร็วในอนาคตอันใกล้นี้” นายเซเลนสกีย์กล่าว
กองทัพต้องเร่งพัฒนาโดรนและเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อให้สามารถนำความก้าวหน้าเหล่านี้ไปใช้ในทางปฏิบัติได้ทันทีสำหรับนักรบ
นายดั๊ก เบ็ค ผู้อำนวยการหน่วยงานนวัตกรรมกลาโหมแห่งสหรัฐฯ กล่าวว่าความเร็วในการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ในการอภิปรายที่การประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติการแปซิฟิก นายเบ็คชี้ให้เห็นถึงความร่วมมือทางเทคโนโลยีสารสนเทศภายใต้ข้อตกลงอูกัส ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีการลงทุนเป็นระยะเวลา 10 ปี มูลค่า 9.52 ล้านล้านบาท (ประมาณ 2.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการวิจัย การพัฒนา และการผลิตสารกึ่งตัวนำภายใต้กฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2565 แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องพยายามให้มากกว่านี้และรวดเร็วกว่านี้ด้วย
“การสร้างอุตสาหกรรมใหม่แทบ … ทั้งหมดตั้งแต่ต้นพร้อมกับการสร้างเครือข่ายที่เกี่ยวข้องนั้นต้องใช้เวลาพอสมควร” นายเบ็คกล่าว “ซึ่งเราไม่มีเวลาที่ว่าแล้ว ดังนั้น เราต้องใช้ประโยชน์จากขีดความสามารถอันน่าทึ่งที่มีอยู่ในภาคส่วนเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์เพื่อเพิ่มความรวดเร็วและขีดความสามารถในการพัฒนา”
ฝูงโดรน
การใช้ฝูงโดรนที่ควบคุมโดยปัญญาประดิษฐ์จะเปลี่ยนแปลงสงครามไปอีกขั้น นักวิเคราะห์กล่าว “อนาคตของสงครามจะไม่ขึ้นอยู่กับระบบอาวุธที่เฉพาะเจาะจง แต่จะถูกกำหนดโดยการรวมกันของระบบอาวุธที่ทำงานร่วมกันเป็นระบบใหญ่ ซึ่งจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า และในปัจจุบันก็มีอยู่แล้ว” นายเอลเลียต แอคเคอร์แมน นักวิจัยอาวุโสที่วิทยาลัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแจ็คสันแห่งมหาวิทยาลัยเยล และ พล.ร.อ. เจมส์ สตาฟริดิส ทหารผู้เกษียณอายุ ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต เขียนเป็นเรียงความในหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเ
จอร์นัลเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 “สิ่งที่ยังขาดไปคือระบบที่ควบคุมด้วยปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะทำให้ประเทศสามารถทำสงครามไร้คนขับในระดับใหญ่ได้ แต่อยู่ระหว่างพัฒนาและจะมีในอนาคต”
โดรนนับสิบหรือนับร้อยลำในรูปแบบฝูงบินภายใต้การควบคุมของปัญญาประดิษฐ์สามารถทำลายแนวป้องกันได้อย่างรุนแรง ประเทศที่พึ่งพาระบบป้องกันขนาดใหญ่และมีราคาแพง เช่น เรือบรรทุกเครื่องบินหรือเครื่องบินล่องหน “อาจพบว่าตนตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีจากศัตรูที่ใช้อาวุธไร้คนบังคับหลากหลายประเภท ซึ่งมีราคาถูก สามารถกระจายตัวได้ง่าย และมีระยะไกล” นายแอคเคอร์แมนและนายสตาฟริดิสเขียน
ใน พ.ศ. 2565 รัสเซียได้ใช้ฝูงโดรนราคาถูกที่บรรทุกวัตถุระเบิดจำนวนมากในการโจมตีเป้าหมายในยูเครน
โลกได้เห็นตัวอย่างของความเปราะบางของโครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือนจากเหตุการณ์โจมตีด้วยโดรนในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 เมื่อสนามบินลอนดอนแกตวิค ซึ่งเป็นสนามบินที่พลุกพล่านเป็นอันดับสองของสหราชอาณาจักร ต้องปิดทำการเป็นเวลา 30 ชั่วโมงหลังจากที่พบเห็นโดรนกว่า 100 ลำในบริเวณใกล้เคียง เที่ยวบินราว 1,000 เที่ยวบินถูกยกเลิกหรือเปลี่ยนเส้นทาง ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารประมาณ 140,000 คน
แม้ว่าจะไม่มีการตั้งข้อหาใครในกรณีที่ถูกเรียกว่าการโจมตีที่ตั้งใจและซับซ้อนก็ตาม แต่สหราชอาณาจักรได้ขยายพื้นที่ห้ามบินรอบสนามบินจาก 1 กิโลเมตรเป็น 5 กิโลเมตร
