การซ้อมรบ ทางทะเล
โดรนทะเลอาจช่วยไต้หวันและ สนับสนุนอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างได้
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
ยูเครนซึ่งกำลังต่อสู้กับการรุกรานที่ผิดกฎหมายของรัสเซีย ได้นำเสนอยุทโธปกรณ์ทางทหารที่อาจเป็นประโยชน์ต่อไต้หวัน
เพื่อรักษาอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างและเพื่อยับยั้งไม่ให้กองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์จีนบุกรุกเกาะไต้หวันที่ปกครองตนเอง ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าไต้หวันควรติดตามดูการใช้งานเรือผิวน้ำไร้คนขับของยูเครน ซึ่งเรียกอีกอย่างว่าโดรนทะเลหรือโดรนทางทะเล รวมถึงการสร้างความเสียหายของโดรนเหล่านี้ต่อกองทัพเรือรัสเซียในทะเลดำตั้งแต่ พ.ศ. 2565 ยูเครนได้ใช้เรือผิวน้ำไร้คนขับ รุ่นมากุระ วี5 เพื่อการลาดตระเวนและใช้เป็นโดรนโจมตี ซึ่งเป็นเรือบรรทุกวัตถุระเบิดที่ออกแบบมาให้ระเบิดเมื่อชน
“ผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ไต้หวันควรพิจารณา” นายเคอร์รี ไรท์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของผู้บัญชาการคณะผู้ให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาในยูเครน กล่าวในการประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติการแปซิฟิกที่รัฐฮาวายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567
ผู้นำกองทัพไต้หวันได้สังเกตเห็นเรื่องนี้แล้ว สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติจงซานของไต้หวันเริ่มพัฒนาต้นแบบเรือผิวน้ำไร้คนขับสองรุ่นใน พ.ศ. 2566 และกองทัพไต้หวันได้สั่งซื้อยานพาหนะเหล่านี้กว่า 200 ลำ การผลิตจำนวนมากจะเริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2569 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไทเปไทมส์
การบีบบังคับที่เพิ่มขึ้นของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มุ่งเป้าไปที่ไต้หวัน โดยการใช้กลยุทธ์พื้นที่สีเทาที่รวมถึงการส่งเครื่องบินขับไล่เข้าใกล้เกาะและส่งเรือเพื่อลาดตระเวนน่านน้ำโดยรอบ ได้ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการรุกรานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่อาจเกิดขึ้น จีนอ้างว่าไต้หวันเป็นดินแดนของตนและข่มขู่ว่าจะผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจีน
กลยุทธ์ของไต้หวันคือการใช้เรือผิวน้ำไร้คนขับติดอาวุธเพื่อยับยั้งหรือโต้ตอบกับเรือรบและเรือยกพลขึ้นบกของกองทัพปลดปล่อยประชาชน โดยกองทัพเรือไต้หวันอาจใช้โดรนเหล่านี้ในการโจมตีใส่กองกำลังที่รุกราน และอาจขยายระยะปฏิบัติการด้วยการปล่อยโดรนทะเลจากเรือของกองทัพเรือ ตามรายงานของไทเปไทมส์
มีการนำโดรนทะเลมาใช้งานกว่าสิบปีมาแล้ว เยอรมนีเคยใช้เรือควบคุมระยะไกลในช่องแคบอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่มองว่าใช้งานได้ไม่มั่นคง
ตั้งแต่นั้นมา มีการนำโดรนทะเลมาใช้ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย การลาดตระเวน และการเฝ้าระวัง การรุกรานยูเครนของรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงการใช้โดรนในทางทหาร ซึ่งตรวจจับได้ยากเนื่องจากมีสัญญาณเรดาร์ต่ำ
