ความร่วมมือทรัพยากรส่วนรวมของโลกเรื่องเด่น

การสร้าง ความ ได้เปรียบ

พันธมิตรและหุ้นส่วนกำลังบูรณาการปัญญาประดิษฐ์ มาใช้ในพื้นที่การสู้รบ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ยานยนต์ไร้คนขับเคลื่อนที่ไปสู่พื้นที่ฝึกซ้อมขนาด 2,000 ตารางกิโลเมตรในภูมิประเทศที่ทุรกันดารของ
คัลทานาในออสเตรเลียใต้ โดยได้จำลองการยิงระยะไกลอย่างแม่นยำและภารกิจอื่น ๆ ในขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ด้านกลาโหมกำลังพยายามขัดขวางรถจี๊ปและรถบรรทุกไร้คนขับด้วยการใช้สงครามอิเล็กทรอนิกส์และการโจมตีด้วยเลเซอร์อิเล็กโทรออปติก เพื่อรบกวนระบบระบุตำแหน่ง ระบบนำทาง และระบบจับเวลา

ในช่วงปลาย พ.ศ. 2566 ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีจากออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาประเมินความยืดหยุ่นของปัญญาประดิษฐ์ในปฏิบัติการยานยนต์หุ่นยนต์ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันที่น่าเชื่อถือ โครงการริเริ่มด้านขีดความสามารถนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือด้านความมั่นคงของพันธมิตร อูกัส “ปฏิบัติการยานยนต์หุ่นยนต์ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันที่น่าเชื่อถือทดสอบความสามารถของยานพาหนะอิสระในการดำเนินภารกิจให้สำเร็จและรักษาการเชื่อมโยงเครือข่ายในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความท้าทาย” โฆษกกระทรวงกลาโหมออสเตรเลียกล่าวกับ ฟอรัม “ปฏิบัติการดังกล่าวช่วยให้เราก้าวไปอีกขั้นในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในขอบเขตภาคพื้นดิน”

ขีดความสามารถที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องจักร กำลังเปลี่ยนแปลงความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ การแข่งขัน และความขัดแย้งในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและภูมิภาคอื่น ๆ ตามที่ผู้บัญชาการทหารและนักวิเคราะห์ทางกลาโหมได้กล่าวไว้ ตั้งแต่การปกป้องการขนส่งทั่วโลกจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธ ไปจนถึงการเสริมสร้างการจำลองสงครามและการสร้างแบบจำลองสถานการณ์ รวมถึงการใช้โมเดลภาษาใหญ่ เช่น แชตจีพีที ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากข่าวกรองดิบ ระบบปัญญาประดิษฐ์ช่วยเร่งกระบวนการตัดสินใจ ทำให้กองทัพสามารถแสดงพลังได้อย่างมีประสิทธิภาพในขณะเดียวกันก็ลดความเสี่ยงต่อทหารและผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบ

“เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์และระบบไร้คนขับได้เปลี่ยนแปลงวิธีการที่กองทัพจัดเตรียมการรักษาความปลอดภัยและพยายามยับยั้งสงคราม … และในที่สุดก็สามารถตัดสินใจได้ว่าฝ่ายใดจะมีชัยในช่วงเวลาแห่งการทำสงคราม” พล.ร.ท. แบรด คูเปอร์ รองผู้บัญชาการกองบัญชาการกลางสหรัฐฯ กล่าวในคำปราศรัยที่การประชุม “ปัญญาประดิษฐ์ในยุคแห่งการแข่งขันด้านยุทธศาสตร์” “ที่กองบัญชาการกลางสหรัฐฯ เราสามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ในขอบเขตทางทะเลในการตรวจจับรูปแบบเพื่อระบุภัยคุกคามในอัตราที่รวดเร็วขึ้น เราต้องการก้าวนำหน้าการกระทำที่ชั่วร้าย และปัญญาประดิษฐ์ … ได้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง”

