การปกป้อง ไต้หวัน
ทำความเข้าใจและรับมือกับภัยคุกคามทางทหาร เศรษฐกิจ และการเมือง
ดร. เชล โฮโรวิทซ์/มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-มิลวอกี
ไต้หวันที่ดำรงอยู่เป็นสังคมประชาธิปไตยและมีเสรีภาพกำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่ใกล้เข้ามา แม้ว่าการรุกรานและการปิดล้อมจะเป็นอันตรายที่ใหญ่ที่สุด แต่ภัยคุกคามทางเศรษฐกิจและการเมืองก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสนใจเช่นกัน ทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องกัน และทั้งหมดล้วนต้องการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องระหว่างญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนอื่น ๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าที่สำคัญเกิดขึ้นในการรับมือกับภัยคุกคามเหล่านี้ และในวันนี้ ความก้าวหน้านั้นก็ได้สร้างแรงผลักดันที่อาจจะเป็นตัวตัดสินได้ หากเป็นเช่นนี้ต่อไป มีความเป็นไปได้สูงที่จะยับยั้งการรุกรานของสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือพ่ายแพ้ไป
สหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นในนโยบาย “จีนเดียว” ที่มีมาอย่างยาวนาน โดยมีกฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวันเป็นแนวทาง ซึ่งนายจิมมี คาร์เตอร์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในตอนนั้น ได้ลงนามรับรองให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อ พ.ศ. 2522 หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวว่าจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนอย่างเป็นทางการ กฎหมายนี้อนุญาตให้มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและทางการทูตที่ไม่เป็นทางการระหว่างไต้หวันและสหรัฐฯ ซึ่งรับรองว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของจีน แต่ไม่ได้มีการกำหนดสถานะของไต้หวัน
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2492 พรรคคอมมิวนิสต์จีนมองว่าการปกครองตนเองอย่างต่อเนื่องของไต้หวันเป็นงานที่ยังไม่ได้รับการสะสาง แม้แต่อุดมการณ์ที่เล็กน้อยกว่าและมีความเป็นชาตินิยมมากกว่าของนายเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดของจีนตั้งแต่ พ.ศ. 2521 ถึงต้นทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2533-2542) ก็ได้ทำให้การผนวกรวมไต้หวันกลายเป็นเป้าหมายของนโยบายต่างประเทศระยะยาวที่สำคัญที่สุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน นับตั้งแต่การปรับปรุงความทันสมัยของกองทัพปลดปล่อยประชาชนในทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2533-2542) การเสริมสร้างขีดความสามารถครั้งใหญ่ก็ได้มุ่งเน้นไปที่การรุกรานไต้หวันและการขยายขีดความสามารถในการปฏิบัติการไปไกลกว่าทะเลจีนใต้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ภายใต้การนำของนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน อุดมการณ์ในการบุกเบิก “ยุคใหม่” และบรรลุแผน “การฟื้นฟูประเทศชาติ” ของจีนจึงกลายเป็นเรื่องเร่งด่วน เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับการนำพาจีนไปสู่จุดยืนที่โดดเด่นและเป็นศูนย์กลางมากขึ้นในเวทีโลก สร้างทางเลือกใหม่แทนระเบียบระหว่างประเทศที่นำโดยสหรัฐฯ และรวมถึงสิ่งที่อาจสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด นั่นคือการควบคุมไต้หวัน
