รายงานระบุว่าเสรีภาพทางวิชาการของฮ่องกงได้รับผลกระทบภายใต้ระบอบความมั่นคง

วอยซ์ออฟอเมริกา
กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกงที่บังคับใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ได้ลดทอนเสรีภาพทางวิชาการในดินแดนอดีตอาณานิคมของสหราชอาณาจักรแห่งนี้ ตามข้อมูลจากรายงานที่เผยแพร่ในช่วงปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2567
รายงานจากกลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ระหว่างประเทศและสภาประชาธิปไตยฮ่องกงซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา ระบุว่าฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยได้เพิ่มการควบคุมและข้อจำกัดในกิจกรรมของนักศึกษา อีกทั้งนักศึกษาและคณาจารย์ต่างเริ่มมีการเซ็นเซอร์ตนเองมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา
“นักศึกษา นักวิชาการ และผู้บริหาร โดยเฉพาะผู้ที่มาจากฮ่องกงและกำลังศึกษาเรื่องราวทางสังคมและการเมืองร่วมสมัย รู้สึกราวกับว่าตนเองกำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด” รายงานดังกล่าวระบุ
นักวิเคราะห์ระบุว่า คำนิยามที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่ถือเป็นการละเมิดกฎหมายความมั่นคงได้สร้างผลกระทบที่น่าหวาดกลัวต่อมหาวิทยาลัยในฮ่องกง
นางมายา หวัง รองผู้อำนวยการฝ่ายจีนของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า “ความไม่ชัดเจนในเส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้จะสร้างความกลัวอย่างแพร่หลาย เป็นผลให้นักศึกษาและคณาจารย์จะพยายามปรับตัวเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา”
รายงานพบว่ามหาวิทยาลัยของรัฐบาลแปดแห่งในฮ่องกงได้รับการบริหารจัดการโดยบุคคลที่มีมุมมองสอดคล้องกับรัฐบาลจีน ภายหลังการบังคับใช้กฎหมายเมื่อ พ.ศ. 2563 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยได้เพิ่มข้อจำกัดที่เข้มงวดต่อสหภาพนักศึกษา รวมถึงสั่งห้ามการแสดงสัญลักษณ์หรือกิจกรรมที่พิจารณาได้ว่าเป็นการส่งเสริมค่านิยมประชาธิปไตย
“เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยได้ลงโทษนักศึกษาที่จัดการประท้วงและการชุมนุมอย่างสันติ รวมถึงเซ็นเซอร์สิ่งพิมพ์ การสื่อสาร และกิจกรรมต่าง ๆ ของนักศึกษาในวงกว้าง” รายงานดังกล่าวระบุ
ใน พ.ศ. 2562 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เสนอร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่อาจอนุญาตให้มีการส่งตัวผู้ต้องสงสัยในฮ่องกงไปพิจารณาคดีที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ความไม่พอใจต่อร่างกฎหมายที่เสนอได้นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ ซึ่งกลายเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนและสนับสนุนประชาธิปไตยในวงกว้าง
พรรคคอมมิวนิสต์จีนตอบโต้ด้วยการบัญญัติกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติผ่านการออกกฤษฎีกา เพื่อให้แน่ใจว่าผู้นำของเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลจีนจะจัดการกับสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนมองว่าเป็นการท้าทายต่ออำนาจของตนได้
นางหวังกล่าวว่า หลังจากที่มีนักศึกษาและนักวิชาการจำนวนมากเข้าร่วมในการประท้วงเมื่อ พ.ศ. 2562 หนึ่งในลำดับความสำคัญของรัฐบาลจีนภายหลังการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวคือ “การใช้มาตรการควบคุมทางอุดมการณ์” ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
“การลดทอนเสรีภาพทางวิชาการของมหาวิทยาลัยในฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลจีนที่จะใช้มาตรการควบคุมทางอุดมการณ์ทั่วทั้งเมือง” นางหวังกล่าว
นักศึกษาและนักวิชาการที่ให้สัมภาษณ์ในรายงานกล่าวว่าการเซ็นเซอร์ตัวเองถือเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวข้อทางสังคมและการเมืองที่เกี่ยวข้องกับจีนและฮ่องกง
รายงานระบุว่า “พวกเขาทำเช่นนี้เมื่อแสดงออกในห้องเรียน เมื่อเขียนและค้นคว้าบทความวิชาการ และเมื่อเชิญวิทยากรไปร่วมการประชุมวิชาการ” พร้อมเสริมว่านักวิชาการที่สอนเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันของฮ่องกงและจีนจะรู้สึก “เปราะบางเป็นพิเศษ”
ในบางกรณี เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยได้ขอให้นักวิชาการสาขาสังคมศาสตร์หยุดการสอนในหัวข้อที่รัฐบาลจีนมองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ส่วนนักวิชาการคนอื่น ๆ ก็ต้องเผชิญกับการเซ็นเซอร์ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรือสำนักพิมพ์ทางวิชาการกำหนดขึ้น
นักวิชาการบางคนกล่าวว่าการเซ็นเซอร์ตนเองอย่างแพร่หลายจะทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลวัตในจีนลดลง
นายลกมัน ซุย นักวิจัยจากซิติเซนแล็บของมหาวิทยาลัยโทรอนโตในแคนาดา และอดีตอาจารย์สอนสาขาวารสารศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกงกล่าวว่า “ฮ่องกงเคยเป็นพื้นที่สำคัญที่ให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ชุมชนระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกงและในจีนโดยรวม แต่ปัจจุบันพื้นที่นั้นกำลังหายไปอย่างรวดเร็ว”
ตามรายงานระบุว่า เนื่องด้วยฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยมีผู้สนับสนุนรัฐบาลจีนอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้บริหารหลายรายจึงร่วมมือกับทางการจีนและฮ่องกงในการกลั่นแกล้ง ข่มขู่ และขับไล่นักวิชาการที่แสดงความเห็นต่างออกไป
“รัฐบาลใช้วิธีการใส่ร้ายและข่มขู่นักวิชาการที่ตนมองว่ามีแนวคิดเสรีนิยมหรือสนับสนุนประชาธิปไตยในสื่อที่รัฐบริหารจัดการ รวมถึงปฏิเสธหรือไม่ออกวีซ่าให้กับนักวิชาการต่างชาติที่มีความคิดเห็นเช่นเดียวกัน” ตามข้อมูลจากรายงาน
ฮิวแมนไรท์วอทช์และสภาประชาธิปไตยฮ่องกงกล่าวว่า ความพยายามของรัฐบาลจีนในการ “ชำระล้าง” มหาวิทยาลัยได้นำไปสู่ความคิดเห็นที่ “เป็นเอกภาพ” ในวงการวิชาการของฮ่องกง
นางหวังกล่าวว่า มหาวิทยาลัยบางแห่งในฮ่องกงมีโครงการวิจัยร่วมและโครงการแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยต่างประเทศควรตระหนักถึงการกดขี่ควบคุมที่เกิดขึ้น
“มหาวิทยาลัยต่างประเทศควรหลีกเลี่ยงการยกย่องผู้ที่มีพฤติกรรมกดขี่ และควรจัดให้มีทุนการศึกษาหรือทุนสนับสนุนสำหรับนักศึกษาและนักวิชาการในฮ่องกงที่ถูกคุกคาม เพื่อให้พวกเขาสามารถทำการวิจัยของตนเองต่อไปนอกฮ่องกงโดยไม่มีความกลัว” นางหวังกล่าว