ในการต่อต้านการโจมตีเรือพาณิชย์โดยกบฏฮูตีในเยเมนที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน กองบัญชาการกลางสหรัฐฯ ใช้ประโยชน์จาก “การรวมตัวกันของเซ็นเซอร์ ผู้คน การฝึกอบรม และปัญญาประดิษฐ์” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจ พล.ร.ท.
คูเปอร์ระบุ เวลาเป็นสิ่งสำคัญ: ซึ่งขีปนาวุธต่อต้านเรือเดินทางด้วยความเร็ว 5 เท่าของเสียง หรือประมาณ 6,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารในตะวันออกกลางมีเวลาเพียง 10 วินาทีในการระบุเป้าหมายและกำหนดว่าจะยิงหรือไม่

“ทุกสิ่งที่เราทำล้วนมีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง” พล.ร.ท. คูเปอร์บอกกับผู้เข้าร่วมซึ่งประกอบด้วยผู้นำทางทหาร เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตัวแทนภาคอุตสาหกรรม และนักวิชาการในการประชุมเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 ที่จัดขึ้นโดยสถาบันความมั่นคงระดับโลกและระดับชาติที่มหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริด้าในเมืองแทมปา “ท้ายที่สุดแล้ว มนุษย์จะเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งเป็นกระบวนการตัดสินใจที่เปิดใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านปัญญาประดิษฐ์ … เราสามารถรุกคืบด้วยความเร็วที่ไม่เคยจินตนาการมาก่อน”

พาหนะไร้คนขับอเนกประสงค์ ไวกิ้ง ของสหราชอาณาจักรได้ปฏิบัติการในระหว่างการทดลองปฏิบัติการยานยนต์หุ่นยนต์ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันของหุ้นส่วนอูกัส ในออสเตรเลียใต้เมื่อช่วงปลาย พ.ศ. 2566 กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย

การทำสงครามอย่างชาญฉลาด

พันธมิตรและหุ้นส่วนที่มีความร่วมมือกันมากขึ้นได้ตรวจสอบการ
บูรณาการของปัญญาประดิษฐ์ในมิติการต่อสู้ในสงครามสำหรับการทำงานด้านต่าง ๆ เช่น การวิเคราะห์ การเฝ้าระวัง และการลาดตระเวน ระบบป้องกันทางไซเบอร์และขีปนาวุธ และการขนส่ง ในระหว่างการฝึกฟอร์จิงเซเบอร์ พ.ศ. 2566 ของกองทัพสิงคโปร์ วิศวกรร่วมกับหน่วยงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านกลาโหมของสิงคโปร์ ได้ตรวจสอบการนำปัญญาประดิษฐ์ การวิเคราะห์ข้อมูล และหุ่นยนต์มาใช้ในการปรับยุทธวิธีและวัตถุประสงค์ตามข้อเสนอแนะในเวลาจริง ทหารอากาศ ทหารบก และบุคลากรอื่น ๆ กว่า 1,000 คนเข้าร่วมการฝึกซ้อมที่จัดขึ้นโดยฐานทัพอากาศของสหรัฐฯ ในรัฐไอดาโฮ ซึ่งทำให้กองทัพสิงคโปร์สามารถเข้าถึงพื้นที่ทางอากาศที่มีขนาดประมาณ 20 เท่าของพื้นที่ 720 ตารางกิโลเมตรของสิงคโปร์

“การผสานรวมเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างไร้รอยต่อ” ช่วยให้กองทัพสิงคโปร์ “มองเห็นได้ไกลขึ้น ตรวจจับได้เร็วขึ้น และโจมตีได้อย่างชาญฉลาดยิ่งขึ้น” กระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ระบุ เช่น ระบบข้อมูลการบังคับบัญชาและควบคุมของกองทัพสิงคโปร์ใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์และอัลกอริทึมการจับคู่เป้าหมายกับอาวุธเพื่อ “สร้างวิธีแก้ปัญหาการสู้รบและช่วยให้ผู้บังคับบัญชาตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำในการกำจัดภัยคุกคาม … ลดความเสี่ยงของความเสียหายข้างเคียงและเพิ่มประสิทธิภาพของภารกิจโจมตี” กระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ระบุ การปรับปรุงระบบข้อมูลการบังคับบัญชาและควบคุมของกองทัพสิงคโปร์ล่าสุดรวมถึงโมดูลสภาพอากาศที่ใช้ในการคำนวณสภาพอุตุนิยมวิทยาในการดำเนินการที่แนะนำ โมดูลน่านฟ้า 3 มิติที่ช่วยระบุความขัดแย้งของเส้นทางการบินที่อาจเกิดขึ้นระหว่างสินทรัพย์ต่าง ๆ โมดูลเขตอันตรายของอาวุธ 3 มิติเพื่อเพิ่มความตระหนักในสถานการณ์ของเส้นทางอาวุธโจมตี และอัลกอริทึมที่สามารถตรวจจับและจำแนกวัตถุจากฟีดวิดีโอของโดรน