ภัยคุกคามทางทหาร: เอาชนะการรุกราน
การรุกรานเป็นภัยคุกคามที่อันตรายที่สุดต่อไต้หวัน การป้องปรามเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันภัยคุกคามนี้ หากจีนเชื่อว่าการรุกรานไม่น่าจะประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นการช่วยป้องกันภัยคุกคามขนาดเล็ก เช่น การปิดล้อมหรือการโจมตีทางทหารในระดับที่จำกัด แต่หากจีนเชื่อว่าการรุกรานอาจจะสำเร็จ ก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินการต่อไปด้วยภัยคุกคามขนาดเล็ก เพื่อที่จะสามารถดูดกลืนไต้หวันได้โดยไม่ต้องทำสงครามเต็มรูปแบบ
การรุกรานต้องใช้กองกำลังขนาดใหญ่มากพอในการยกพลขึ้นบก และจากนั้นต้องเสริมกองกำลังและรักษาที่มั่นไว้จนกว่าการต่อต้านของไต้หวันจะล้มเหลว หากยังคงสภาพอยู่ กองกำลังสหรัฐฯ ในแปซิฟิกตะวันตกสามารถทำลายกองเรือรุกรานของกองทัพปลดปล่อยประชาชนและเรือสนับสนุนได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น กองทัพปลดปล่อยประชาชนจึงได้เตรียมการเปิดฉากโจมตีขนาดใหญ่ โดยไม่เพียงแค่มุ่งเป้าไปยังฐานทัพอากาศ ฐานทัพเรือ และสินทรัพย์ทางทหารของไต้หวันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และพันธมิตรอื่น ๆ ด้วย
มีองค์ประกอบสามอย่างที่จำเป็นในการเอาชนะการชิงโจมตีก่อนและการรุกรานที่ตามมาของกองทัพปลดปล่อยประชาชน นั่นคือ
หนึ่ง กองทัพไต้หวันต้องป้องกันไม่ให้เกิดการฝ่าแนวป้องกันจนเกินควบคุมของผู้รุกราน
สอง กองทัพสหรัฐฯ ต้องมีกำลังรบที่เหลือรอดและสนับสนุนเพื่อทำลายหรือทำให้กองเรือรุกรานของกองทัพปลดปล่อยประชาชนเสียหาย และกองกำลังสหรัฐฯ และไต้หวันต้องป้องกันไม่ให้กองทัพปลดปล่อยประชาชนใช้ท่าเรือและสนามบินในท้องถิ่นเพื่อการลำเลียงกำลังเสริมและเสบียง
สาม ไต้หวันต้องร่วมมือกับกองกำลังหลายแห่งและใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์เหล่านี้
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ไต้หวันวางใจจนเกินไปกับภัยคุกคามที่เติบโตขึ้นอย่างช้า ๆ งบประมาณทางการทหารลดลงจากเกือบร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศใน พ.ศ. 2536 เหลือประมาณร้อยละ 2 ในต้นทศวรรษ 2000 (พ.ศ. 2543-2552) นอกจากนี้ ไต้หวันยังคงยึดมั่นในยุทธศาสตร์ทางทหารแบบสมมาตร ซึ่งช่วยรักษาสินทรัพย์ทหารทางอากาศและทางเรือที่มีราคาแพงและเปราะบาง เพื่อเผชิญหน้ากับกองกำลังกองทัพปลดปล่อยประชาชนที่ก้าวหน้ามากขึ้น
ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 ไต้หวันเริ่มตื่นตัวกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นและเริ่มเตรียมตัวรับมือ งบประมาณทางการทหารเพิ่มกลับขึ้นมาเป็นประมาณร้อยละ 2.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศใน พ.ศ. 2567 ที่สำคัญกว่านั้น มีการนำยุทธศาสตร์อสมมาตรมาใช้ควบคู่ไปกับขีดความสามารถสมมาตรแบบดั้งเดิม แนวทางนี้เน้นการใช้ขีปนาวุธและอาวุธโดรนที่มีราคาถูกกว่าและมีโอกาสรอดสูงกว่า เพื่อโจมตีกองกำลังกองทัพปลดปล่อยประชาชนที่รุกรานทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ไต้หวันยังได้ละทิ้งความพยายามในการสร้างอาสาสมัครกองทัพอาชีพ และกลับไปใช้กองกำลังทหารเกณฑ์แทน ความพยายามที่สำคัญอื่น ๆ รวมถึงการลดการสูญเสียขีดความสามารถแบบสมมาตรและอสมมาตร โดยการเสริมความแข็งแกร่ง การกระจายกำลังและเตรียมพร้อมสำหรับการเคลื่อนกำลัง และการเตรียมการฝึกอบรมเพื่อตอบโต้ต่อการรุกรานอย่างรวดเร็วในจุดที่น่าจะเป็นไปได้จำนวนหนึ่ง ขณะที่ทำให้ผู้รุกรานไม่สามารถใช้งานสนามบินและท่าเรือที่เกี่ยวข้องได้
