ทรัพยากรส่วนรวมของโลกเรื่องเด่นเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

การรุกราน อาร์กติก

จีนเดินหน้าพัฒนาเส้นทางสู่ขั้วโลก ขณะที่รัสเซียจับตามองยูเครน

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้เป็นประเทศในเขตอาร์กติก โดยพรมแดนด้านเหนือของจีนอยู่ห่างจากวงกลมอาร์กติกเกือบ 1,500 กิโลเมตร และยิ่งห่างไกลจากมหาสมุทรอาร์กติกมากขึ้นไปอีก แต่จีนกำลังรุกล้ำเข้าไปในเขตภูมิภาคหนาวที่เย็นนี้เพื่อควบคุมทรัพยากรอันมหาศาลและใช้ประโยชน์จากทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์เพื่อวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจ และอาจรวมถึงทางการทหารด้วย

จีนได้ประกาศตัวเองโดยพลการว่าเป็นประเทศ “ใกล้เขตอาร์กติก” ใน พ.ศ. 2561 ซึ่งการใช้คำดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในทันที “มีเพียงประเทศในเขตอาร์กติกและประเทศที่ไม่อยู่ในเขตอาร์กติกเท่านั้น” นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาในสมัยนั้น กล่าว “ไม่มีประเภทที่สาม และการ
กล่าวอ้างเช่นนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดกับจีน”

มีเพียงแปดประเทศที่อยู่ล้อมรอบเขตอาร์กติก ได้แก่ แคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ รัสเซีย สวีเดน และสหรัฐฯ ซึ่งทุกประเทศต่างก็อ้างสิทธิ์ในดินแดนและเขตน่านน้ำภายในวงกลมอาร์กติก

แม้จะอยู่ห่างไกล แต่ภายใต้การนำของนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน รัฐบาลจีนได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับอาร์กติกในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งต้องการทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ในภูมิภาคนี้ เช่น น้ำมัน ก๊าซ แร่ธาตุ และปลา นอกจากนี้ยังเน้นย้ำถึงศักยภาพของเส้นทางเดินเรือในทะเลเหนือ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือหลายช่วงที่ทอดผ่านเหนือเอเชียและยุโรป เมื่อไม่มีน้ำแข็ง เส้นทางเดินเรือในทะเลเหนือจะเป็นเส้นทางระหว่างตะวันออกและตะวันตกที่สั้นลงสำหรับเรือพาณิชย์และอาจรวมถึงเรือทหารด้วย

รัฐบาลจีนอ้างว่าเส้นทางเดินเรือในทะเลเหนือเป็นส่วนขยายของแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ของจีน ดร. คริสตินา สปอร์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศจากสถาบันลอนดอนว่าด้วยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ กล่าวกับนิตยสารเดอะดิโพลแมตในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566

มีหลายปัจจัยที่ทำให้จีนสามารถมีบทบาทในภูมิภาคนี้ได้ เช่น

การละลายของน้ำแข็งในทะเลเนื่องจากภูมิอากาศที่อุ่นขึ้น อุณหภูมิในอาร์กติกกำลังเพิ่มขึ้นถึงสี่เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การอุ่นขึ้นของขั้วโลกอย่างรวดเร็ว ตามรายงานของสำนักข่าววอยซ์ออฟอเมริกาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566

เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น เช่น เรือทลายน้ำแข็ง ลานบินที่ใช้ได้ในทุกสภาพอากาศ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบลอยน้ำ อุปกรณ์เซนเซอร์ระยะไกล และโดรน

นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย (ซ้าย) และนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประกาศมิตรภาพที่ไร้ขีดจำกัดของทั้งสองประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เก็ตตี้อิมเมจ