นอกจากนี้ หน่วยดิจิทัลและข่าวกรองของกองทัพสิงคโปร์ยังใช้การวิเคราะห์การตรวจจับเพื่อระบุภัยคุกคามทางไซเบอร์ ในขณะที่กองการแพทย์ของกองทัพสิงคโปร์ได้พัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์เพื่อระบุสาเหตุของการบาดเจ็บทางกล้ามเนื้อและกระดูกในกองกำลัง “เทคโนโลยียังคงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญและเป็นแรงสนับสนุนกำลังรบให้กับกองทัพสิงคโปร์ในการต่อสู้อย่าง ‘ชาญฉลาด’ ในฐานะกองกำลังต่อสู้ที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงและก้าวหน้าทางเทคโนโลยี” กระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ระบุ

ในขณะเดียวกัน กองทัพบกอินเดียได้ใช้โดรนที่พัฒนาในประเทศและโดรนที่เปิดใช้งานด้วยปัญญาประดิษฐ์จำนวนมากเพื่อดำเนินภารกิจโจมตีจำลองและสนับสนุนงานใน พ.ศ. 2564 หนึ่งปีต่อมา กระทรวงกลาโหมอินเดียได้เปิดตัวโครงการปัญญาประดิษฐ์ที่สำคัญ 75 โครงการ โดยเน้นที่ขีดความสามารถต่าง ๆ เช่น เครื่องตรวจจับข่าวปลอม ระบบคำสั่งที่เปิดใช้งานด้วยเสียง การตรวจสอบความเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่ การวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม และการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์สำหรับระบบอาวุธและอุปกรณ์ เทคโนโลยีดังกล่าวจะปฏิวัติกองกำลังของชาติ โดยการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในระบบอาวุธ ข่าวกรอง การเฝ้าระวังและสอดแนม และการจัดการข้อมูล “ซึ่งสามารถเป็นสินทรัพย์มีค่ามากในการหยุดยั้งการก่อการร้าย ติดตั้งมาตรการต่อต้านการก่อการร้าย และปกป้องทหาร” กระทรวงกลาโหมกล่าว “ในความเป็นจริง ปัญญาประดิษฐ์ในด้านกลาโหมสามารถเปลี่ยนแปลงการรบและความขัดแย้งในระดับที่ลึกซึ้งที่สุดได้”

นักวางแผนจากออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ใช้โต๊ะทรายเพื่อวางแผนการทดสอบยานพาหนะอัตโนมัติที่ใช้งานปัญญาประดิษฐ์ระหว่างการทดลองปฏิบัติการยานยนต์หุ่นยนต์ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขัน กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย

ประโยชน์ของปัญญาประดิษฐ์นั้นมีมากกว่าเพียงแค่ในสนามรบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่กว้างใหญ่อย่างอินโดแปซิฟิก ภายใต้โครงการสตอร์มเบรกเกอร์ กองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิกกำลังพัฒนาเครื่องมือดิจิทัลที่มี “ขีดความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพข้อมูลขั้นสูง การเรียนรู้ของเครื่องจักร และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสนับสนุนการวางแผน การจำลองสงคราม และการวิเคราะห์ภารกิจ” พล.ร.อ. จอห์น อาควิลิโน ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกในตอนนั้น ได้ให้การต่อสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567