สหรัฐฯ ยังได้ค่อย ๆ ปรับยุทธศาสตร์ของตนใหม่ โดยยอมรับว่าจีนเป็นภัยคุกคามหลักและไต้หวันเป็นจุดเสี่ยงที่อันตรายที่สุดในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก การเตรียมการและการจัดหาของสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนแปลงไปเพื่อตอบสนองต่อปัญหาต่าง ๆ ที่คล้ายกัน เช่น การเสริมความแข็งแกร่ง การกระจายกำลังและการเตรียมพร้อมสำหรับการเคลื่อนกำลังของกองกำลังในภูมิภาค และการเพิ่มความสามารถในการโจมตีพิสัยไกลที่มีต้นทุนต่ำกว่า มีโอกาสรอดมากกว่า และมีแนวโน้มที่จะทำลายกองกำลังรุกรานของกองทัพปลดปล่อยประชาชนได้มากขึ้น
แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีนโยบายที่คลุมเครือเกี่ยวกับไต้หวันมาโดยตลอด แต่นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แสดงจุดยืนอย่างเปิดเผยว่าจะปกป้องไต้หวันจากการรุกราน ทำให้มีความเป็นไปได้น้อยที่ประธานาธิบดีในอนาคตจะก่อให้เกิดความขัดแย้งโดยการถอนคำมั่นนี้ เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวได้กล่าวย้ำหลายต่อหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ว่านโยบายของสหรัฐฯ ต่อไต้หวันยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง นโยบาย “จีนเดียว” ของสหรัฐฯ มีเป้าหมายในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเป็นเส้นทางน้ำระหว่างประเทศที่สำคัญต่อการค้าทั่วโลก นโยบายนี้รักษาสถานะที่เป็นอยู่เดิมโดยการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงโดยฝ่ายเดียวทั้งจากรัฐบาลจีนหรือรัฐบาลไต้หวัน แต่ถึงอย่างนั้น ประชาชนสหรัฐฯ และทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ต่างมีความตระหนักมากขึ้นถึงภัยคุกคามจากจีนที่แผ่ขยายไปกว้างขึ้น
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ผู้นำญี่ปุ่นได้ออกแถลงการณ์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในการสนับสนุนไต้หวัน พร้อมกันนั้นยังได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงด้านกลาโหมทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพครั้งใหญ่ เมื่อร่วมมือกัน ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ สามารถเตรียมการและปกป้องฐานทัพญี่ปุ่นในรูปแบบที่จะทำให้การรุกรานไต้หวันเป็นเรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จ ความพยายามเหล่านี้ยังปกป้องผลประโยชน์หลักอื่น ๆ ของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เช่น ห่วงโซ่เกาะที่ญี่ปุ่นถือครองระหว่างหมู่เกาะหลักและไต้หวัน ฐานทัพสหรัฐฯ และเส้นทางเดินเรือทางการทหารและพาณิชย์
ภัยคุกคามทางเศรษฐกิจ: สร้างความยืดหยุ่นและ สร้างความหลากหลายให้ห่วงโซ่อุปทาน