ปัญหาทางการทหารและการเงินของรัสเซียในอาร์กติกที่เกิดจากสงครามโดยไร้เหตุสมควรของรัสเซียในยูเครน เนื่องจากมีแนวชายฝั่งอาร์กติกถึงร้อยละ 53 รัสเซียจึงยอมให้จีนเข้ามาลงทุนเพื่อบำรุงรักษาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคนี้ ขณะที่รัฐบาลรัสเซียยังคงดำเนินสงครามต่อไป ตามรายงานของสถาบันความมั่นคงระดับโลกและระดับชาติที่มหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริด้า ในเมืองแทมปา เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะห้าปีฉบับที่ 14 ของจีน ซึ่งได้รับการอนุมัติในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ได้ระบุวัตถุประสงค์ของชาติสำหรับภูมิภาคอาร์กติก นายทริม อีเทอร์จอร์ด นักวิจัยจากสถาบันอาร์กติกซึ่งประจำอยู่ในแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา กล่าวกับ ฟอรัม แผนนี้เป็นการบ่งชี้ที่ชัดเจนครั้งแรกเกี่ยวกับแผนการของรัฐบาลจีนในการแทรกซึมเข้าไปในภูมิภาคนี้ โดยจีนได้รวบรวมข้อมูลข่าวกรองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับอาร์กติกผ่านเทคโนโลยีที่ใช้บนพื้นดิน ทะเล และอวกาศ

จีนได้ใช้ความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้นของตนในการพยายามสร้างอิทธิพลต่อประเทศในเขตอาร์กติก ในช่วงแรก บางประเทศมีท่าทีตอบรับเมื่อจีนแสดงความสนใจอย่างมาก แต่คำถามเกี่ยวกับเจตนาของรัฐบาลจีนสำหรับภูมิภาคนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ “ผู้คนเริ่มสงสัยว่าการมีบทบาทมากขึ้นของจีนในอาร์กติกหมายถึงอะไรกันแน่” นายอีเทอร์จอร์ดกล่าว “และตอนนี้ยิ่งมีความสงสัยมากขึ้น”

การกระทำบางอย่างของจีนอาจเปิดเผยคำตอบออกมา เช่น ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 กองทัพเรือจีนและรัสเซียได้จัดการฝึกซ้อมทางทหารในน่านน้ำสากลนอกชายฝั่งอะแลสกา ก่อนหน้านี้ ความกังวลด้านความปลอดภัยทำให้มีการเรียกร้องให้มีกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น หลังจากมีรายงานว่านักวิจัยชาวจีนที่ทำงานร่วมกับนักวิจัยในเดนมาร์กและสวีเดนมีความสัมพันธ์ที่ไม่เปิดเผยกับกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ตามรายงานของเดอะดิโพลแมตในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565

“เจตนาของจีนที่มีต่อภูมิภาคนี้ยังคงไม่ชัดเจน” พล.ร.อ. ร็อบ บาวเออร์ จากกองทัพเรือเนเธอร์แลนด์ ประธานคณะกรรมการทหารขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต กล่าวในที่ประชุมวงกลมอาร์กติกประจำปี ที่กรุงเรคยาวิก ประเทศไอซ์แลนด์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 ในช่วงปลายเดือนนั้น เขากล่าวต่อสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า “พวกเขายังไม่เคยบอกว่าจะไม่ดำเนินการทางทหารที่นั่น”

น้ำแข็งละลาย

การละลายของน้ำแข็งในทะเลกำลังเปิดเส้นทางการค้าและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในอาร์กติก สิ่งนี้กำลังเป็นปัจจัยที่เพิ่มความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของภูมิภาค ซึ่งเป็นความแตกต่างที่ชัดเจนจากสถานะที่แทบจะถูกละเลยเมื่อประมาณหนึ่งทศวรรษก่อน

ในอดีต เรือจำเป็นต้องมีเรือตัดน้ำแข็งนำทางเพื่อแล่นผ่านเส้นทางเดินเรือในทะเลเหนือ การละลายของน้ำแข็งกำลังเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้น โดยเกิดเส้นทางลัดที่เป็นไปได้สำหรับการค้า ซึ่งหลีกเลี่ยงเส้นทางทะเลที่แออัดและจุดคอขวด เช่น ช่องแคบบาบุลมันดับและช่องแคบมะละกา รวมถึงคลองสุเอซ

