โรเซาโร อันเยโล โรดริเกซ
ความมั่นคงของชาติไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องทางทฤษฎีสำหรับฟิลิปปินส์ เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่ประเทศได้เผชิญกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากทั้งภายในและภายนอกหมู่เกาะขนาดใหญ่แห่งนี้ที่ประกอบด้วยเกาะ 7,461 แห่ง ภายในประเทศได้เผชิญกับการก่อการร้ายจากกลุ่มคอมมิวนิสต์และกลุ่มศาสนาที่สุดโต่ง ส่วนภายนอกประเทศนั้น เงาของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่คืบคลานเข้ามานำมาซึ่งการคุกคามจากกองกำลังรักษาชายฝั่ง การรุกราน และความก้าวร้าว ซ้ำยังเผชิญกับความกังวลเกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติ การคุกคามทางไซเบอร์ และปัญหาสำคัญอื่น ๆ
เมื่อพิจารณาถึงขอบเขตและขนาดของภัยคุกคามเหล่านี้ กองทัพฟิลิปปินส์รู้มาโดยตลอดว่าจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวหน้า สร้างสรรค์ และมีความมุ่งมั่นในการเข้าใจสงคราม เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่เพิ่มขึ้น กองทัพฟิลิปปินส์จึงได้เลือกใช้เทคโนโลยีการจำลองเพื่อฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และรักษาความพร้อม
การเพิ่มความพร้อม
ในปัจจุบัน การจำลองสถานการณ์ทางทหารระดับมืออาชีพมีความสมจริงอย่างมาก สถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนได้โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เปิดโอกาสให้บุคลากรทางทหารได้เผชิญกับสภาวะที่หลากหลาย ซึ่งช่วยเพิ่มความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายในการปฏิบัติการที่หลากหลาย เทคโนโลยีอุปกรณ์สวมใส่และการสร้างแบบจำลองพฤติกรรมมนุษย์ช่วยเพิ่มความสมจริงของการฝึกซ้อม แพลตฟอร์มการจำลองแบบครบวงจรรวมเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้าด้วยกันเป็นระบบนิเวศเดียว ซึ่งทำให้สามารถจัดการฝึกซ้อมในหลายแขนงที่สามารถรวมเจ้าหน้าที่จากทั่วโลกได้
การจำลองสถานการณ์ออกแบบมาเพื่อรองรับความต้องการด้านการฝึกอบรมและการเตรียมความพร้อมที่หลากหลาย เทคโนโลยีการจำลองสถานการณ์ช่วยให้กองทัพฟิลิปปินส์สามารถฝึกซ้อมในสภาวะที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงได้ โดยไม่ทำให้ทหารต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการฝึกซ้อมจริง ตามรายงานของ พ.อ.
จูนี เจย์ บูซิโนส จากหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพบกฟิลิปปินส์
“การจำลองสถานการณ์ทางทหารช่วยให้ผู้ฝึกสอนของเราปรับแต่งสถานการณ์เพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์การฝึกอบรมที่เฉพาะเจาะจง ช่วยให้ทหารฝึกปฏิบัติภารกิจสำคัญซ้ำ ๆ รับมือกับสถานการณ์ที่หลากหลาย และช่วยให้ผู้ฝึกอบรมพัฒนาทักษะและกระบวนการตัดสินใจที่สำคัญ” พ.อ. บูซิโนสกล่าว
การจำลองสถานการณ์ช่วยให้เจ้าหน้าที่ได้ตระหนักถึงข้อผิดพลาดและทำการปรับเปลี่ยนได้ตามเวลาจริง ซึ่งช่วยเร่งกระบวนการเรียนรู้และส่งเสริมความพร้อมและการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง โดยการให้ข้อเสนอแนะแบบทันที การจำลองสถานการณ์ดังกล่าวยังช่วยอำนวยความสะดวกในการประสานงานทางปฏิบัติการระหว่างหน่วยทหารและเหล่าทัพต่าง ๆ รวมถึงการฝึกฝนทางยุทธวิธีสำหรับบุคคลและหน่วยเล็ก การจำลองสถานการณ์ช่วยให้ผู้บัญชาการสามารถปรับปรุงกระบวนการวางแผนและการตัดสินใจ รวมถึงการพัฒนายุทธศาสตร์และแผนการรบที่มีประสิทธิภาพ ฝึกฝนทักษะการเป็นผู้นำพร้อมกับจัดการปฏิบัติการได้ตามเวลาจริง
“การจำลองสถานการณ์ทางทหารสามารถสร้างสถานการณ์ที่มีสภาพแวดล้อมจริงเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทหารสามารถปรับตัวได้ดีขึ้นกับความซับซ้อนของการรบจริง” พ.อ. บูซิโนสกล่าว “การจำลองสถานการณ์สามารถปรับแต่งให้ตรงตามวัตถุประสงค์การฝึกอบรมที่เฉพาะเจาะจง เพื่อให้ทหารได้เผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย และส่งเสริมความยืดหยุ่นทางความคิดและเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิบัติการจริงที่ไม่สามารถคาดเดาได้”