ภัยคุกคามทางเศรษฐกิจต่อไต้หวันมีสองมิติหลัก นั่นคือ ความพร้อมรับมือการรุกรานและการปิดล้อม และผลกระทบในวงกว้างที่มีต่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ความพร้อมรับมือทางเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับการปกป้องและสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติหน้าที่และทำงานที่จำเป็นในช่วงสงครามหรือการปิดล้อม กองทัพปลดปล่อยประชาชนมีเป้าหมายที่จะทำลายปฏิบัติการทางทหารและเศรษฐกิจของไต้หวัน ตลอดจนก่อให้เกิดความตื่นตระหนก อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะโจมตีเครือข่ายการสื่อสารและการขนส่ง โครงข่ายไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ สงครามระยะสั้นแต่รุนแรงหรือการปิดล้อมที่ยาวนาน ก็ล้วนเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ต้องมีการพัฒนามาตรการฉุกเฉินและฝึกซ้อมเพื่อปกป้องระบบและบริการที่สำคัญทั้งหมด สาธารณชนในวงกว้างควรมีส่วนร่วมและเรียนรู้ว่าจะต้องคาดการณ์ว่าจะพบกับอะไรบ้าง ท่ามกลางความสับสนของสงคราม สิ่งนี้จะช่วยให้สังคมพลเรือนที่เข้มแข็งของไต้หวันและเครือข่ายของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
บทบาทที่สำคัญที่สุดของไต้หวันในห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศอยู่ในภาคส่วนสารกึ่งตัวนำ บริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง เป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทแห่งนี้ผลิตชิปขั้นสูงที่สุดสำหรับธุรกิจที่สำคัญหลากหลายภาคส่วน ตั้งแต่รถยนต์และเครื่องจักรไปจนถึงโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคอื่น ๆ ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง เป็นผู้ผลิตสารกึ่งตัวนำกว่าร้อยละ 60 ของโลก ไต้หวันยังเป็นผู้ผลิตระดับโลกที่สำคัญสำหรับแล็ปท็อป เครื่องมือประเภทเครื่องจักร และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กโทรออปติกต่าง ๆ
ในช่วงทศวรรษแรก ๆ ของการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน ไต้หวันได้ยอมรับและเข้าร่วมกับการบูรณาการทางเศรษฐกิจกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลกของจีน หลายคนเชื่อว่าผลประโยชน์ที่รัฐบาลจีนได้รับจะทำให้การโจมตีไต้หวันกลายเป็นเหมือนการทำลายล้างทางเศรษฐกิจต่อทั้งสองฝ่ายอย่างแน่นอน แต่รัฐบาลจีนไม่เคยมีมุมมองเช่นนี้ รัฐบาลจีนพยายามที่จะดูดกลืน จากนั้นก็เลียนแบบและแทนที่เทคโนโลยีและการผลิตของไต้หวัน จนกระทั่งความขัดแย้งส่วนใหญ่คุกคามเศรษฐกิจของไต้หวัน และธุรกิจต่าง ๆ ของไต้หวันกลายเป็นผู้สนับสนุนจีนที่ถูกครอบงำอยู่ภายในไต้หวันเอง รัฐบาลจีนใช้วิธีเดียวกันนี้กับบริษัทต่างชาติรายอื่นที่ทำธุรกิจในจีน
ไต้หวันและประเทศอื่น ๆ ได้ตื่นตัวต่อความจริงนี้แล้ว ต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นได้ผลักดันผู้ผลิตที่ใช้แรงงานจำนวนมากหลายรายจากจีนไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียแล้ว ธุรกิจต่าง ๆ ยังต้องเผชิญกับการขโมยเทคโนโลยีอย่างแพร่หลาย การเลือกปฏิบัติด้านกฎระเบียบ และพฤติกรรมการข่มขู่เรียกเงินของหุ้นส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ความไม่ลงรอยกันทางภูมิรัฐศาสตร์และการกดขี่ทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงการหยุดชะงักที่เกิดจากโควิด-19 ภายใต้การนำของนายสี จิ้นผิง ทำให้นักลงทุนถอนตัวและเกิดการ “ลดความเสี่ยง” ในห่วงโซ่อุปทาน โดยเปลี่ยนไปสู่การแยกห่วงโซ่อุปทานระหว่างตลาดจีนและตลาดที่ไม่ใช่จีน
