การตอบโต้กับ อาวุธอานุภาพ ทำลายล้างสูง
ความร่วมมือในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกทำให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการป้องกัน
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกที่มีการรายงานนอกสาธารณรัฐประชาชนจีน คือชาวจีนที่เดินทางมาประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2563 ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของไทยได้เริ่มดำเนินการคัดกรองผู้โดยสารขาเข้า หลังจากมีรายงานการพบโรคปอดบวมชนิดนอกแบบในจีน ผู้โดยสารชาวจีนรายดังกล่าวมีผลตรวจเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่เป็นบวก ซึ่งรู้จักกันในชื่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2 หรือโควิด-19 ตามที่เรียกกันทั่วโลก ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา กระทรวงสาธารณสุขไทยพบผู้ป่วยเพิ่มอีก 14 รายในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก อย่างไรก็ตาม ภาวะการระบาดใหญ่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น
การตรวจพบโควิด-19 ในไทยไม่เพียงเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและการเฝ้าระวังโรคของไทยเท่านั้น ทว่ายังสะท้อนถึงความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของไทยกับโครงการลดภัยคุกคามร่วมกันของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 อีกด้วย ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไทยได้ดำเนินโครงการ
ฝึกอบรมการลดภัยคุกคามร่วมกันที่กระทรวงสาธารณสุข และได้บรณาการขีดความสามารถในการตรวจหาและรายงานโรค เช่น ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อ เข้ากับระบบห้องปฏิบัติการ โครงการไม่แพร่ขยายอาวุธระหว่างประเทศ ซึ่งบริหารจัดการโดยองค์กรต่าง ๆ เช่น หน่วยงานลดภัยคุกคามด้านกลาโหมของสหรัฐฯ ถือเป็นส่วนสำคัญของความพยายามในการลดภัยคุกคามร่วมกัน โครงการเหล่านี้มุ่งส่งเสริมให้ประเทศพันธมิตรสามารถระบุและลดภัยคุกคามทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามที่เกิดจากฝีมือมนุษย์หรือภัยคุกคามตามธรรมชาติจากปัจจัยต่าง ๆ
การระบาดของโควิด-19 ยืนยันถึงความรุนแรงของภัยคุกคามทางชีวภาพและเน้นย้ำถึงความสำคัญของการตรวจพบและจัดการกับภัยคุกคามเหล่านี้ โครงการลดภัยคุกคามร่วมกันไม่เพียงแต่เป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับภาวะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในกว่า 30 ประเทศ แต่ยังช่วยจัดการกับการระบาดของโรคอื่น ๆ เช่น โรคอีโบลา โรคซาร์ส และโรคทางเดินหายใจในตะวันออกกลางอีกด้วย นอกจากนี้ ความสามารถในการลดภัยคุกคามทางชีวภาพนี้ยังช่วยเตรียมความพร้อมและปกป้องประชาชนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกจากภัยคุกคามที่อาจเกิดจากอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงที่กำลังเพิ่มขึ้น
สภาพแวดล้อมของอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง
ยุทธศาสตร์ต่อต้านอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงของสหรัฐฯ พ.ศ. 2566 ได้เน้นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการพัฒนาอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยคาดว่าภัยคุกคามจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีนกำลังขยายคลังอาวุธนิวเคลียร์อย่างรวดเร็ว โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีหัวรบนิวเคลียร์มากกว่า 1,000 ลูกภายใน พ.ศ. 2573 พร้อมทั้งสร้างความคลุมเครือมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับนโยบาย “ไม่ใช้โจมตีก่อน” ของตน นอกจากนี้ จีนยังดำเนินการวิจัยทางเคมีและชีวภาพที่มีวัตถุประสงค์สองประการ โดยมุ่งเน้นที่สารเคมีและสารพิษที่ผลิตโดยมีพื้นฐานมาจากผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมซึ่งอาจนำไปใช้ในความขัดแย้งทางทหาร ตามรายงานยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ประจำ พ.ศ. 2566 เกาหลีเหนือยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคลังอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธทิ้งตัว โดยมีขีดความสามารถด้านอาวุธเคมีและชีวภาพที่สามารถนำไปใช้ในการทหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักวิเคราะห์ประเมินว่าคลังอาวุธเคมีของเกาหลีเหนือมีปริมาณหลายพันตัน ซึ่งประกอบด้วยสารเคมีที่ทำให้ระบบประสาทเสียหาย สารเคมีที่ก่อให้เกิดแผลพุพอง สารเคมีที่มีผลกระทบต่อเลือด และสารเคมีที่ทำให้หายใจลำบาก การจัดซื้อและการแพร่ขยายอาวุธของรัฐบาลจีนและเกาหลีเหนือทำให้มีการขนส่งวัสดุและส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องกับอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงทั้งผ่านภูมิภาคและทั่วโลก ตามที่รายงานในยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เนื่องจากภัยคุกคามจากอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงเพิ่มขึ้น สหรัฐฯ จึงมุ่งมั่นในการป้องปรามการโจมตีด้วยอาวุธประเภทนี้ โดยมุ่งเน้นให้กองกำลังศิลปะร่วมและประเทศพันธมิตรสามารถตรวจจับและรับมือกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ชีวภาพ รังสี และนิวเคลียร์ พร้อมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดภัยคุกคามเพิ่มเติมได้ หน่วยงานลดภัยคุกคามด้านกลาโหมถือเป็นเสาหลักสำคัญในความพยายามนี้
