ความร่วมมือเรื่องเด่นเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

การรักษา ไว้ซึ่ง อนาคตดิจิทัล

จีนมุ่งเน้นกลยุทธ์ไซเบอร์ของตนไปที่ด้านการรบกวน ขณะที่พันธมิตรและหุ้นส่วนตอบโต้ด้วยความร่วมมือ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

สงครามสมัยใหม่จะไม่มีการจำกัดด้วยพรมแดนหรือการรบทางทหารแบบเดิมอีกต่อไป ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ด้วยการกดแป้นพิมพ์เพียงไม่กี่ครั้ง แฮกเกอร์ผู้มีทักษะอันเชี่ยวชาญก็สามารถทำลายเครือข่ายโทรคมนาคม ระบบน้ำและระบบน้ำเสีย สนามบิน ทางหลวง โรงพยาบาล และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอื่น ๆ ได้ภายในเวลาไม่กี่นาที

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การโจมตีทางไซเบอร์ที่เชื่อมโยงกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเพียงอย่างเดียวมีเพิ่มมากขึ้น และรัฐบาลจีนได้ขยายเป้าหมายทางไซเบอร์ของตนให้ครอบคลุมถึงโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ตามที่นักวิเคราะห์และเจ้าหน้าที่ความมั่นคงระดับสูงกล่าว นายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน มักทำงานผ่านบริษัทแฮกเกอร์เชิงพาณิชย์ของจีน นอกจากนี้ยังได้เพิ่มปริมาณการโจมตีทางไซเบอร์ที่พุ่งเป้าไปที่รัฐบาลและอุตสาหกรรมในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก เช่น ญี่ปุ่นและไต้หวัน รวมถึงประเทศที่โต้แย้งการอ้างสิทธิ์ดินแดนของจีนในทะเลจีนใต้

“ประเด็นสำคัญทั้งหมดที่ต้องพูดถึงในเรื่องนี้คือ จีนกำลังแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้น” นายเดวิด ทัฟฟลี อาจารย์อาวุโสด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ที่มหาวิทยาลัยกริฟฟิธในออสเตรเลีย กล่าวกับหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 “จีนรู้ดีว่ามีศักยภาพทางทหารไม่พอที่จะเอาชนะสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ในสงครามที่รุนแรง ดังนั้น จีนน่าจะไม่ยอมให้สถานการณ์บานปลายไปถึงจุดนั้น”

แทนที่จะทำเช่นนั้น จีนกำลังพยายามก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในประเทศที่เป็นเป้าหมาย และ “อาจจะทำให้เกิดการสูญเสียความเชื่อมั่นในความสามารถด้านการดำเนินการของประเทศนั้น ๆ” นายทัฟฟลีกล่าว การโจมตีเหล่านี้ยังเป็นวิธีการที่จีนใช้เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของขีดความสามารถทางไซเบอร์ของตนต่อศัตรูด้วย นายทัฟฟลีกล่าว

สหรัฐอเมริการวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนกำลังต่อต้านยุทธวิธีไซเบอร์ในพื้นที่สีเทาลักษณะดังกล่าวด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกัน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 องค์กรความมั่นคงทางไซเบอร์และองค์กรบังคับใช้กฎหมายของญี่ปุ่นได้ร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อเตือนบริษัทข้ามชาติถึงการโจมตีทางไซเบอร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับจีน กลุ่มแฮกเกอร์ที่รู้จักกันในชื่อแบล็กเทคได้เจาะระบบเข้าไปในเราเตอร์อินเทอร์เน็ต เพื่อเข้าถึงเครือข่ายของบริษัทเทคโนโลยีและรัฐบาลในญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ตามรายงานของเจ้าหน้าที่

นางเจ็น เอสเตอร์ลี ผู้อำนวยการหน่วยงานความมั่นคงทางไซเบอร์และโครงสร้างพื้นฐาน ได้ให้การสาบานตนก่อนที่จะให้การในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 ต่อหน้าคณะกรรมการเฉพาะกิจสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ โดยมุ่งเน้นเรื่องจีน เก็ตตี้อิมเมจ