ผลที่ตามมาคือ การลงทุนของไต้หวันในจีนลดลงจากกว่าร้อยละ 80 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดใน พ.ศ. 2555 เหลือร้อยละ 13 ใน พ.ศ. 2566 เนื่องจากมีการย้ายการลงทุนไปยังที่อื่น ๆ ในเอเชียและสหรัฐฯ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2559 นโยบายมุ่งใต้ของไต้หวัน ซึ่งนำเสนอโดยนางไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันในขณะนั้น ได้มอบเงินอุดหนุนการขยายการค้า การลงทุน ความร่วมมือทางการศึกษาและวัฒนธรรมกับ 18 ประเทศในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียเนีย ตลาดส่งออกของไต้หวันก็ได้พัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน แม้ว่าการกระจายการส่งออกให้พ้นจากจีนจะไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การลดความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานของไต้หวันกำลังดำเนินไปอย่างราบรื่น
ในภาคส่วนเซมิคอนดักเตอร์ นโยบายต่าง ๆ กระตุ้นให้บริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริงและผู้ผลิตรายอื่น ๆ กระจายการผลิตไปยังภูมิภาคเศรษฐกิจหลัก ๆ ของโลก ในขณะที่การผลิตขั้นสูงสำหรับตลาดจีนของบริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริงยังคงอยู่ในไต้หวันเป็นส่วนใหญ่ นี่ก็ถือเป็นการจัดการที่ดีกว่าสำหรับบริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริงและบริษัทอื่น ๆ ในไต้หวันที่คล้ายกัน สงครามหรือการปิดล้อมจะขัดขวางการจัดหาสินค้าไปยังจีน ในขณะที่ส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อหุ้นส่วนของไต้หวัน ในขณะเดียวกันนั้น แม้จะมีโรงงานที่ถูกทำลายหรือหยุดชะงัก ก็ไม่อาจหยุดบริษัทข้ามชาติของไต้หวันที่ดำเนินงานจากโรงงานที่มั่นคงในต่างประเทศในการรักษาและฟื้นฟูกิจการของตนอย่างรวดเร็วได้
ภัยคุกคามทางการเมือง: การเสริมสร้างเจตจำนง
เช่นเดียวกับที่กิจการทางทหารทั้งหมดต้องบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง และดำเนินการตัดสินใจเลือกยุทธศาสตร์ที่มีความสมเหตุสมผลทั้งในทางการเมืองและทางทหาร การเมืองจึงเป็นหัวใจสำคัญในการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน ไม่มีสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นได้หากไม่มีเจตจำนงทางการเมือง สำหรับไต้หวันแล้ว นั่นหมายถึงผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งทำงานผ่านระบบพรรคการเมืองหลายพรรค ระบบตรวจสอบและถ่วงดุล ตอบสนองต่อความคิดเห็นของประชาชน ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประชาธิปไตยของไต้หวันได้ก้าวข้ามความนิ่งเฉยในอดีต และเดินหน้าไปสู่การปกป้องเกาะให้ดีขึ้นจากภัยคุกคามทางทหารและเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรและเพราะอะไร และเรื่องนี้บอกอะไรเราได้บ้าง หนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญคือขบวนการนักศึกษาทานตะวันใน พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นการประท้วงที่นำโดยนักศึกษา ที่ได้ขัดขวางข้อตกลงการซื้อขายแลกเปลี่ยนบริการต่าง ๆ ที่ฝ่ายค้านกล่าวว่าจะให้จีนมีอิทธิพลต่อไต้หวันมากเกินไป โดยเฉพาะในด้านการสื่อสารโทรคมนาคม สื่อมวลชน ความคิดเห็นของสาธารณชน และการเมือง ใน พ.