การบีบบังคับของพรรคคอมมิวนิสต์จีนตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับความร่วมมือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจากประเทศพันธมิตรและหุ้นส่วน
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ท่าทีที่รุกรานมากขึ้นของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนแสดงให้เห็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนเต็มใจที่จะยอมเสี่ยงเพื่อเพิ่มความตึงเครียดในทะเลจีนใต้และช่องแคบไต้หวัน ในขณะเดียวกัน ประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันกำลังผนึกกำลังเพื่อรักษาเสถียรภาพของภูมิภาค
แทนที่จะมุ่งเน้นภารกิจการบังคับใช้กฎหมายแบบดั้งเดิมที่มุ่งเป้าไปยังผู้ลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมายหรือการค้นหาและกู้ภัย พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ส่งเรือกองกำลังรักษาชายฝั่งเพื่อเสริมกำลังทางทหารและใช้เป็นเครื่องมือในการเผชิญหน้ากับปัญหาข้อพิพาททางดินแดน การกระทำที่ผิดกฎหมาย บีบบังคับ ก้าวร้าว และหลอกลวงของกองกำลังทางทะเล รวมถึงการรบกวนการสำรวจน้ำมันและก๊าซของประเทศอธิปไตย รวมถึงการสกัดกั้นเรือทั้งทางทหารและพลเรือนที่ปฏิบัติการอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเหล่านั้น
สาธารณรัฐประชาชนจีนอ้างสิทธิ์อธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด โดยฝ่าฝืนคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศเมื่อ พ.ศ. 2559 ที่ทำให้การอ้างสิทธิ์ในดินแดนดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย รัฐบาลจีนเป็นผู้ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ซึ่งได้จัดตั้งศาลขึ้นมา แต่กลับปฏิเสธที่จะยอมรับอำนาจของศาลดังกล่าว
การอ้างสิทธิ์ทางอาณาเขตที่ไม่มีมูลของจีนได้ล่วงล้ำเข้าไปในน่านน้ำอธิปไตยที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติของหลายประเทศ รวมถึงฟิลิปปินส์ ซึ่งเปิดเผยการระดมบีบบังคับที่รัฐบาลจีนดำเนินการมาอย่างยาวนานต่อการลาดตระเวนทางทหารและเรือประมงพลเรือน พร้อมทั้งยังมีผลกระทบต่อบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนามอีกด้วย
รัฐบาลจีนอ้างสิทธิ์ในไต้หวันและข่มขู่จะใช้กำลังเข้ายึดครอง ในระหว่างที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนดำเนินการซ้อมรบทางทหารที่บั่นทอนความมั่นคงในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งได้ล้อมรอบเกาะไต้หวัน อีกทั้ง เรือกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนได้ล่วงล้ำน่านน้ำที่อยู่ภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่นรอบหมู่เกาะเซ็งกะกุในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งรัฐบาลจีนยังอ้างสิทธิในอาณาเขตเหล่านี้ตามอำเภอใจ
ในทางกลับกัน พันธมิตรและหุ้นส่วนของภูมิภาคกำลังเสริมสร้างความร่วมมือกัน กองกำลังรักษาชายฝั่งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกาได้ตกลงร่วมกันในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 เพื่อยกระดับปฏิบัติการร่วมและขยายความร่วมมือกับพันธมิตรอื่น ๆ สนธิสัญญาดังกล่าวตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล การต่อต้านการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม รวมถึงการเสริมสร้างการค้นหาและกู้ภัย
ภารกิจสังเกตการณ์เรือในทะเลของกลุ่มควอดมีกำหนดการเริ่มต้นใน พ.ศ. 2568 กองกำลังพิทักษ์เขตแดนออสเตรเลียจะรวมเข้ากับกองกำลังรักษาชายฝั่งอินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เพื่อปรับปรุงการทำงานร่วมกันและส่งเสริมความปลอดภัยทางทะเล ผู้นำควอดกล่าว
ความร่วมมือที่เข้มแข็งสามารถช่วยส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎหมายทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ รวมถึงต่อสู้กับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย การบีบบังคับ ก้าวร้าว และหลอกลวง ซึ่งอยู่ในระดับที่ไม่ถึงขั้นปะทะทางทหาร นายพรากาช ปันนีร์เสลวัม นักวิจัยของโครงการความร่วมมือในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกของมูลนิธิญี่ปุ่น เขียนในนิตยสารเดอะดิโพลแมต
“กองกำลังรักษาชายฝั่งมีบทบาทสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบในทะเล โดยช่วยให้มีขอบเขตในการเฝ้าระวังทางทะเล คุ้มครองการประมง ต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัด และป้องกันการค้ามนุษย์และการลักลอบล่าสัตว์” นายปันนีร์เสลวัมกล่าว
นอกจากนี้ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังสามารถใช้ประโยชน์จากการสนับสนุนเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงผ่านความร่วมมือในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกของควอดสำหรับขอบเขตในการเฝ้าระวังทางทะเล ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมทางทะเลและโครงการริเริ่มทางทะเลเพื่อการฝึกอบรมในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งช่วยให้หุ้นส่วนติดตามและปกป้องน่านน้ำของตนได้ ความพยายามทั้งสองด้านจะเป็นเครื่องมือจัดการปัญหาการก่อการร้ายและอาชญากรรมทางทะเลอื่น ๆ ตามรายงานของนายปันนีร์เสลวัม
“ความร่วมมือของกองกำลังรักษาชายฝั่งในควอดยังช่วยเสริมสร้างกรอบความร่วมมือ “ควอดพลัส” ซึ่งเปิดโอกาสให้ประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่เผชิญความท้าทายจากจีนในด้านทะเล ได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด” นายปันนีร์เสลวัมระบุ “เมื่อประเทศเหล่านี้มองหาการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกควอดมากขึ้น โครงการริเริ่มนี้จึงสามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสร้างความมั่นใจ และเสริมสร้างแนวคิดในการเป็นพันธมิตรที่กว้างขึ้น เพื่อต่อต้านการกระทำทางทหารของจีนในภูมิภาคนี้”