การจำลองสถานการณ์สามารถจัดการกับความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านมนุษยธรรมซึ่งมีความสำคัญเมื่อต้องจัดการกับการก่อความไม่สงบเช่นเดียวกับที่ฟิลิปปินส์เจอในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา รวมถึงภัยคุกคามภายในประเทศที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ในการจำลองสถานการณ์เช่นนี้ สามารถจำลองการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและพลเรือน ซึ่งเน้นความสำคัญของความร่วมมือและการประสานงาน การจำลองสถานการณ์สามารถช่วยให้กองทัพเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การอพยพ การให้การรักษาพยาบาลระหว่างการรบ และการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และทรัพยากรอื่น ๆ
การช่วยชีวิตและการประหยัดทรัพยากร
การจำลองสถานการณ์ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและควบคุมได้ การจำลองสถานการณ์ไม่เพียงช่วยลดอุบัติเหตุในการฝึก แต่ยังช่วยให้ผู้ฝึกจัดการกับผลกระทบทางจิตใจและอารมณ์จากสถานการณ์ที่มีความเครียดสูง และพัฒนาความพร้อมรับมือได้ดีขึ้น ผู้เชี่ยวชาญกล่าว ประโยชน์ของการฝึกซ้อมจำลองในการรักษาความพร้อมทางทหารเห็นชัดได้จากช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งข้อจำกัดในการเดินทางและข้อจำกัดอื่น ๆ ทำให้ต้องเลื่อนการฝึกซ้อมจริงออกไป
การจำลองสถานการณ์สามารถลดค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและการเตรียมความพร้อม ซึ่งโดยปกติแล้วต้องใช้การสนับสนุน
ทางโลจิสติกส์อย่างกว้างขวางและมีค่าใช้จ่ายสูงในด้านการขนส่ง เชื้อเพลิง และโครงสร้างพื้นฐาน ตัวอย่างเช่น การศึกษาของกองทัพบกสหรัฐฯ พบว่าการใช้เครื่องจำลองการบินที่มีความละเอียดสูงสำหรับการฝึกซ้อมเฮลิคอปเตอร์ เอเอช-64 อาปาเช่ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 136,000 บาทต่อชั่วโมง (ประมาณ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ) โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความชำนาญ
การจำลองสถานการณ์ยังช่วยลดการสึกหรอและการใช้งานของยุทโธปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก ลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และยืดอายุการใช้งานของอาวุธและยุทโธปกรณ์อื่น ๆ
เรียนรู้ประสบการณ์จริงจากการจำลองสถานการณ์
กองทัพฟิลิปปินส์กำลังขยายโครงการฝึกซ้อมจำลองของตน ซึ่งเป็นแขนงที่สหรัฐฯ พันธมิตรที่มีมายาวนานของฟิลิปปินส์ เป็นผู้นำระดับโลก
กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ได้ทำพิธีเปิดเครื่องจำลองขีปนาวุธเครื่องแรกใน พ.ศ. 2565 ที่ฐานทัพอากาศบาซา ซึ่งอยู่ห่างจากมะนิลาไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 85 กิโลเมตร เพื่อฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สำหรับระบบขีปนาวุธเคลื่อนที่ระบบป้องกันจากพื้นสู่อากาศไพธอนและเดอร์บี หรือ สไปเดอร์ เครื่องจำลองมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาความสามารถในการตรวจจับ การควบคุมและสั่งการ รวมถึงการยิงขีปนาวุธ ระบบสไปเดอร์ช่วยป้องกันการคุกคามต่าง ๆ รวมถึงเครื่องบินจู่โจม เครื่องบินทิ้งระเบิด เฮลิคอปเตอร์ ขีปนาวุธร่อน และอาวุธระยะไกลอื่น ๆ ซึ่งสามารถยิงจากระยะที่ช่วยให้ผู้โจมตีหลีกเลี่ยงการตอบโต้ได้ เทคโนโลยีการจำลองสถานการณ์ยังนำมาใช้ในการฝึกอบรมนักบินสำหรับฝูงบินเฮลิคอปเตอร์แบล็
กฮอร์กของกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีการสั่งซื้อเกือบ 50 เครื่องตั้ง
แต่ พ.ศ. 2562 นักบินฝึกอบรมที่ศูนย์แห่งหนึ่งที่ดำเนินการโดย ซีเอซี บริษัทการบินและอวกาศในบรูไน