ศ. 2559 ขบวนการดังกล่าวได้ช่วยให้พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าชนะการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ดูแลการปฏิรูปยุทธศาสตร์การป้องกันสงครามแบบสมมาตรดั้งเดิมของไต้หวัน และยโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการรวมตัวกับจีน การเปลี่ยนแปลงนโยบายสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานในความคิดเห็นของสาธารณชนตลอดทศวรรษที่ผ่านมา โดยการสำรวจพบว่ามีประชากรจำนวนมากในไต้หวันที่มีอัตลักษณ์ที่มุ่งเน้นไปที่วัฒนธรรมท้องถิ่น เสรีภาพ และประชาธิปไตยของไต้หวันในสัดส่วนที่มากขึ้น สาธารณชนยังคงยึดมั่นในการรักษาสถานะทางการเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่มีความเสี่ยงสูงกับจีน อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ตัวเลือกระยะยาวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือการรักษาสถานะที่เป็นอยู่ไปเรื่อย ๆ หรือถอยห่างจากการรวมตัวกับจีน
ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์แบบค่อยเป็นค่อยไปนี้ชัดเจนขึ้นจากเหตุการณ์ภายนอก ประการแรก “ยุคสมัยใหม่” ของ “การฟื้นฟูชาติ” ของจีนภายใต้การนำของนายสี จิ้นผิง เป็นภัยคุกคามต่อไต้หวันมากที่สุด นายสีไม่ได้ใช้คำพูดที่แข็งกร้าวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น นายสียังได้ลิดรอนเสรีภาพของฮ่องกง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำสามคนก่อนหน้าเขาตั้งใจทำไว้เพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับการรวมชาติอย่างสงบของไต้หวัน และนายสียังได้เพิ่มความเข้มข้นให้กับการฝึกซ้อมรุกรานทางทหาร และทำให้มีการดำเนินการฝึกเป็นกิจวัตรรอบ ๆ ไต้หวัน ประการที่สอง การรุกรานยูเครนอย่างผิดกฎหมายของรัสเซียแสดงให้เห็นว่าสงครามขนาดใหญ่เป็นภัยที่ใกล้เข้ามา และประเทศที่มีอำนาจขนาดเล็กที่มีความมุ่งมั่นสามารถต้านทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหตุการณ์เหล่านี้ได้เพิ่มการสนับสนุนการปฏิรูปการทหารของไต้หวัน ประมาณร้อยละ 75 ของประชาชนชาวไต้หวันจึงสนับสนุนการขยายเวลาการเกณฑ์ทหารจาก 4 เดือนเป็น 1 ปี ขณะที่ร้อยละ 70 กล่าวว่าตนจะต่อสู้เพื่อปกป้องไต้หวันจากการถูกรุกราน
ภัยคุกคามหลักทางการเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงของไต้หวันไปสู่นโยบายด้านกลาโหมและเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นคืออะไร แม้ว่าการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายไล่ ชิงเต๋อ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ในฐานะผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากนางไช่ อิงเหวิน จะหมายถึงการครองตำแหน่งสมัยที่สามติดต่อกันเป็นเวลาสี่ปี ของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า แต่ไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งควบคุมรัฐสภาอยู่ อย่างไรก็ตาม มีความเห็นพ้องต้องกันอย่างน่าประหลาดใจระหว่างพรรคการเมืองหลักสามพรรคในด้านนโยบายทางการทหารและเศรษฐกิจหลัก ๆ ทั้งในแง่อุดมการณ์ของพรรคและการสนับสนุนจากสาธารณะ
จีนยังได้สร้างปฏิบัติการสร้างอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญในไต้หวัน ตัวอย่างหนึ่งที่สังเกตเห็นได้คือ พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้วิธีการสื่อสารอย่างเข้มข้นและมีลักษณะที่คุกคาม เช่น ไต้หวันต้องกลับเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของจีนที่เป็นหนึ่งเดียว ผู้นำของไต้หวันกำลังทรยศต่อประชาชนและวัฒนธรรมจีนที่ยิ่งใหญ่และเป็นหนึ่งเดียว ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ล้มเหลว และจีนที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นสิ่งที่ดี ในขณะที่สหรัฐฯ เป็นสิ่งที่ไม่ดี นอกจากจะไม่เป็นความจริงแล้ว ข้อกล่าวหาเหล่านี้ยังไม่เป็นที่นิยมในไต้หวัน และนายสีก็ยิ่งทำให้เรื่องนี้แย่ลงไปอีก