ใน พ.ศ. 2553 เรือสินค้าจากเดนมาร์ก นอร์ดิก บาเรนส์ เป็นเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ลำแรกที่ไม่ใช่ของรัสเซียที่แล่นผ่านเส้นทางเดินเรือในทะเลเหนือ จากนั้นมีเรือพาณิชย์อีกหลายลำแล่นผ่านตามมา ความต้องการน้ำมันรัสเซียของจีน ซึ่งได้ขายให้กับรัฐบาลจีนแบบลดราคาเนื่องจากรัฐบาลรัสเซียพยายามหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันนานาชาติที่ถูกกำหนดขึ้นหลังจากการรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 นี่ส่งผลให้เกิดการขนส่งผ่านเส้นทางเดินเรือในทะเลเหนือมากถึง 75 ครั้งใน พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไฮนอร์ธนิวส์ของนอร์เวย์ มีการขนส่งสินค้าทั้งหมด 2.1 ล้านตันผ่านเส้นทางเดินเรือในทะเลเหนือใน พ.ศ. 2566 ซึ่งเกินกว่าสถิติสูงสุดก่อนหน้านี้ใน พ.ศ. 2564 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไฮนอร์ธนิวส์

อาร์กติกกำลังอยู่ในช่วง “เปลี่ยนแปลงรากฐาน” นายวอลต์ ไมเออร์ นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวกับดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส แบบจำลองบางส่วนคาดการณ์ว่าฤดูร้อนในมหาสมุทรอาร์กติกจะปราศจากน้ำแข็งภายในกลางศตวรรษนี้ หรือไม่ก็เร็วกว่านั้น

นักสิ่งแวดล้อมและเจ้าหน้าที่กังวลว่าการเร่งรีบใช้ประโยชน์จากน้ำแข็งที่กำลังละลายอาจนำไปสู่หายนะ แน่นอนว่า รัสเซียที่ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการคว่ำบาตรที่เกี่ยวข้องกับยูเครน ได้อนุญาตให้เรือบรรทุกน้ำมันที่ไม่ได้เสริมความแข็งแรง 2 ลำแล่นผ่านเส้นทางเดินเรือ
ในทะเลเหนือไปยังจีนในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ตามรายงานของ
ไฟแนนเชียลไทมส์

กลุ่มสิ่งแวดล้อมกรีนพีซได้เรียกร้องให้มีการจัดทำสนธิสัญญาทะเลโลกเพื่อลดกิจกรรมในมหาสมุทรอาร์กติก ซึ่งเป็นมหาสมุทรที่ได้รับการปกป้องน้อยที่สุดของโลก ในฐานะส่วนหนึ่งของเครือข่ายเขตรักษาพันธุ์

เรือตัดน้ำแข็งของจีน เสวี่ยหลง จอดที่ท่าเรือในเซี่ยงไฮ้ ดร. มาร์ค ลันเทย์น/มหาวิทยาลัยอาร์กติก แห่งนอร์เวย์ เมืองทรอมโซ

การกำกับดูแลอาร์กติก

สภาอาร์กติกประกอบด้วยแปดประเทศที่มีดินแดนอยู่ภายในวงอาร์กติก นอกเหนือจากรัสเซียแล้ว ทุกประเทศเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต มีรัฐผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่กลุ่มประเทศอาร์กติกจำนวน 13 ประเทศ รวมถึงจีน พร้อมด้วยองค์กรระหว่างรัฐบาล 13 แห่ง และองค์กรพัฒนาเอกชน 12 แห่ง ผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมในการประชุมและคณะทำงานเมื่อได้รับเชิญ แต่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ

สภาอาร์กติกก่อตั้งขึ้นตามปฏิญญาออตตาวาใน พ.ศ. 2539 สภานี้ส่งเสริมความร่วมมือ การประสานงาน และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอาร์กติกและชุมชนชนพื้นเมือง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สภาอาร์กติกไม่มีอำนาจในเขตอำนาจศาล ความรับผิดชอบในด้านการควบคุมอยู่ที่แต่ละประเทศในอาร์กติกและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น

ศักยภาพในการขนส่งผ่านเส้นทางเดินเรือในทะเลเหนืออย่างสม่ำเสมอ ซึ่งให้คำมั่นว่าจะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งอย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจนการเข้าถึงทรัพยากรที่กว้างขวาง กำลังดึงดูดความสนใจจากนานาชาติไปยังภูมิภาคนี้ ตามรายงานของสถาบันความมั่นคงระดับโลกและระดับชาติ อาร์กติกมีน้ำมันสำรองของโลกอยู่ที่ร้อยละ 13 ก๊าซธรรมชาติ และแหล่งแร่ธาตุ รวมถึงอะลูมิเนียม ทองแดง ทองคำ กราไฟต์ ยิปซัม เหล็ก นิกเกิล แพลตินัม เงิน ดีบุก และยูเรเนียม ร้อยละ 30 ตามรายงานของสถาบันความมั่นคงระดับโลกและระดับชาติ นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุหายากที่จำเป็นในการผลิตสมาร์ทโฟน แล็ปท็อป และยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีทางทหาร

นายสีให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีแบบใช้งานได้สองแบบและการผสมผสานระหว่างพลเรือนและทหาร ดังนั้นความก้าวหน้าของจีนในอาร์กติกจึงอาจมีวัตถุประสงค์ทางทหารด้วยเช่นกัน ตามรายงานของสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนปฏิเสธความสนใจทางทหารในอาร์กติก ผู้นำนาโตกลับมองว่าจีนอาจเป็นภัยคุกคาม พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้จัดกำลังทหารในสถานที่อื่น ๆ เช่น เกาะเทียมในทะเลจีนใต้ หลังจากที่สัญญาว่าจะไม่ทำเช่นนั้น นาโต ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงที่มีสมาชิก 32 ประเทศและกลุ่มประเทศอาร์กติกต่าง ๆ กำลังยกระดับท่าทีทางทหารในภูมิภาคนี้ เช่น นาวิกโยธินสหรัฐฯ ได้ฝึกฝนยุทธวิธีในสภาพอากาศหนาวเย็นระหว่างการฝึกอาร์กติกเอดจ์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567

ความพยายามของจีนในการจัดตั้งศูนย์วิจัยในอาร์กติกได้รับการตอบโต้จากเดนมาร์ก ฟินแลนด์ กรีนแลนด์ และสวีเดนด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ตามรายงานของสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ และสหรัฐฯ ได้เตือนกลุ่มประเทศอาร์กติกอื่น ๆ ให้ระมัดระวัง

“ไม่ควรทำให้ภัยคุกคามนั้นดูใหญ่เกินจริง” นางสเตฟานี พีซาร์ด นักรัฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในอาร์กติกจากแรนด์
คอร์ปอเรชัน กล่าวในบทความที่เผยแพร่โดยกลุ่มวิจัยของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 “แต่ในขณะเดียวกัน จีนก็มีเจตนาชัดเจนที่จะไม่ยอมถูกกีดกันจากการพัฒนาในอาร์กติกเมื่อภูมิภาคนี้เข้าถึงได้มากขึ้น”

มิตรภาพแบบ “ไร้ขีดจำกัด” ของจีนกับรัสเซีย ซึ่งประกาศไม่กี่วันก่อนที่รัสเซียจะโจมตียูเครน ทำให้เกิดความแตกแยกภายในสภาอาร์กติก สมาชิกนาโตเจ็ดประเทศที่อยู่ในสภาอาร์กติกตั้งคำถามเกี่ยวกับแรงจูงใจของจีนและรัสเซีย ผู้ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนอาร์กติกให้กับจีน “เมื่อมีตัวเลือกอยู่ไม่มาก จีนจึงเพิ่มการลงทุนในรัสเซีย เนื่องจากมองว่ารัฐบาลรัสเซียเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ในอาร์กติก” ตามรายงานของสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์