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และสำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ เอฟบีไอ รายงานว่ามีการปิดการใช้งานบางส่วนของปฏิบัติการสอดแนมทางไซเบอร์ขนาดใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน ซึ่งได้รับการตั้งชื่อว่าโวลต์ไทฟูน โดยเป็นปฏิบัติการสอดแนมทางไซเบอร์ที่ไมโครซอฟท์ได้ระบุพบในปีก่อนหน้านั้น ปฏิบัติการครั้งนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับ “การไขว่คว้าขีดความสามารถที่อาจรบกวนโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่สำคัญระหว่างสหรัฐอเมริกาและภูมิภาคเอเชียในช่วงวิกฤตในอนาคต” ตามข้อมูลจากบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ เพื่อเป็นการตอบโต้ เหล่าองค์กรความมั่นคงทางไซเบอร์จากออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ได้ออกคำแนะนำที่ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับยุทธวิธี เทคนิค และกระบวนการของจีน พร้อมกับนำเสนอแนวทางให้กับ “ผู้ปกป้องเครือข่าย” เพื่อใช้ตรวจจับและบรรเทาภัยคุกคาม

“ตลอดช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เราเริ่มรู้สึกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์ในปฏิบัติการโจมตีทางไซเบอร์ที่ประสงค์ร้ายของจีนซึ่งมุ่งเป้าไปยังโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของสหรัฐฯ” นางเจ็น เอสเตอร์ลี ผู้อำนวยการหน่วยงานความมั่นคงทางไซเบอร์และโครงสร้างพื้นฐาน กล่าวในคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติสหรัฐฯ ในช่วงต้น พ.ศ. 2567

ถึงแม้ว่าจะให้ความสำคัญกับการรบกวนทางไซเบอร์มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะละทิ้งเรื่องปฏิบัติการจารกรรมทางดิจิทัลของรัฐบาลจีนที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน นายเจมส์ ลูอิส นักวิจัยจากสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวเตือน

“ผมมองว่านี่เป็นสิ่งที่เพิ่มเข้ามา” นายลูอิสกล่าวกับ ฟอรัม “สถานการณ์ยิ่งตกอยู่ในภาวะผันผวนมากยิ่งขึ้น เพราะไม่เพียงแค่จีนจะกำลังสอดแนมและขโมยความลับทางการค้าเท่านั้น แต่ยังเจาะเข้าสู่โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของคุณเพื่อค้นหาจุดที่อาจใช้โจมตีได้”

ในสถานการณ์ที่เกิดความขัดแย้ง จีนอาจพยายามทำการโจมตีทางไซเบอร์โดยมีเป้าหมายเพื่อตัดการสื่อสารระหว่างเป้าหมายกับกองกำลังหุ้นส่วนใด ๆ ที่มี การโจมตีแบบเสมือนจริงต่อโครงสร้างพื้นฐานที่พึ่งพาซอฟต์แวร์อาจทำให้ไฟฟ้าดับ ปิดท่อส่ง หรือขัดขวางการดำเนินงานของท่าเรือและสนามบิน นายลูอิสกล่าว เป้าหมายอาจรวมถึงระบบโลจิสติกส์ทางทหารและพลเรือน โทรคมนาคม และระบบสำคัญอื่น ๆ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและพื้นที่อื่น ๆ เนื่องจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนพยายามที่จะตัดการเชื่อมต่อระหว่างเป้าหมายกับโลกภายนอก