กองทัพสหรัฐฯ ใช้เทคโนโลยีฝูงโดรนมาแล้วกว่า 20 ปี ซึ่งเป็นช่วงแรกของปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน กองกำลังปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐฯ ได้ใช้กลยุทธ์การโจมตีด้วยฝูงโดรนที่แต่ละลำควบคุมโดยผู้ปฏิบัติการรายบุคคล เพื่อโจมตีเป้าหมายแบบประสานงานกัน ตามรายงานของแรนด์ คอร์ปอเรชัน ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567
สหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนยังคงพัฒนาเทคโนโลยีฝูงบินอย่างต่อเนื่อง ใน พ.ศ. 2565 สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้สาธิตการบินของฝูงโดรนมากกว่า 150 ลำที่ควบคุมโดยผู้ปฏิบัติการเพียงคนเดียว และคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ฝูงโดรนที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์อาจสามารถควบคุมโดรนได้ถึง 1,000 ลำ ตามรายงานของแรนด์ คอร์ปอเรชัน เป้าหมายหลักคือการใช้โดรนจำนวนมากพอสมควรเพื่อเอาชนะระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศของศัตรู ในสหรัฐฯ ตามที่แสดงให้เห็นในโครงการเรพลิเคเตอร์ กระทรวงกลาโหมกำลังเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาจากการเน้นระบบไร้คนขับที่ซับซ้อนและมีราคาแพงไปสู่การใช้โดรนที่สามารถใช้งานเป็นฝูงและมีราคาถูก ซึ่งสามารถใช้แล้วทิ้งได้ เช่น กองทัพสหรัฐฯ กำลังประเมินขีดความสามารถของระบบโดรนขนาดกลางที่โจมตีแบบฝูง เพื่อแจ้งเตือนผู้ปฏิบัติงานซึ่งเป็นมนุษย์เกี่ยวกับภัยคุกคามที่มีความสำคัญสูง
นอกจากนี้ สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมยังพัฒนาระบบเพื่อบูรณาการขีปนาวุธทางอากาศระยะกลางเข้ากับโดรนที่จะปล่อยจากเครื่องบิน โดรนลองช็อตจะช่วยเพิ่มระยะการโจมตีของขีปนาวุธที่ใช้โจมตีทรัพย์สินของศัตรู โดรนรุ่นใหม่ของกองทัพเรือสหรัฐฯ อย่าง เอ็มคิว-4ซี ไทรทัน ขึ้นบินครั้งแรกในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 เพื่อทำหน้าที่ด้านข่าวกรอง การเฝ้าระวัง และการลาดตระเวนให้กับกองเรือที่ 7 ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ตามรายงานของนิตยสารเนชันแนลดีเฟนส์
เลเซอร์และคลื่นไมโครเวฟ
นอกจากนี้ กองกำลังป้องกันยังต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการโจมตีของโดรนด้วย ตามที่ระบุในโครงการพัฒนาด้านกลาโหม พ.ศ. 2565 ของรัฐบาลญี่ปุ่น “กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นจะเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการรับมือกับอากาศยานขนาดเล็กที่ไร้คนขับและภัยคุกคามอื่น ๆ ด้วยวิธีการที่ไม่ใช้แรงทางกายภาพ เช่น การผสมผสานอาวุธพลังงานควบคุมทิศทาง เช่น เลเซอร์พลังสูงและคลื่นไมโครเวฟพลังสูง”
ระบบเลเซอร์พลังสูงเอาชนะโดรนและขีปนาวุธได้ด้วยการปล่อยลำแสงพลังงานแคบเพื่อสกัดกั้นภัยคุกคามที่เข้ามา คลื่นไมโครเวฟพลังสูงจะสร้างกรวยของการแทรกแซงทางแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อทำให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของเป้าหมายไม่สามารถทำงานได้ พล.อ. ไมเคิล คูริลลา จากกองทัพบกและผู้บัญชาการกองบัญชาการกลางสหรัฐฯ แนะนำต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 ว่าควรลงทุนในอาวุธทั้งสองประเภทเพื่อเสริมการป้องกันหลายชั้นจากการโจมตีด้วยฝูงโดรน
ตามรายงานของสำนักงานวิจัยแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ทั้งสองระบบมีคุณลักษณะเด่นที่แข็งแกร่ง แต่ก็มีข้อจำกัดบางประการด้วยเช่นกัน ข้อได้เปรียบที่เป็นไปได้ ได้แก่ แม็กกาซีนที่สามารถบรรจุกระสุนได้จำนวนมาก ต้นทุนต่อนัดต่ำ เวลาในการตอบสนองรวดเร็ว และการตอบสนองที่ปรับระดับได้ตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ เลเซอร์ยังมีคุณสมบัติในการต่อต้านขีปนาวุธที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง และยังสามารถทำงานในด้านอื่น ๆ ได้ เช่น การติดตามเป้าหมายและการรบกวนเซ็นเซอร์ในระบบแสงไฟฟ้า ข้อเสียเปรียบที่เป็นไปได้ ได้แก่ ข้อจำกัดในขอบเขตการมองเห็น การเผชิญกับสภาพบรรยากาศที่ไม่เอื้ออำนวยและความวุ่นวาย รวมถึงการเผชิญกับเป้าหมายที่ได้รับการป้องกันหรือวัสดุที่มีการสะท้อนแสงสูง
ข้อได้เปรียบที่เป็นไปได้ของอาวุธไมโครเวฟ ได้แก่ การสามารถสร้างคลื่นที่มีความถี่และระดับพลังงานที่แตกต่างกันเพื่อขัดขวางระบบเป้าหมาย โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบอื่น ๆ อาวุธเหล่านี้ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ทำลายระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้หลากหลายประเภท ใช้งานได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต รวมถึงยังช่วยจำกัดความเสียหายเพิ่มเติมที่อาจเกิดขึ้น
โดยมีข้อเสียเปรียบ ได้แก่ ข้อจำกัดในเรื่องระยะ เนื่องจากอาวุธไมโครเวฟไม่สามารถมุ่งเป้าไปยังเป้าหมายได้อย่างแม่นยำเหมือนกับเลเซอร์ อีกทั้งอาวุธเหล่านี้ยังอาจสร้างความเสียหายต่อระบบที่เป็นมิตรและมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเผชิญกับมาตรการป้องกัน เช่น ระบบที่สามารถดูดซับรังสีแม่เหล็กไฟฟ้า
กองทหารได้อธิบายแก่เดอะนิวยอร์กไทมส์ว่า การต่อสู้ในยูเครนเป็นการผลัดกันรุกผลัดกันรับ โดยฝ่ายหนึ่งอาจได้เปรียบในด้านเทคโนโลยี แต่ความได้เปรียบนั้นมักจะไม่ยืนยาว เนื่องจากอีกฝ่ายมักตามทันอย่างรวดเร็ว
นายวิกรัม มิตทัล รองศาสตราจารย์จากแผนกวิศวกรรมระบบที่สถาบันการทหารสหรัฐฯ ได้อธิบายถึงพลวัตของการทำสงครามด้วยโดรน “เทคโนโลยีต่อต้านโดรนถือเป็นความท้าทายอย่างแท้จริง ตลาดโดรนเชิงพาณิชย์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่เทคโนโลยีต่อต้านโดรนมักตามไม่ทัน นายมิตทัลได้เขียนไว้ในบทความเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 ในนิตยสารฟอร์บส์ว่า “เมื่อพัฒนาขีดความสามารถใหม่ ๆ โดรนเหล่านี้ก็สามารถนำไปใช้ในภารกิจที่ระบบต่อต้านโดรนยังไม่สามารถรับมือได้”
หุ้นส่วนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกกำลังเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้ เช่น กองทัพบกสหรัฐฯ กำลังทดลองใช้ต้นแบบของระบบป้องกันภัยทางอากาศพลังงานควบคุมระยะสั้น โดยติดตั้งอาวุธเลเซอร์ขนาด 50 กิโลวัตต์ไว้ในยานบรรทุกทหารราบ
ออสเตรเลียกำลังจัดซื้อเลเซอร์แบบพกพาที่ออกแบบมา
เพื่อยิงทำลายโดรนศัตรูที่เป็นภัยอันตราย บริษัทเอไอเอ็ม ดีเฟนซ์ ซึ่งเป็นผู้รับเหมากล่าวว่า เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถเผาไหม้เหล็ก และยังสามารถติดตามและยิงโดรนที่บินด้วยความเร็ว
100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ ตามรายงานจากออสเตรเลียน บรอด
แคสติง คอร์ปอเรชัน
ไต้หวันที่ปกครองตนเองและกำลังเผชิญกับการบีบบังคับและยุทธวิธีพื้นที่สีเทาจากจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น ได้เตรียมทดสอบต้นแบบอาวุธเลเซอร์ขนาด 50 กิโลวัตต์ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไทเปไทมส์ใน พ.ศ. 2567 ระบบดังกล่าวจะติดตั้งไว้บนยานหุ้มเกราะเพื่อใช้ต่อต้านขีปนาวุธและโดรน
“เราต้องทำให้ผู้นำจีนตระหนักถึงความเสี่ยงของการรุกรานในทุก ๆ วัน โดยสื่อสารให้เขาเข้าใจว่า “วันนี้ยังไม่ใช่วันของการรุกราน” และไม่ใช่เพียงแค่วันนี้ แต่จะไม่มีวันไหนเลย” นางฮิกส์ รองเลขาธิการกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา กล่าวในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 “นวัตกรรมมีบทบาทสำคัญต่อวิธีการดำเนินงานของเรา”