อุณหภูมิที่สูงขึ้นและน้ำแข็งที่ละลายในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ธารน้ำแข็งคงส์บรีนใกล้กับหมู่เกาะสวาลบาร์ด ประเทศนอร์เวย์ กำลังเปิดเขตอาร์กติกสู่การค้าและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ดร. มาร์ค ลันเทย์น/มหาวิทยาลัยอาร์กติกแห่งนอร์เวย์ เมืองทรอมโซ

“อิงจากความสะดวก”

ในฉากหน้า ความร่วมมือด้านอาร์กติกระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลรัสเซียดูเหมือนจะเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ด้วยความหมกมุ่นกับสงครามที่ยืดเยื้อและมีค่าใช้จ่ายสูงกับยูเครน รัสเซียพึ่งพาให้จีนซื้อน้ำมันของตนเอง ดำเนินการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สร้างโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมเส้นทางเดินเรือในทะเลเหนือให้เป็นเส้นทางเดินเรือที่ใช้งานได้ ในขณะเดียวกัน จีนก็ยกระดับความเชี่ยวชาญด้านอาร์กติก โดยหวังว่าจะได้รับการพิจารณาให้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภูมิภาค

สงครามของรัสเซียในยูเครนเป็น “โอกาสทอง” สำหรับจีน ตามรายงานของสไตรเดอร์ เทคโนโลยีส์ บริษัทข่าวกรองเชิงยุทธศาสตร์ในสหรัฐฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 “ผลการค้นพบของเราเผยให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์ของรัสเซีย ซึ่งสังเกตได้จากการลดการใช้จ่ายของรัฐบาลและการเปลี่ยนนโยบายอย่างเห็นได้ชัดเพื่อให้สาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามามีส่วนร่วม … และการลงทุนจากภาคเอกชนเพื่อรักษาความเป็นผู้นำในอาร์กติก” นายเอริค เลฟสเว็ค ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสไตรเดอร์เทคโนโลยีส์ กล่าว

บริษัทจีนกว่า 230 แห่งได้จดทะเบียนเพื่อดำเนินการในดินแดนอาร์กติกของรัสเซียตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2565 ถึงมิถุนายน พ.ศ. 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 87 เมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2564 รวมกัน ตามรายงานของสไตรเดอร์เทคโนโลยีส์

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความร้าวฉานอยู่ในความสัมพันธ์ รัฐบาลรัสเซียวิตกเกี่ยวกับการที่จีนจะได้รับอิทธิพลในอาร์กติกมากเกินไป ในขณะที่ตนเองเสียผลประโยชน์ ขณะเดียวกัน จีนมีความอ่อนไหวต่อมุมมองของกลุ่มประเทศอาร์กติกที่มีต่อความสัมพันธ์ของจีนกับรัสเซีย และจีนต้องการ “ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด แต่ไม่ใกล้ชิดเกินไป” ดร. มาร์ค ลันเทย์น ศาสตราจารย์และนักวิจัยด้านอาร์กติกที่มหาวิทยาลัยอาร์กติกแห่งนอร์เวย์ เมืองทรอมโซ กล่าวกับ ฟอรัม ดร. ลันเทย์นกล่าวว่า ในขณะที่รัฐบาลจีนยอมรับในบทบาทในอาร์กติกที่สำคัญของรัสเซีย รัฐบาลจีนยังมองว่ารัฐบาลรัสเซียเป็นอำนาจที่เสื่อมถอยลงและไม่ควรไว้วางใจอย่างเต็มที่ “จีนพยายามที่จะรักษาสมดุล ผมคิดว่าจีนพบคำตอบว่าตนว่าทำอย่างนั้นไม่ได้” ดร. ลันเทย์นกล่าว