หน่วยงานดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้ผลิตอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง: หน่วยงานนี้มีบทบาทสำคัญในการลดภัยคุกคามจากอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง โดยสนับสนุนและสอดคล้องกับอนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพ อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี และสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อป้องกันและหยุดยั้งการแพร่ขยายของอาวุธเหล่านี้อย่างเต็มที่ หน่วยงานลดภัยคุกคามด้านกลาโหมได้ร่วมมือกับกว่า 65 ประเทศ รวมถึง 18 ประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และได้ปรับแต่งการสนับสนุนเพื่อให้ตอบสนองต่อเป้าหมายเฉพาะของหุ้นส่วนแต่ละราย
ฟิลิปปินส์
ท่ามกลางการขยายความสัมพันธ์ด้านกลาโหมระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการเน้นย้ำผ่านการขยายข้อตกลงความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศฉบับปรับปรุงใน พ.ศ. 2566 หน่วยงานลดภัยคุกคามด้านกลาโหมได้เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อภัยคุกคามทางชีวภาพและเคมีของรัฐบาลฟิลิปปินส์ และมอบเครื่องมือให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของฟิลิปปินส์เพื่อจัดการกับภัยคุกคามทางทะเลและการแพร่ขยายอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 หน่วยงานลดภัยคุกคามด้านกลาโหมได้ส่งมอบศูนย์ฝึกอบรมเสมือนจริงแห่งชาติในกรุงมะนิลาให้แก่รัฐบาลฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ที่ยาวนานเกือบ 10 ปีในการจัดการกับอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงและภัยคุกคามใหม่ ๆ ศูนย์ดังกล่าวจะเตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่รับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินในการตรวจจับและป้องกันภัยคุกคามทางชีวภาพและเคมี ผ่านการฝึกอบรมแบบเสมือนจริงและการประยุกต์ใช้งานจริง
“ศูนย์ฝึกอบรมเสมือนจริงแห่งชาติจะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับฟิลิปปินส์ในการรับมือกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นใหม่ โดยจะช่วยให้ความรู้และการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องแก่ผู้ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยของสาธารณชนตามมาตรฐานสากล เป้าหมายคือการเสริมสร้างความสงบและความปลอดภัยให้กับประเทศ พร้อมรับมือกับภัยคุกคามทางเคมี ชีวภาพ รังสี และนิวเคลียร์ รวมถึงการไม่แพร่ขยายอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง” พล.อ. ริคาร์โด เดอ เลออน ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานข่าวกรองแห่งชาติฟิลิปปินส์ กล่าวในแถลงการณ์
การลงทุนในศูนย์เฝ้าระวังชายฝั่งแห่งชาติและระบบเฝ้าระวังชายฝั่งแห่งชาติฟิลิปปินส์ของหน่วยงานลดภัยคุกคามด้านกลาโหมอย่างต่อเนื่อง ได้เสริมสร้างความสามารถของรัฐบาลในการเพิ่มการประสานงานระหว่างหน่วยงานและการเฝ้าระวังน่านน้ำภายในอาณาเขตและเส้นทางน้ำรอบประเทศ ฟิลิปปินส์เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นในด้านการตรวจจับและป้องปรามอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงในภูมิภาคทางทะเลที่มีความหนาแน่น โดยสามารถติดตามและสกัดกั้นเรือที่ขนส่งสิ่งผิดกฎหมายซึ่งฝ่าฝืนมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ได้สำเร็จ
การต่อต้านการแพร่ขยายอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง
ความสำเร็จของฟิลิปปินส์เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของโครงการริเริ่มระดับภูมิภาคในการต่อต้านการแพร่ขยายอาวุธ หน่วยงานลดภัยคุกคามด้านกลาโหมร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ของสหรัฐฯ เช่น สำนักงานสอบสวนกลาง หรือ เอฟบีไอ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเป็นผู้นำในการตรวจจับ ขัดขวาง และรื้อถอนเครือข่ายการแพร่ขยายอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง รวมถึงระบบการขนส่งและวัสดุที่เกี่ยวข้องทั่วโลก โครงการชั้นนำอย่างโครงการด้านความมั่นคงเกี่ยวกับการแพร่ขยายอาวุธ ได้รับการรับรองจาก 106 ประเทศ รวมถึงประเทศสำคัญ ๆ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งช่วยเสริมขีดความสามารถและความร่วมมือในการต่อต้านการแพร่กระจายอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง ในทำนองเดียวกัน นับตั้งแต่ พ.ศ. 2538 โครงการต่อต้านการแพร่ขยายอาวุธระหว่างประเทศได้ช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันและหยุดยั้งเครือข่ายการแพร่ขยายอาวุธ ผ่านการร่วมมือระหว่างหน่วยงานในเรื่องของทฤษฎี การฝึกอบรม และการจัดหาอุปกรณ์ยุทโธปกรณ์