ยูเครนระบุว่าโดรนทางทะเลของตนได้โจมตีเรือรัสเซียเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 นอกชายฝั่งของไครเมียที่ถูกยึดครอง ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ยูเครนระบุว่าได้จมเรือรบรัสเซียสองลำโดยใช้เรือผิวน้ำไร้คนขับ และในช่วงต้นเดือนมีนาคมได้ประกาศว่าโดรนของตนได้จมเรือลาดตระเวน เซอร์เก โคตอฟ ของกองเรือทะเลดำของรัสเซีย
กองเรือโดรน
โดรนทะเล มากุระ วี5 ของรัฐบาลยูเครนที่มีลักษณะล้ำสมัย มีความยาว 5.5 เมตร น้ำหนักสูงสุดถึง 1,000 กิโลกรัม พร้อมน้ำหนักบรรทุก 200 กิโลกรัม และอายุการใช้งานแบตเตอรี่ 60 ชั่วโมง ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส นอกจากนี้ ยูเครนยังมีโดรน ซี เบบี้ ที่มีความยาว 6 เมตรอีกด้วย เรือผิวน้ำไร้คนขับเหล่านี้ “ได้กลายเป็นวิธีการแบบอสมมาตรที่มีประสิทธิภาพในการทำให้ขีดความสามารถของรัสเซียในการเดินเรือในทะเลดำอย่างต่อเนื่องด้อยลง” นายอาหมัด อิบราฮิม ซึ่งเป็นนักวิจัย เขียนในบทความเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ที่เผยแพร่โดยสถาบันศึกษาการวิจัยร่วมสมัยและยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในปากีสถาน
การโจมตีด้วยโดรนทางทะเลเกิดขึ้นในที่อื่น ๆ ด้วย ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านเริ่มใช้ขีปนาวุธโจมตีใส่เรือขนส่งเชิงพาณิชย์และเรือของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในทะเลแดงและอ่าวเอเดน ไม่กี่เดือนต่อมา สหรัฐฯ ระบุว่ากลุ่มกบฏดังกล่าวได้ใช้งานยานพาหนะใต้น้ำไร้คนขับเป็นครั้งแรกในน่านน้ำที่กลุ่มกบฏฮูตีควบคุมอยู่ในทะเลแดงใกล้เยเมน
แม้ว่าโดรนจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการทำสงคราม แต่ก็ไม่ใช่อาวุธวิเศษที่สามารถชนะสงครามได้เสมอไป ตามบทความในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ของวารสารดีเฟนส์แอนด์ซีคิวริตี้ อะนาลิซิส “โดรนมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ความขัดแย้งบางแห่ง และจะยังคงมีการใช้งานต่อไปด้วยเหตุผลทางการเมือง ไม่ใช่เหตุผลทางทหารและจิตวิทยาสังคม” นางซาราห์ เครปส์ ศาสตราจารย์ด้านการศึกษารัฐบาลของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ในนิวยอร์ก และ พ.ท. พอล ลูเชนโก จากกองทัพบกสหรัฐฯ เขียนไว้
บทความในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ของนายสก็อตต์ ซาวิตซ์ วิศวกรของแรนด์ คอร์ปอเรชัน ได้วิเคราะห์ศักยภาพของไต้หวันในการป้องกันตนเองจากการรุกรานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยการส่งเรือผิวน้ำไร้คนขับที่มีอาวุธระเบิดหลายพันลำเข้าโจมตีเรือรบของกองทัพปลดปล่อยประชาชน โดยเรือไร้คนขับเหล่านี้สามารถปล่อยออกจากท่าเรือตามชายฝั่งตะวันตกและเกาะนอกชายฝั่งของไต้หวันได้ โดยคาดการณ์ว่าโดรนแต่ละลำมีราคาอยู่ที่ 8.5 ล้านบาท (ประมาณ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งไต้หวันสามารถซื้อได้ 1,000 ลำโดยใช้เงินเพียงประมาณร้อยละ 1 ของงบประมาณด้านกลาโหมประจำปีของประเทศ ตามบทความที่เผยแพร่ในจดหมายข่าวเรียลเคลียร์ดีเฟนส์
อย่างไรก็ตาม นายซาวิตซ์ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ที่บัณฑิตวิทยาลัยพาร์ดีแรนด์ในแคลิฟอร์เนียด้วยเช่นกัน เขียนว่ากองเรือ
โดรนเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเอาชนะกองทัพปลดปล่อยประชาชน
ได้ แต่เมื่อสร้างความอันตรายต่อกองกำลังรุกรานได้มากขึ้น การใช้เรือผิวน้ำไร้คนขับราคาถูกหลายพันลำก็อาจเป็นภัยคุกคามต่อยุทโธปกรณ์ทางทะเลของกองทัพปลดปล่อยประชาชนได้ ซึ่งเพียงพอที่จะยับยั้งการโจมตี