จีนไม่ได้ประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซียหรือเข้าร่วมการคว่ำบาตรทั่วโลกต่อการนำเข้าน้ำมันรัสเซีย อย่างไรก็ตาม จีนก็ไม่ต้องการสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มประเทศสมาชิกสภาอาร์กติกทั้งเจ็ดประเทศที่สนับสนุนยูเครนและยอมรับการคว่ำบาตร

“ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและรัสเซียตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสะดวกเป็นอย่างมาก” ดร. ลันเทย์นกล่าว “นั่นเป็นสิ่งที่เปราะบางมาก”

เครื่องบิน ซี-130 เฮอร์คิวลิส ของกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิทางอากาศสหรัฐฯ บินผ่านเจ้าหน้าที่นอร์เวย์และสหรัฐฯ รวมถึงเรือดำน้ำ ยูเอสเอส แฮมป์ตัน ในระหว่างการฝึกอาร์กติกเอดจ์ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 พ.จ.ต. เจฟ เอเทอร์ทัน/ กองทัพเรือสหรัฐฯ

การรวมตัวกันที่ไม่สมบูรณ์แบบ

จีนและรัสเซียเป็นหนึ่งในระบอบอัตตาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งสองมีพรมแดนร่วมกัน 4,184 กิโลเมตร มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้ง ดำเนินการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกัน และเป็นหนึ่งในห้าสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ที่มีอำนาจยับยั้ง สิ่งที่เหมือนกันมากที่สุดระหว่างจีนและรัสเซียอาจจะเป็นความรังเกียจที่มีต่อโลกตะวันตก

ท่าทางภายนอกของทั้งสองประเทศที่ดูเหมือนจะเป็นมิตรนั้น กลับปิดบังประวัติศาสตร์ที่ยากลำบากเป็นบางครั้งไว้เบื้องหลัง แม้กระทั่งตอนนี้ รัฐบาลจีนและรัฐบาลรัสเซียก็ไม่ใช่หุ้นส่วนตามธรรมชาติหรือพันธมิตรอย่างเป็นทางการ และผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ตั้งคำถามถึงความแน่นแฟ้นของความสัมพันธ์ของทั้งสอง ตามรายงานของสภา
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยในนิวยอร์ก เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 มีความไม่ไว้วางใจที่เกิดจากความร้าวฉานทางประวัติศาสตร์และการเหยียดเชื้อชาติในหมู่เจ้าหน้าที่จีนและรัสเซีย ผู้นำทางธุรกิจ และประชาชน ตามรายงานของสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ในช่วงที่รู้จักกันในชื่อความแตกแยกระหว่างจีนและโซเวียตตั้งแต่ พ.ศ. 2512-2532 ข้อพิพาทชายแดนระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนและสหภาพโซเวียตในขณะนั้นรวมถึงความขัดแย้งทางทหารเป็นเวลาเจ็ดเดือน โดยมีการปะทะครั้งใหญ่ใกล้กับเกาะเจินเป่าบนแม่น้ำอุซซูรี ซึ่งเป็นพรมแดนกั้นระหว่างจีนและรัสเซีย ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2512 นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งเกี่ยวกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ การสนับสนุนอินเดียของรัสเซีย และการตัดสินใจว่าจะทำงานร่วมกับประเทศตะวันตกหรือไม่ ตามรายงานของสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจค่อย ๆ มีเสถียรภาพขึ้น จนนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาเพื่อนบ้านที่ดีและความร่วมมืออย่างเป็นมิตรใน พ.ศ. 2544 ประมาณหนึ่งทศวรรษหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนปฏิเสธที่จะประณามการยึดไครเมียของรัสเซียใน พ.ศ. 2557 และอีกครั้งเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็นิ่งเฉยภายหลังการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและรัสเซียเป็นแบบอสมมาตร โดยที่จีนมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่ามาก แม้ว่ารัสเซียจะมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมน้ำมันมากที่สุดก็ตาม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและรัสเซียในอาร์กติกมีข้อจำกัด และส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการค้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ดร. ลันเทย์นกล่าว แม้ว่ากองทัพของจีนและรัสเซียจะฝึกอบรมร่วมกัน แต่ก็มีความกังขาเกี่ยวกับระดับความสามารถในการทำงานร่วมกันของทั้งสองฝ่าย และทั้งสองฝ่ายยังไม่เคยได้ต่อสู้ร่วมกัน ตามรายงานของสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ จีนและรัสเซียเห็นพ้องกันในเรื่องของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แต่บางครั้งก็คอยขัดขวางความพยายามที่จะผลักดันสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