ประการที่สองที่ดูจะมีประสิทธิภาพมากกว่า คือ จีนต้องการใช้วิธีการเผยแพร่ข้อโต้แย้งเหล่านี้ในรูปแบบที่แยบยลและไม่ชัดเจน ผ่านความสัมพันธ์ทางการเมืองท้องถิ่น สื่อมวลชน และสื่อสงคมออนไลน์ เป้าหมายคือการทำให้เกิดการแบ่งขั้วมากขึ้นในสังคม ทั้งในระดับสุดโต่งและในกลุ่มที่เบื่อหน่ายสังคม อย่างไรก็ตาม ประชาชนไต้หวันถือว่ามีความอ่อนไหวต่อการปฏิบัติการสร้างอิทธิพลน้อยกว่า เพราะการอภิปรายและการถกเถียงอย่างเข้มข้นต่อสาธารณะทำให้พวกเขามีข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นสำคัญอย่างต่อเนื่อง แผนการสร้างอิทธิพลของจีนยังได้รับการต่อต้านจากโครงการริเริ่มอย่างเป็นทางการและการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมที่ทันสมัยในไต้หวัน ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยการที่นายสีมีอำนาจ ก็มีความเป็นไปได้น้อยที่ไต้หวันจะลดความระมัดระวังตัวลง
การร่วมเดินหน้าต่อไปด้วยกัน
ไต้หวันมีความก้าวหน้าอย่างน่าทึ่งในการรับมือกับภัยคุกคามทางทหาร เศรษฐกิจ และการเมือง กองทัพของไต้หวันได้รับการจัดสรรงบประมาณที่ดีขึ้นและกำลังมุ่งสู่กลาโหมแบบอสมมาตรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ดำเนินโครงการริเริ่มที่สนับสนุนกัน ไต้หวันกำลังสร้างความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจภายใน และทำงานร่วมกับหุ้นส่วนเพื่อจัดตั้งห่วงโซ่อุปทานทางเลือกในต่างประเทศ การปฏิรูปเหล่านี้ได้รับการผลักดันโดยการนำทางการเมืองและความคิดเห็นของประชาชนที่มีความมุ่งมั่นมากขึ้นในการรับมือกับภัยคุกคามจากจีนแผ่นดินใหญ่ และปกป้องเสรีภาพและความสำเร็จของไต้หวัน
เนื่องจากนโยบายที่สนับสนุนซึ่งกันและกันยังคงดำเนินไปจนถึงจุดสำคัญ จึงจำเป็นที่จะต้องรักษาความก้าวหน้าในทุกด้านไว้ การทำเช่นนี้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องระหว่างญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหรัฐฯ แต่ละฝ่ายจะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้กับอีกฝ่าย สื่อสารขีดความสามารถ ความต้องการ และข้อเสนอแนะของตนเอง รวมทั้งตอบสนองต่อข้อเสนอแนะของหุ้นส่วนรายอื่น ๆ แต่ละฝ่ายต้องมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ที่รับผิดชอบได้อย่างดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการยับยั้งและเอาชนะภัยคุกคามจากการรุกราน แนวโน้มกำลังเคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ความสำเร็จนั้นจะต้องได้รับการรักษาไว้เป็นเวลาหลายทศวรรษ ควรส่งเสริมให้พันธมิตรและหุ้นส่วนอื่น ๆ มีส่วนร่วมในความพยายามในลักษณะที่ตอบสนองผลประโยชน์ของพวกเขา และรวมเอาความสามารถของพวกเขาเข้ามาด้วย ในที่อื่น ๆ ก็มีความก้าวหน้าที่สำคัญเช่นกัน ตั้งแต่ออสเตรเลีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงอินเดียและยุโรป
ดร. เชล โฮโรวิทซ์ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-มิลวอกี
เป็นนักวิจัยอาคันตุกะที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ ภายใต้โครงการนักวิจัยแห่งไต้หวันใน พ.ศ. 2567