แม้ว่าจีนจะมุ่งเน้นกลยุทธ์ไซเบอร์ของตนไปที่ด้านการรบกวน แต่ทว่าสหรัฐฯ และพันธมิตรและหุ้นส่วนต่างก็อาศัยความร่วมมือกัน ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่อยู่ในรูปแบบของการแบ่งปันข้อมูลและการวิจัยด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ร่วมกัน นายลูอิสกล่าว นาย
ลูอิสได้กล่าวถึงความพยายามในการเพิ่มความตระหนักรู้ในกิจกรรม
ทางไซเบอร์ที่เป็นอันตรายของรัฐบาลจีนผ่านการประกาศร่วมกัน เช่น คำเตือนเกี่ยวกับแบล็กเทคและโวลต์ไทฟูน และการเพิ่มความร่วมมือในการตรวจจับและกำจัดภัยคุกคามทางไซเบอร์ในเครือข่ายที่สำคัญ “สิ่งเหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่อยู่ แต่เรากำลังสร้างความร่วมมือในด้านใหม่นี้ และในท้ายที่สุด สิ่งนี้จะทำให้เรามีความได้เปรียบเหนือจีนอย่างมาก” นายลูอิสกล่าว

ความพยายามในการร่วมมือได้ประสบความสำเร็จในการระบุตัวผู้กระทำผิดที่เชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงกล่าว เจ้าหน้าที่กลาโหมของพันธมิตรและหุ้นส่วนได้เปิดเผยเมื่อกว่าทศวรรษก่อนว่า สมาชิกของหน่วยงานเฉพาะทางของกองทัพปลดปล่อยประชาชนได้วางแผนอย่างรอบคอบเพื่อเจาะระบบบริษัท องค์กร และหน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ แต่เพิ่งเปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวกับขอบเขตของเครือข่ายการเจาะระบบของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ร.อ. อีริก เจคอบส์ นาวิกโยธินสหรัฐฯ (ซ้าย) กำลังสอนเกี่ยวกับเครือข่ายดิจิทัลที่ อ.สัตหีบ ประเทศไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินไทย

“กลุ่มผู้ทำการเจาะระบบบางกลุ่มคือบริษัทความมั่นคงข้อมูลที่
ได้รับการว่าจ้างจากหน่วยข่าวกรองจีนเพื่อดำเนินการโจมตีเป้าหมายเฉพาะ” นายเฉอ ฉาง จากบริษัทวิเคราะห์ภัยคุกคามทางไซเบอร์
ทีมที 5 ในไต้หวัน กล่าวกับหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 เช่น เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ว่าจ้างบริษัทความมั่นคงทางไซเบอร์ของจีนชื่อไอ-ซูน เพื่อเจาะระบบเครือข่ายในเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน รวมถึงหน่วยงานรัฐบาลในมาเลเซีย มองโกเลีย และไทย ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลได้ตรวจสอบเอกสารที่รั่วไหลมาจากไอ-ซูน ซึ่งเปิดเผยว่าบริษัทดังกล่าวเป็นหนึ่งในหลายบริษัทเอกชนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้เพื่อดำเนินปฏิบัติการสอดแนมทั่วโลก

ทีมที 5 ได้ติดตามการเพิ่มขึ้นของความพยายามในการเจาะระบบที่ “พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง” โดยกลุ่มชาวจีนในภูมิภาคแปซิฟิกและไต้หวันตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมา “เราคิดว่าเป้าหมายของพวกเขาคือการแทรกซึมเป้าหมายเฉพาะและขโมยข้อมูลและข่าวกรองสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การทหาร หรือการค้า” นายฉางกล่าวกับ
เดอะการ์เดียน

ตามข้อมูลจากนักวิจัยด้านความมั่นคง จีนไม่ได้เป็นเพียงประเทศเดียวที่มีกิจกรรมทางไซเบอร์ที่เป็นอันตราย อิหร่าน เกาหลีเหนือ และรัสเซียต่างก็ใช้ยุทธวิธีที่คล้ายคลึงกันในการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา สร้างรายได้ และคุกคามคู่แข่งทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2566 รัฐบาลเผด็จการทั้งสี่ประเทศนี้มีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้สนับสนุนมากกว่าร้อยละ 75 ของการโจมตีทางไซเบอร์ทั้งหมดที่ต้องสงสัย ตามข้อมูลจากคณะมนตรีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ

สหรัฐฯ ร่วมมือกับประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการสร้างขีดความสามารถด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ทั่วโลก โดยใช้ประโยชน์จากขีดความสามารถทางทหารและการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมเอกชน สถาบันการศึกษา หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และหน่วยงานทางการทูต โครงการเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายที่มีความยืดหยุ่นและกลยุทธ์ระดับชาติที่ปรับเปลี่ยนได้ โดยช่วยให้พันธมิตรและหุ้นส่วนสามารถขัดขวางและตามล่าผู้กระทำผิด ขับไล่ภัยคุกคามออกจากเครือข่ายดิจิทัล และดำเนินคดีกับอาชญากรไซเบอร์

การได้มาซึ่งข้อมูลและความเชี่ยวชาญ

ในด้านกลาโหม กองกำลังปฏิบัติภารกิจทางไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองบัญชาการไซเบอร์สหรัฐฯ ถูกส่งไปประจำการในที่ต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อตามล่าหากิจกรรมที่เป็นอันตราย พร้อมกับแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกกับอุตสาหกรรมนานาชาติและหุ้นส่วนข้ามหน่วยงานเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะความมั่นคงทางไซเบอร์ นอกจากนี้ กองบัญชาการไซเบอร์สหรัฐฯ ยังจัดการฝึกอบรม เช่น กิจกรรมประสานงานด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ระดับนานาชาติในช่วงปลาย พ.ศ. 2566 อีกด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่กล่าวว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงานร่วมกัน ความร่วมมือ และการสนับสนุนสำหรับหุ้นส่วน

กองทัพออสเตรเลียกล่าวว่าผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ของตนได้เข้าร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ของสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ในกิจกรรมประสานงานด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ระดับนานาชาติเพื่อตรวจหามัลแวร์ และปรับปรุงกระบวนการที่มีร่วมกัน ความพร้อม และการประสานงาน กองทัพออสเตรเลียยังได้จัดการฝึกลับทางไซเบอร์ร่วมกับสหรัฐฯ ขึ้นเป็นครั้งแรกโดยใช้ชื่อว่า ไซเบอร์
เซนทิเนลส์ ซึ่งจัดในกรุงแคนเบอร์ราเมื่อช่วงปลาย พ.ศ. 2566 ผู้เข้าร่วม รวมถึงเจ้าหน้าที่จากกองบัญชาการไซเบอร์ของกองทัพเรือสหรัฐฯ และกองบัญชาการโลกไซเบอร์ของกองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ ได้ป้องกันสินทรัพย์จากการโจมตีทางไซเบอร์จำลอง โดยมีผู้สังเกตการณ์จากแคนาดา นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร
นอกจากนี้ ทีมจากแคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี นิวซีแลนด์ สิงคโปร์
สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ยังได้เข้าร่วมการท้าทายทักษะทางไซเบอร์ของกองทัพออสเตรเลียเพื่อยกระดับความชำนาญและแลกเปลี่ยนเทคนิค

เจ้าหน้าที่จากกองทัพบกและกองทัพเรือออสเตรเลียเข้าร่วมการฝึกไซเบอร์
เซนทิเนลส์ ที่กรุงแคนเบอร์ราใน พ.ศ. 2566 ภาพนี้ได้รับการแก้ไขเพื่อวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคง กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย

ในขณะเดียวกัน การฝึกทางทหารแบบพหุภาคีมีการฝึกทางไซเบอร์เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงต้น พ.ศ. 2567 การฝึกคอบร้าโกลด์ที่ได้รับการสนับสนุนจากไทยและสหรัฐฯ มีทีมป้องกันทางไซเบอร์จากหลายประเทศเข้าร่วม ได้แก่ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สาธารณรัฐเกาหลี สิงคโปร์ ไทย และสหรัฐฯ ผู้เข้าร่วมได้ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความสามารถในการทำงานร่วมกันในระบบ “จำลองยุทธทางไซเบอร์” ซึ่งเป็นระบบจำลองเครือข่ายในสภาพแวดล้อมจริง และผู้เข้าร่วมได้รับโจทย์ให้ระบุหาและปกป้องพื้นที่สำคัญ ป้องกันโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ รวมข้อมูลข่าวกรอง และผสานการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนพหุชาติจากระยะไกล นอกจากนี้ ทีมต่าง ๆ ยังได้เผชิญหน้ากับผลกระทบจากการโจมตีทางไซเบอร์ที่ส่งผลต่อบริการฉุกเฉินและโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

สำหรับในญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่กล่าวว่าการโจมตีทางไซเบอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังมุ่งเป้าไปที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอื่น ๆ มากขึ้น การฝึกยามะซากุระได้มีเจ้าหน้าที่จากออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เข้าร่วม โดยผู้เข้าร่วมได้รวมองค์ประกอบความมั่นคงทางไซเบอร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2566 และจะทำเช่นนั้นอีกครั้ง น.อ. มาซาฮิโตะ นากาจิมะ ผู้บัญชาการฝ่ายปฏิบัติการทางไซเบอร์แห่งกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น กล่าวกับ ฟอรัม ระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ “เรามีวิธีการและขั้นตอนในการจัดการกับเหตุการณ์ทางไซเบอร์ แต่ไม่ได้มีเพียงวิธีเดียว” น.อ. นากาจิมะกล่าว “เมื่อเราได้มาอยู่ที่นี่ เราสามารถรวบรวมข้อมูล ความเชี่ยวชาญ และวิธีการใหม่ ๆ ในการจัดการกับเหตุการณ์ทางไซเบอร์”

การฝึกคีนเอดจ์ระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการฝึกบัญชาการและควบคุมที่จัดขึ้นทุกสองปีและยังมีออสเตรเลียเข้ามามีส่วนร่วมใน พ.ศ. 2567 ได้ผสานการปฏิบัติการทางไซเบอร์เข้ากับการฝึกกองกำลังร่วม แปซิฟิกเอนเดเวอร์เป็นการฝึกความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติแบบพหุภาคี การฝึกนี้ประกอบไปด้วยการฝึกอบรมร่วมกับหุ้นส่วนนานาชาติ หน่วยงานของสหรัฐฯ องค์กรเอกชน และหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ เพื่อช่วยให้ผู้เข้าร่วมปกป้องเครือข่ายดิจิทัล ตลอดจนตรวจจับและตอบสนองต่อการโจมตีทางไซเบอร์

ความร่วมมือจากนานาชาติ

มีประเทศกว่า 60 ประเทศได้ลงนามในปฏิญญาเพื่ออนาคตของอินเทอร์เน็ต พ.ศ. 2565 ซึ่งเรียกร้องให้อินเทอร์เน็ตมีความเปิดกว้าง เสรี เข้าถึงได้ทั่วโลก สามารถทำงานร่วมกันได้ และรักษาไว้ซึ่งอนาคตดิจิทัล การสร้างแนวร่วมที่สนับสนุนวิสัยทัศน์ดังกล่าวเป็นเสาหลักของยุทธศาสตร์ไซเบอร์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งเรียกพันธมิตรและหุ้นส่วนทั่วโลกว่า “ข้อได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นรากฐาน”

ความร่วมมือเช่น อูกัส ซึ่งเป็นข้อตกลงด้านความมั่นคงและเทคโนโลยีระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ สร้างกรอบการทำงานเพื่อปรับปรุงการประสานงานทางไซเบอร์และการแบ่งปันขีดความสามารถขั้นสูง สมาชิกอูกัสกำลังเสริมสร้างขีดความสามารถทางไซเบอร์ รวมถึงการปกป้องระบบการสื่อสารและระบบปฏิบัติการที่สำคัญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของทั้ง 3 ประเทศเหล่านี้กล่าวใน พ.ศ. 2566

ทีมจากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือกันในกิจกรรมประสานงานด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ระดับนานาชาติของกองบัญชาการไซเบอร์ของสหรัฐฯ ในช่วงปลาย พ.ศ. 2566 กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย

ความร่วมมือการเจรจาความมั่นคงจตุภาคี หรือ ควอด ซึ่งประกอบไปด้วยออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ตกลงที่จะขยายความร่วมมือทางไซเบอร์ใน พ.ศ. 2565 โดยมีก้าวแรกคือการแบ่งปันข้อมูล ทั้งสี่ประเทศนี้กำลังทำงานเพื่อให้หน่วยงานไซเบอร์ของตนสามารถแบ่งปันรายงานเกี่ยวกับการโจมตีทางไซเบอร์และความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์นิกเคอิเอเชีย ด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการและแหล่งที่มาของการโจมตีทางไซเบอร์ พันธมิตรจึงสามารถปรับใช้การป้องกันได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งสี่ประเทศนี้ยังดำเนินการเพื่อปรับใช้มาตรฐานความปลอดภัยร่วมกันสำหรับซอฟต์แวร์ที่หน่วยงานรัฐบาลใช้ ซึ่งอาจช่วยยกระดับความร่วมมือในระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์นิกเคอิเอเชีย

สมาชิกของควอดได้ให้คำมั่นที่จะสนับสนุนประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันด้วยเครื่องมือในการตรวจจับและป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ สมาชิกของควอด “เป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล การเชื่อมต่อ และความพร้อมรับมือ รวมทั้งกำลังใช้ความพยายามในการเสริมสร้างขีดความสามารถในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก เพื่อยกระดับความสามารถในการปกป้องเครือข่ายรัฐบาลและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญจากการรบกวนทางไซเบอร์” ซีเนียร์ไซเบอร์กรุ๊ปของควอดกล่าวในแถลงการณ์

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ญี่ปุ่นได้จัดการฝึกซ้อมความมั่นคงทางไซเบอร์เป็นครั้งแรกกับประเทศในบลูแปซิฟิก ผู้เข้าร่วมได้รับการฝึกอบรมด้านการตอบสนองต่อการโจมตีทางไซเบอร์และฝึกซ้อมการป้องกันการโจมตีจากมัลแวร์ที่มุ่งเป้าไปยังโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ตามรายงานของสำนักข่าวเกียวโดนิวส์ เจ้าหน้าที่รัฐบาลและผู้ให้บริการด้านการสื่อสารจากคิริบาส หมู่เกาะมาร์แชลล์ ไมโครนีเซีย นาอูรู และปาเลาได้เข้าร่วมการฝึก โดยมีฟิจิและตองงาเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ สหรัฐฯ ได้ส่งผู้ฝึกสอนไปเข้าร่วมการฝึกที่กวม และได้จัดเตรียมอุปกรณ์การฝึกอบรม

“แฮกเกอร์สามารถโจมตีเครือข่ายรัฐบาลและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของญี่ปุ่นและไต้หวันได้ เช่น การโจมตีผ่านประเทศเหล่านี้” นายฮิเดยูกิ ชิโอซาวะ ผู้ทำงานร่วมกับประเทศในบลูแปซิฟิกที่มูลนิธิสันติภาพซาซากาว่า ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในโตเกียว กล่าวกับเกียวโดนิวส์ “การจัดการฝึกอบรมทางเทคนิคให้กับประเทศเหล่านี้และการจัดหาซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสและเครื่องมือรักษาความมั่นคงทางไซเบอร์อื่น ๆ ให้พวกเขาจะช่วยลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงในส่วนอื่น ๆ ของอินโดแปซิฟิกด้วย”

นายชิโอซาวะเรียกการฝึกซ้อมนี้ว่า “การริเริ่มการทูตทางไซเบอร์ของญี่ปุ่น” ในภูมิภาค รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ร่วมมือกับออสเตรเลียและสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการวางสายเคเบิลใต้น้ำมูลค่า 3.22 พันล้านบาท (ประมาณ 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ที่จะขยายการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสำหรับคิริบาส ไมโครนีเซีย และนาอูรู

การดำเนินการด้านไซเบอร์ของญี่ปุ่นรวมถึงการสนับสนุนทางการเงินและความเชี่ยวชาญทางเทคนิคสำหรับศูนย์เสริมสร้างขีดความสามารถด้านความมั่นคงทางไซเบอร์อาเซียนและญี่ปุ่น ซึ่งได้จัดการฝึกอบรมทางไซเบอร์ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลและผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญกว่า 1,500 คนนับตั้งแต่เริ่มเปิดทำการในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2561 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