“สิ่งที่ทหารส่วนใหญ่ทำจริง ๆ ไม่ได้อยู่ที่แนวหน้าของการสู้รบ”
พอล สชาร์ รองประธานบริหารของศูนย์เพื่อความมั่นคงอเมริกันใหม่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวกับองค์กรข่าวพีบีเอสในช่วงกลาง พ.ศ. 2566 “นี่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ บุคลากร การบำรุงรักษา การย้ายผู้คนและสิ่งของจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งในแต่ละวัน … ดังนั้น ปัญญาประดิษฐ์จึงมีข้อได้เปรียบในหน้าที่อื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบ ซึ่งมีความสำคัญต่อการปฏิบัติการทางทหาร และถ้ากองทัพสามารถปรับปรุงการบำรุงรักษา
โลจิสติกส์ และหน้าที่ทางการเงินและบุคลากรได้ดีขึ้นแม้จะเพียงแค่ร้อยละ 10 ท้ายที่สุดแล้ว นั่นก็จะมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อความสามารถของกองทัพในการรักษาความได้เปรียบทางทหารในสนามรบ”

ข้อได้เปรียบเหล่านี้เห็นได้ชัดในความสามารถในการจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลที่กำหนดลักษณะของสงครามในศตวรรษที่ 21 “ข้อมูลที่มากเกินไปก็อาจเหมือนกับไม่มีข้อมูลเลย หากคุณไม่สามารถกรองข้อมูลออกมาได้ในกรอบเวลาที่เหมาะสม” นายชุยเลอร์ มัวร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของกองบัญชาการกลางสหรัฐฯ กล่าว “ปัญญาประดิษฐ์มีความโดดเด่นในด้านการกรองข้อมูลจำนวนมหาศาลและการแสดงชิ้นงานที่อาจเป็นที่สนใจเป็นพิเศษ จากนั้นมนุษย์จึงสามารถตัดสินใจได้ว่าจะทำอย่างไรกับชิ้นงานดังกล่าว”

จริยธรรมและความรับผิดชอบ

ขณะที่พันธมิตรในอินโดแปซิฟิกเร่งการพัฒนาและการนำขีดความสามารถขั้นสูงมาใช้ พวกเขายังเตือนด้วยว่า รัฐบาลเผด็จการในเกาหลีเหนือ สาธารณรัฐประชาชนจีน และรัสเซีย กำลังใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อบ่อนทำลายบรรทัดฐานระหว่างประเทศและทำลายเสถียรภาพของประชากรทั่วโลก “เราสังเกตเห็นว่าจีนใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อเพิ่มความสามารถในการโจมตีทางไซเบอร์ สนับสนุนการจารกรรมทางเศรษฐกิจ และช่วยพัฒนาในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าสงครามทำลายระบบ” เพื่อปิดใช้งานเครือข่ายและดาวเทียม พล.อ. ไบรอัน
เฟนตัน ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการปฏิบัติการพิเศษสหรัฐฯ กล่าวในที่ประชุมสถาบันความมั่นคงระดับโลกและระดับชาติ

กองทัพรัสเซียใช้เครื่องมือที่ใช้งานปัญญาประดิษฐ์ เช่น แบบจำลองภาษาขนาดใหญ่ “เพื่อทำการลาดตระเวนสืบความสามารถของดาวเทียม เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการในขอบเขตไซเบอร์และอวกาศของตน” พล.อ. เฟนตันกล่าว “นอกจากนี้ เรายังได้เห็นว่าเกาหลีเหนือและอิหร่านใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยในการโจมตีทางไซเบอร์และโจรกรรมสกุลเงินดิจิทัล ปฏิบัติการเหล่านี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับแนวทางทางจริยธรรมหรือสิ่งที่เป็นรากฐานมาจากค่านิยมทางประชาธิปไตย”

เจ้าหน้าที่กองทัพสิงคโปร์ใช้ระบบข้อมูลการบังคับบัญชาและควบคุม ซึ่งใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์และอัลกอริทึมการจับคู่เป้าหมายกับอาวุธ ระหว่างการฝึกฟอร์จิงเซเบอร์ พ.ศ. 2566 กระทรวงกลาโหมสิงคโปร์

ในทางตรงกันข้าม หลักการเหล่านี้เป็นแนวทางในการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในหมู่พันธมิตรและหุ้นส่วนอินโดแปซิฟิก โฆษกของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลียกล่าวว่า กระทรวงกลาโหม “มุ่งมั่นที่จะใช้เทคโนโลยีที่ใช้งานปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบ โดยพิจารณาอย่างรอบคอบถึงความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น สอดคล้องกับพันธกรณีทางกฎหมายของออสเตรเลียตามกฎหมายระหว่างประเทศและภายในประเทศ รวมถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ”