ใน พ.ศ. 2565 กองทัพฟิลิปปินส์ได้รับเครื่องจำลองใหม่สำหรับการฝึกหน่วยปฏิบัติยานเกราะเพื่อใช้ปืน 105 มม. การซื้อยานพาหนะจาก วูล์ฟเบอรี เอเชีย บริษัทกลาโหมในสิงคโปร์ และบริษัท พีที อินโดเซิร์ตส์จากอินโดนีเซียประกอบด้วยการจัดซื้อรถถังน้ำหนักเบา ซาบราห์ เอสค็อด และรถยนต์หุ้มเกราะพานดูร์ 2 กองทัพฟิลิปปินส์ยังใช้การจำลองสถานการณ์ทางทหารในการประชุมเชิงปฏิบัติการที่วิทยาลัยกลาโหมแห่งชาติ และในกิจกรรมการฝึกอบรมท้องถิ่นร่วมกับพันธมิตร
การเข้าร่วมการฝึกและการซ้อมที่จัดโดยพันธมิตรในภูมิภาคหรือนานาชาติเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีการจำลองสถานการณ์ของกองทัพฟิลิปปินส์ รวมถึงการสร้างความสามารถในการทำงานร่วมกันและความไว้วางใจระหว่างกองกำลังที่เข้าร่วม ตามรายงานของ น.อ. รอย วินเซนต์ ทรินิแดด รองผู้บัญชาการกองทัพเรือฟิลิปปินส์ การพัฒนาข้อตกลงทวิภาคีและโครงการความช่วยเหลือด้านความมั่นคงอาจมีการจัดเตรียมข้อกำหนดเพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านการป้องกันของฟิลิปปินส์ รวมถึงการสนับสนุนด้านการฝึกอบรมและเทคโนโลยีการจำลองสถานการณ์
รัฐบาลฟิลิปปินส์และรัฐบาลสหรัฐฯ อาจร่วมมือกันในโครงการเพื่อพัฒนาการจำลองสถานการณ์ทางทหาร ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสามารถของกองทัพฟิลิปปินส์ น.อ. ทรินิแดดกล่าว สหรัฐฯ อาจช่วยอำนวยความสะดวกในการถ่ายโอนเทคโนโลยี โดยการจัดหาซอฟต์แวร์การจำลอง ยุทโธปกรณ์ และความเชี่ยวชาญ เพื่อเสริมสร้างการวางแผนภารกิจและการฝึกซ้อมของกองทัพฟิลิปปินส์
กองทัพเรือฟิลิปปินส์เห็นศักยภาพที่แข็งแกร่งในการพัฒนาเทคโนโลยีการจำลองสถานการณ์ที่ไปต่อได้ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสามารถให้กับฟิลิปปินส์รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วน น.อ. ทรินิแดดกล่าว “การเชื่อมต่อและทำงานร่วมกับกองกำลังของพันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาคของเราอาจทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก (ทะเลจีนใต้) การร่วมมือกันครั้งนี้ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันและนำเสนอประสบการณ์การฝึกที่มีความสมจริงและบูรณาการมากขึ้น”
ประเพณีอันลึกซึ้ง ในด้านการจำลองสถานการณ์การรบ
ทหารของกองทัพฟิลิปปินส์มีความเข้าใจถึงคุณค่าของการฝึกซ้อมที่เข้มข้นมาเป็นเวลานาน ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 นายจอร์จ ฟอน ไรส์วิทซ์ นายทหารของกองทัพรัสเซีย ได้คิดค้นการทำสงครามแบบจำลองครั้งแรกที่ได้รับการนำมาใช้ในวงกว้างสำหรับการฝึกซ้อมทางทหาร ซึ่งรวมถึงในฟิลิปปินส์และทั่วภูมิภาคอินโดแปซิฟิก “การทำสงครามแบบจำลอง” ของเขากลายเป็นมาตรฐานระดับโลกสำหรับการจำลองสถานการณ์ความขัดแย้งส่วนใหญ่ตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
ใน พ.ศ. 2478 พล.อ. ดักลาส แมคอาเธอร์ จากกองทัพบกสหรัฐอเมริกาได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาทางทหารคนแรกของประเทศฟิลิปปินส์ ภายใต้การเป็นผู้นำของเขา กองกำลังฟิลิปปินส์ได้รู้จักกับแนวคิดปรัชญาการฝึกซ้อมและความพร้อมของกองทัพสหรัฐฯ สองปีก่อนหน้านั้น พล.อ. แมคอาเธอร์ได้กล่าวประโยคที่โด่งดังว่า “ไม่มีวิชาชีพใดที่การใช้เจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้รับการฝึกอบรมจะมีผลร้ายแรงหรือไม่สามารถแก้ไขได้เท่ากับในกองทัพ”
ในทศวรรษ 1950 (พ.ศ. 2493-2502) นายชาร์ลส์ โรเบิร์ตส์ นักธุรกิจชาวอเมริกัน ได้สร้างเกมกระดานชื่อ แทคทิคส์ ซึ่งเป็นเกมกระดานการทำสงครามเกมแรกที่สามารถวัดการเคลื่อนที่ของกองกำลังและความแข็งแกร่งในการต่อสู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางการรุกคืบอื่น ๆ
หลายทศวรรษต่อมา การจำลองสถานการณ์ด้วยคอมพิวเตอร์เริ่มมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกมเธียเตอร์สปีลของรีเสิร์ช อะนาลิซิส คอเปอเรชัน
เกมกันชิปของไมโครโปรส และไมโครซอฟต์ ไฟลท์ ซิมูเลเตอร์ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการฝึกซ้อมทางทหารทางอ้อม ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 การจำลองสถานการณ์ทางทหารได้พัฒนาความซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ความจริงเสมือน