เกาหลีใต้และสหรัฐฯ ก็ได้ร่วมมือกันจัดการภัยคุกคามทางไซเบอร์เช่นกัน หน่วยงานความมั่นคงทางไซเบอร์และโครงสร้างพื้นฐานและหน่วยข่าวกรองแห่งชาติของรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ตกลงร่วมมือกันในช่วงปลาย พ.ศ. 2566 เพื่อเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานสำหรับโครงสร้างพื้นฐานทางไซเบอร์และจัดตั้งการฝึกอบรมและการฝึกซ้อมทางไซเบอร์ ความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปตามคำมั่นสัญญาของนายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ และนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการขยายสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันของประเทศพันธมิตรทั้งสองนี้ให้เข้าสู่ขอบเขตดิจิทัล ใน พ.ศ. 2566 ระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งแรก ผู้นำของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนการรับมือกับกิจกรรมทางไซเบอร์ที่เป็นอันตรายของเกาหลีเหนือ รวมถึงการขโมยทางดิจิทัลที่เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธที่ถูกสั่งห้ามของรัฐบาลเกาหลีเหนือ

ความร่วมมืออื่น ๆ ที่กำลังขยายขอบเขตขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ได้แก่

โครงการความมั่นคงไซเบอร์อินเดียและสหรัฐฯ ซึ่งรวบรวมผู้เชี่ยวชาญเข้าเป็นหนึ่งเดียวเพื่อช่วยบรรเทาภัยคุกคามและส่งเสริมความมั่นคง

ความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างอินโดนีเซียและสหรัฐฯ ซึ่งผู้นำของทั้งสองประเทศได้มุ่งมั่นที่จะต่อต้านภัยคุกคามทางไซเบอร์จากผู้กระทำการของภาครัฐและที่ไม่ใช่ของภาครัฐ

แนวทางการป้องกันของฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ในการ “ปกป้องโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและสร้างการป้องกันจากการโจมตีที่มาจากผู้กระทำที่เป็นรัฐและผู้กระทำที่ไม่ใช่รัฐ โดยการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับความสามารถในการทำงานร่วมกัน”

บันทึกความเข้าใจระหว่างสิงคโปร์และสหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างการแบ่งปันข้อมูลและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านความมั่นคงทางไซเบอร์

คำมั่นสัญญาของไทยและสหรัฐฯ ในการเพิ่มความร่วมมือด้านเทคโนโลยีเพื่อให้แน่ใจว่าอาชญากรจะต้องถูกดำเนินคดีและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญจะได้รับการปกป้อง

การเจรจาด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ รวมถึงความร่วมมือที่รัฐบาลเวียดนามวางแผนไว้กับผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐฯ เพื่อรับมือกับอาชญากรรมทางไซเบอร์และภัยคุกคามดิจิทัลอื่น ๆ

กลยุทธ์ความมั่นคงทางไซเบอร์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสนับสนุนพันธมิตรและหุ้นส่วนทั่วโลกในการสร้างขีดความสามารถทางไซเบอร์ เพิ่มประสิทธิภาพให้กับบุคลากร และขยายการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อการป้องปรามและความพร้อมรับมือทางดิจิทัล กลยุทธ์ดังกล่าวระบุว่า “ความสัมพันธ์ทางการทูตและกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ถือเป็นแรงสนับสนุนกำลังรบที่ขยายไปสู่โลกไซเบอร์ ทำให้สามารถประสานงานได้อย่างรวดเร็วและตระหนักถึงภัยคุกคามที่เกิดขึ้นใหม่” “เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ เราจะปรับปรุงประสิทธิภาพและความมั่นคงของเราในโลกไซเบอร์ โดยการส่งเสริมชุมชนของประเทศที่มีขีดความสามารถทางไซเบอร์ซึ่งมีผลประโยชน์และค่านิยมร่วมกัน”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button