ออสเตรเลียและสิงคโปร์เป็นหนึ่งในกว่า 50 ประเทศที่ให้การรับรองแถลงการณ์ทางการเมืองของสหรัฐฯ ว่าด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์และอิสระทางการทหารอย่างมีความรับผิดชอบ โครงการดังกล่าวเปิดตัวใน พ.ศ. 2566 และเป็นโครงการที่ได้จัดทำแนวทางสำหรับความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้มั่นใจว่าการทดสอบและการประเมินผลจะมีความเข้มงวด การปฏิบัติตามพันธกรณีของรัฐภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และความรับผิดชอบ รวมถึง “ระหว่างปฏิบัติการทางทหารภายใต้การบังคับบัญชาและควบคุมของมนุษย์ที่มีความรับผิดชอบ”

เกาหลีเหนือ สาธารณรัฐประชาชนจีน และรัสเซีย ยังไม่ได้รับรองกรอบการทำงานระดับโลก

“ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำในเรื่องการกำกับดูแลและบรรทัดฐานของปัญญาประดิษฐ์” พล.จ. เฟรเดอริก ชู รองเลขาธิการฝ่ายนโยบายของกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์กล่าวกับเจ้าหน้าที่กลาโหมและกิจการต่างประเทศจาก 14 ประเทศ ในการประชุมครั้งแรกว่าด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบในขอบเขตทางทหารที่สิงคโปร์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 “เพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาสในการปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิตที่ได้จากปัญญาประดิษฐ์อย่างมีประสิทธิภาพ เราต้องตระหนักถึงความเสี่ยงด้านลบอย่างเต็มที่ การกำกับดูแลที่เข้มงวดต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเต็มที่ระหว่างประเทศและภายในประเทศ”

กลยุทธ์การนำข้อมูล การวิเคราะห์ และปัญญาประดิษฐ์มาใช้ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งเปิดตัวในปลาย พ.ศ. 2566 สร้างขึ้นบนรากฐานของนวัตกรรมภาครัฐและเอกชนที่เริ่มขึ้นเมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว เมื่อหน่วยงานได้ “หว่านเมล็ดศูนย์วิจัยปัญญาประดิษฐ์แห่งแรกที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ” นางเคทลีน ฮิกส์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวในคำปราศรัยที่บันทึกไว้ล่วงหน้าที่การประชุมสถาบันความมั่นคงระดับโลกและระดับชาติ “เรากำลังดำเนินการอย่างรวดเร็วและมีรับผิดชอบในการปรับปรุงซ้ำ และลงทุน เพื่อส่งมอบกองทัพที่ทันสมัย ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และเสริมด้วยปัญญาประดิษฐ์ในขณะนี้ เพื่อให้ข้อได้เปรียบในการตัดสินใจของเราดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่” เธอกล่าว “ระบบที่ใช้งานปัญญาประดิษฐ์สามารถพัฒนาความเร็ว คุณภาพ และความถูกต้องด้านการตัดสินใจของผู้บัญชาการได้อย่างมาก ซึ่งสามารถชี้ขาดในการป้องปรามการต่อสู้และการมีชัยในการต่อสู้”

ข้อมูลที่ขับเคลื่อนโปรแกรมประยุกต์ปัญญาประดิษฐ์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มาจาก “ปฏิบัติการทางทหารของจริงนานหลายทศวรรษ และประสบการณ์นานหลายปีในเขตสงคราม และใช้ประโยชน์จากเซ็นเซอร์ที่ยืดหยุ่นและเครือข่ายการส่งข้อมูลข้ามขอบเขต จากก้นทะเลสู่อวกาศ” นางฮิกส์ กล่าว “และโปรแกรมประยุกต์นี้ได้รับการทำให้แข็งแกร่งขึ้นอีกด้วยกลไกการแบ่งปันข้อมูลกับพันธมิตรและหุ้นส่วน รวมถึงประเทศประชาธิปไตยที่กำลังต่อต้านประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นเผด็จการอยู่ในขณะนี้ เรากำลังปรับปรุงและขยายกลไกเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เช่น ในอินโดแปซิฟิก ที่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ได้แบ่งปันข้อมูลเตือนภัยล่วงหน้าและข้อมูลการยิงขีปนาวุธ ทั้งแบบสามฝ่ายและแบบตามเวลาจริงแล้ว”

