การลาดตระเวนร่วมและข้อตกลงด้านการกลาโหมช่วยเสริมสร้างความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างนิวซีแลนด์และฟิลิปปินส์
มาเรีย ที. เรเยส
นิวซีแลนด์และฟิลิปปินส์กำลังขยายความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง โดยมุ่งส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค หนึ่งในการดำเนินการที่เห็นได้ชัดเจนคือ กองทัพเรือนิวซีแลนด์ได้ส่งเรือขนาดใหญ่ที่สุดของตนอย่าง เอชเอ็มเอ็นซีเอส ออเทียโรอา เข้าร่วมกับเรือของออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกาในทะเลจีนใต้เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 นอกจากนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์และรัฐบาลนิวซีแลนด์ยังได้ลงนามในข้อตกลงการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ร่วมกันเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567
“ความร่วมมือด้านกลาโหมกับพันธมิตรในภูมิภาคเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป” กองทัพนิวซีแลนด์กล่าวกับสำนักข่าวฟิลิปปินส์หลังการลาดตระเวน “นี่เป็นโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเสริมสร้างความร่วมมือด้านการกลาโหมระหว่างกันและกัน และสนับสนุนเสถียรภาพในภูมิภาค ในขณะเดียวกันก็ปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลตลอดเวลา”
การลาดตระเวนทางทะเลร่วมกันนี้ดำเนินการใกล้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์นอกชายฝั่งลูซอน โดยรวมถึงการฝึกด้านขอบเขตในการเฝ้าระวังทางทะเลและการเติมเสบียงกลางทะเลเพื่อยกระดับขั้นตอนการปฏิบัติงานและการผนวกกำลังของกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน ตามรายงานของกองทัพนิวซีแลนด์ เอชเอ็มเอ็นซีเอส ออเทียโรอา เป็นเรือเติมเสบียง ซึ่งได้มีบทบาทในการปฏิบัติการในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567
การฝึกซ้อมครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงในทะเลจีนใต้ ที่ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนยังคงดื้อรั้นทำการอ้างสิทธิ์ในอาณาเขตดังกล่าวตามอำเภอใจและไม่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งรวมถึงการอ้างสิทธิ์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์ด้วย เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนได้ใช้ปืนฉีดน้ำและดำเนินการเคลื่อนที่ที่เป็นอันตรายต่อเรือฟิลิปปินส์หลายครั้ง ซึ่งส่งผลให้ลูกเรือฟิลิปปินส์บาดเจ็บและทำให้เรือส่งเสบียงได้รับความเสียหาย
การลาดตระเวนร่วมดังเช่นการลาดตระเวนที่ประกอบไปด้วยกองทัพฟิลิปปินส์และกองทัพนิวซีแลนด์ เป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริม “ขีดความสามารถด้านขอบเขตในการเฝ้าระวังทางทะเลของประเทศหุ้นส่วน เพื่อเฝ้าระวังและยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในทะเล” นายโจชัว เบอร์นาร์ด เอสเปญา รองประธานของศูนย์วิจัยการพัฒนาระหว่างประเทศและความร่วมมือด้านความมั่นคงในกรุงมะนิลา กล่าวกับ ฟอรัม “การส่งเสริมซึ่งกันและกันผ่านการฝึกซ้อม ช่วยให้สามารถสร้างภาพรวมของสถานการณ์ปฏิบัติการ และสร้างความไว้วางใจกับผู้มีบทบาทรายอื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย”
ในขณะเดียวกัน ข้อตกลงด้านโลจิสติกส์ก็ได้ช่วยอำนวยความสะดวกต่อความร่วมมือระหว่างกองทัพฟิลิปปินส์และกองทัพนิวซีแลนด์ อีกทั้งปูทางไปสู่การทำงานร่วมกันมากขึ้น นายเอสเปญากล่าว ทั้งสองประเทศยังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการตกลงสถานะของกองกำลังเยือน ซึ่งจะช่วยให้สามารถฝึกซ้อมร่วมกันและแบ่งปันอุปกรณ์ทางทหารได้มากขึ้น โดยฟิลิปปินส์มีข้อตกลงที่มีลักษณะคล้ายกันนี้กับออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ
การที่นิวซีแลนด์เพิ่มการมีบทบาทในภูมิภาคนี้เป็นการส่งสัญญาณว่า “อยู่ในช่วงเวลาที่มีอำนาจใหม่ ๆ กำลังท้าทายระเบียบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา” นายเอสเปญากล่าว นายเอสเปญาสังเกตเห็นว่าการดำเนินการนี้สอดคล้องกับผลประโยชน์ระยะยาวของนิวซีแลนด์ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการรักษากฎระเบียบ ขณะเดียวกันก็ขยายบทบาทในภูมิภาคของตนออกไป
ในระหว่างการประชุมที่กรุงมะนิลาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 นายคริสโตเฟอร์ ลักซอน นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ และนายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ทั้งฟิลิปปินส์และนิวซีแลนด์ต่างก็มีความมุ่งมั่นที่จะ “รักษาและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมด้านการกลาโหม พร้อมกับแสวงหากรอบความร่วมมือใหม่ ๆ เพื่อขยายความสัมพันธ์ด้านการกลาโหมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น” ตามแถลงการณ์ร่วม ผู้นำของทั้งสองประเทศได้เน้นถึงความสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการกับภัยคุกคาม เช่น การกระทำอันเป็นโจรสลัด การทำประมงที่ผิดกฎหมาย และการก่อการร้าย
การทำงานร่วมกันระหว่างกองทัพฟิลิปปินส์และกองทัพนิวซีแลนด์มุ่งเสริมสร้างขีดความสามารถเชิงปฏิบัติการในด้านต่าง ๆ ทั้งทางบก อากาศ ทะเล และไซเบอร์ นายเอสเปญากล่าว
“ความร่วมมือนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างแนวทางแบบเครือข่ายในหมู่พันธมิตร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบด้านกลาโหมทั้งหมดสามารถเคลื่อนที่ ยิง และสื่อสารกันได้” นายเอสเปญากล่าว “ภาพรวมที่ใหญ่กว่าที่อยู่เบื้องหลังของแนวทางนี้ก็คือเวทีการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงแบบดั้งเดิม”
มาเรีย ที. เรเยส เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์