ภายใต้การนำของนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย รัฐบาลรัสเซียมีความพยายามมายาวนานในการกีดกันไม่ให้ประเทศอื่น ๆ เข้ามาในอาร์กติก นั่นคือสิ่งที่ทำให้การที่รัฐบาลรัสเซียยอมรับข้อเสนอของรัฐบาลจีนเมื่อไม่นานมานี้เป็นเรื่องที่น่าทึ่ง ดร. สปอร์กล่าวกับเดอะ ดิโพลแมต

เรือบรรทุกสินค้านอร์ดิกบาเรนส์ของเดนมาร์กออกจากนอร์เวย์ไปยังจีนในเดือนกันยายน พ.ศ. 2553 ซึ่งกลายเป็นเรือบรรทุกสินค้าลำแรกที่ไม่ใช่ของรัสเซียที่เดินทางผ่านเส้นทางเดินเรือในทะเลเหนือ เก็ตตี้อิมเมจ

ด้วยความที่รัสเซียถูกเบี่ยงเบนความสนใจเพราะสงครามของตนเอง จีนจึงยังไม่ได้ดำเนินการในเขตอาร์กติกในฐานะหน่วยงานชาติเดียว นายอีเทอร์จอร์ด จากสถาบันอาร์กติก เมืองทรอมโซ กล่าว หลังจากแผนห้าปีใน พ.ศ. 2564 รัฐบาลระดับมณฑลของจีน บริษัทต่าง ๆ กระทรวง และหน่วยงานอื่น ๆ ได้เริ่มโครงการอาร์กติกของตัวเองให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่กว้างขึ้นของรัฐบาลจีน นายอีเทอร์จอร์ดกล่าว

แม้ว่ารัสเซียและพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะมีผลประโยชน์และมุมมองหลายอย่างร่วมกัน แต่ทั้งสองก็มีความแตกต่างในหลายแง่มุมที่สำคัญ รัสเซียยังคงเป็นประเทศที่ปิดตัวอยู่มาก ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนแสวงหาอำนาจสูงสุดทั่วโลกอย่างเปิดเผย ด้วยโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางและโครงการริเริ่มด้านความมั่นคงระดับโลก อย่างไรก็ตาม หากพรรคคอมมิวนิสต์จีนแสดงแนวทางที่ก้าวร้าวในเขตอาร์กติก ก็อาจต้องสูญเสียความไว้วางใจจากกลุ่มประเทศอาร์กติก ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนต้องพึ่งพาเพื่อประโยชน์ต่ออนาคตในภูมิภาคนี้ของตน

“รัสเซียมีพฤติกรรมยั่วยุมากกว่า ในขณะที่จีนใช้วิธีการที่ระมัดระวังและระยะยาวมากกว่าในแง่ของการแข่งขันกับตะวันตกในระดับโลก” นางมาเรีย เรปนิโควา ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาอำนาจนิยมเปรียบเทียบในสาธารณรัฐประชาชนจีนและรัสเซียที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐจอร์เจีย กล่าวกับสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์

“จีนต้องการได้รับการมองว่าตนเป็นมหาอำนาจที่มีความรับผิดชอบ” ดร. ลันเทย์นกล่าว โดยพูดถึงบทบาทของจีนในเขตอาร์กติก “การมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัสเซียไม่ได้ช่วยสร้างภาพลักษณ์เช่นนั้น”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button