โดรนบลูแบร์โกสต์ได้รับการเตรียมพร้อมสำหรับการทดลองเทคโนโลยีที่ใช้งานปัญญาประดิษฐ์ในความร่วมมือของหุ้นส่วนอูกัสที่พื้นที่ฝึกซ้อมที่ราบซอลส์บรีของกองทัพบกอังกฤษทางตอนใต้ของอังกฤษ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2566
กระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักร © ลิขสิทธิ์ของรัฐบาลอังกฤษ

ความได้เปรียบเชิงอสมมาตร

หกเดือนก่อนการทดลองปฏิบัติการยานยนต์หุ่นยนต์ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขัน ที่ปรึกษาทางทหาร วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์จากกลุ่มประเทศอูกัส ได้รวมตัวกันที่พื้นที่ฝึกซ้อมที่ราบซอลส์บรีของกองทัพบกอังกฤษในตอนใต้ของอังกฤษ ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่ฝึกซ้อมคัลทานาของออสเตรเลียใต้ประมาณ 16,000 กิโลเมตร ผู้ปฏิบัติการใช้ฝูงอากาศยานไร้คนขับที่ใช้งานปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงโดรนบลูแบร์โกสต์และซีที220 เพื่อตรวจจับและติดตามเป้าหมายแบบตามเวลาจริง การทดสอบนี้รวมไปถึง “การปรับปรุงแบบจำลองขณะใช้งานจริงในการบิน” เป็นครั้งแรกของโลก กระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักรระบุ “ความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ที่ปรับให้เหมาะกับภารกิจนี้จะสามารถส่งมอบขีดความสามารถที่ยิ่งใหญ่กว่าที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะทำได้เพียงลำพัง” นายฮิวจ์ เจฟฟรี รัฐมนตรีช่วยว่าการฝ่ายกลยุทธ์ นโยบาย และอุตสาหกรรมของออสเตรเลีย กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์ “นั่นคือเหตุผลที่แท้จริงสำหรับอูกัส”

การทดลองเช่นนี้แสดงให้เห็นถึง “ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ทำงานร่วมกันได้ ทำให้หุ้นส่วนอูกัสสามารถร่วมกันพัฒนาแบบจำลองปัญญาประดิษฐ์และนำไปใช้กับอากาศยานไร้คนขับของกันและกันได้” โฆษกของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลียกล่าวกับ ฟอรัม

ศูนย์วิจัยกลาโหมขั้นสูงด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติแห่งมหาวิทยาลัยแอดิเลด เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เป็นผู้นำความพยายามร่วมมือเหล่านั้น ศูนย์วิจัยกลาโหมขั้นสูงด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2564 ร่วมกับกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหมของออสเตรเลีย หน้าที่สำคัญของศูนย์นี้รวมถึงการสร้างโปรแกรมการฝึกอบรมในระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์สำหรับเจ้าหน้าที่กลาโหม การเพิ่มขีดความสามารถในการเรียนรู้ของเครื่องจักร และการพัฒนาระบบเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์และระบบอัตโนมัติ

การทบทวนแผนยุทธศาสตร์กลาโหมของออสเตรเลียใน พ.ศ. 2566 ซึ่งเรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างท่าทีของกองกำลังและการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่ครอบคลุมทุกขอบเขตทางกลาโหมของประเทศ นอกจากนี้ยัง “เน้นถึงผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์” โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว “ปัญญาประดิษฐ์เป็นเทคโนโลยีหลักในการให้ระบบหุ่นยนต์มีความสามารถในการทำงานอัตโนมัติ และกระทรวงกลาโหมกำลังดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อทำความเข้าใจและพัฒนาระบบเหล่านี้เพื่อให้เกิดความเปรียบเชิงอสมมาตร”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button