ใน พ.ศ. 2566 หน่วยงานลดภัยคุกคามด้านกลาโหมได้อำนวยความสะดวกในการดำเนินภารกิจต่อต้านการแพร่ขยายอาวุธจำนวน 27 ครั้ง ร่วมกับ 12 ประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยได้ทำงานร่วมกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านศุลกากร หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และกองทัพ ในภูมิภาคที่มีการตัดผ่านของเส้นทางเดินเรือเชิงยุทธศาสตร์ การฝึกอบรมและการแลกเปลี่ยนในการต่อต้านการแพร่ขยายอาวุธแต่ละครั้งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคง ความร่วมมือ และการสนับสนุนร่วมกันในการสืบสวน ขัดขวาง และดำเนินคดีเกี่ยวกับอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง
การฝึกอบรมและการเตรียมความพร้อม
เนื่องจากเป็นเสาหลักของภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง การทำงานร่วมกันระหว่างพันธมิตรและหุ้นส่วนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง รากฐานของการบรรลุเป้าหมายนี้คือการเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความพร้อมของประเทศ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อการตรวจจับและรับมือกับภัยคุกคามจากอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง เพื่อบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว หน่วยงานลดภัยคุกคามด้านกลาโหมได้อำนวยความสะดวกในโครงการต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่หุ้นส่วนในการปกป้องประเทศจากภัยคุกคามอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง ตั้งแต่เครื่องมือลาดตระเวนด้านเคมี ชีววิทยา รังสี และนิวเคลียร์ ไปจนถึงเทคโนโลยีการกำจัดสารปนเปื้อนและอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หน่วยงานลดภัยคุกคามด้านกลาโหมยังคงขยายเครือข่ายพันธมิตรและหุ้นส่วนเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการต่อต้านการแพร่ขยายอาวุธ ตัวอย่างผลลัพธ์ของโครงการเหล่านี้คือการที่ไทยได้รับอุปกรณ์ตรวจจับด้านเคมี ชีววิทยา รังสี และนิวเคลียร์อีก 200 เครื่องเมื่อเร็ว ๆ นี้ พร้อมกับการฝึกอบรมสำหรับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงเจ้าหน้าที่จากศูนย์ฝึกอบรมการรับมือภัยพิบัติของกองทัพไทย และบุคลากรจากกองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ และตำรวจไทย ในเวลาเดียวกันที่ฟิลิปปินส์ หน่วยงานลดภัยคุกคามด้านกลาโหมได้ลงทุนมูลค่า 237 ล้านบาท (ประมาณ 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนการลาดตระเวนด้านเคมี ชีววิทยา รังสี และนิวเคลียร์ และเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการกำจัดสารปนเปื้อนจำนวนมากอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้สนับสนุนสำนักงานป้องกันอัคคีภัยและหน่วยตอบสนองพิเศษของฟิลิปปินส์ในการพัฒนาโครงการฝึกอบรมระดับชาติ และยกระดับความเชี่ยวชาญในด้านการป้องกันภัยเคมี ชีวภาพ รังสี และนิวเคลียร์ ความสามารถในการทำงานร่วมกันของหุ้นส่วนยังคงเติบโตไปพร้อมกับความสำเร็จที่ได้รับ
ความมุ่งมั่นที่ยั่งยืน
ตั้งแต่ พ.ศ. 2541 หน่วยงานลดภัยคุกคามด้านกลาโหมได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทั่วโลก เพื่อลดและกำจัดภัยคุกคามจากอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง รวมถึงวัสดุ เทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญ ระบบการจัดส่ง และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง
ความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ต่อภารกิจนี้ไม่เพียงแสดงออกผ่านงบประมาณหลายร้อยล้านดอลลาร์ที่จัดสรรในแต่ละปีสำหรับริเริ่มโครงการป้องกันอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง รวมถึงเคมี ชีวภาพ รังสี และนิวเคลียร์ แต่ยังมีการปรับปรุงที่วัดผลได้ในด้านขีดความสามารถและท่าทีระดับโลกอีกด้วย ซึ่งรวมถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับประเทศต่าง ๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการจัดการกับภัยคุกคามจากอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง ในขณะที่สภาพแวดล้อมทางปฏิบัติการยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงยังคงเป็นปัญหาสำคัญในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก สหรัฐฯ เองก็ยังคงเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ในการเสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อป้องกันการใช้อาวุธชีวภาพ เคมี และนิวเคลียร์ในสถานการณ์ความขัดแย้งและเหตุการณ์ก่อการร้าย