ความร่วมมือเอเชียใต้

มาลาบาร์ พ.ศ. 2567 มุ่งเน้นไปที่การปกป้องเส้นทางเดินเรือและการต่อต้านเรือดำน้ำ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

การฝึกซ้อมทางทหารพหุภาคีมาลาบาร์ พ.ศ. 2567 ที่อินเดียเป็นเจ้าภาพ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมในอ่าวเบงกอล โดยมีการฝึกขั้นสูงร่วมกันในหมู่กองทัพเรือของกลุ่มพันธมิตรความมั่นคงการเจรจาความมั่นคงจตุภาคี หรือ ควอด ซึ่งได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา กองกำลังที่เข้าร่วมการฝึกมุ่งเน้นไปที่การทำสงครามต่อต้านเรือดำน้ำ การทำงานร่วมกันทางทะเล และการยกระดับความมั่นคงในภูมิภาค

อ่าวเบงกอลเป็นศูนย์กลางสำคัญของเส้นทางคมนาคมทางทะเลที่เชื่อมโยงเอเชียตะวันออก รวมถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และคาบสมุทรเกาหลี เข้ากับแอฟริกาและตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นเส้นทางที่เกือบครึ่งหนึ่งของการค้าและพลังงานของโลกต้องเดินทางผ่าน การรักษาไว้ซึ่งการควบคุมเส้นทางเดินเรือและการรักษาเสถียรภาพของเส้นทางเหล่านี้ เป็นสิ่งสำคัญต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและพลังงานของหลายประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

ก่อนการฝึกซ้อม นายราชนาถ ซิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินเดีย ได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของอินเดียในการรักษาระบบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา ซึ่งรวมถึงการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศและการปฏิบัติตามหลักการของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล

“อินเดียได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในการหาทางแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ และพยายามส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก” นายซิงห์ กล่าวในการประชุมหารือระดับภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ที่นิวเดลีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวอินเดียน เอกซ์เพรส

ในการกล่าวสุนทรพจน์ที่เกี่ยวข้องในที่ประชุมดังกล่าว เสนาธิการทหารเรืออินเดีย พล.ร.อ. ดิเนช เค ทริพาตี เน้นย้ำถึงความสำคัญของพื้นที่มหาสมุทร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงร่วมกันของประเทศและภูมิภาค เขาส่งเสริมการร่วมมือและการทำงานร่วมกันเป็นเส้นทางสำคัญเพื่อสร้างความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ตามที่หนังสือพิมพ์รายงาน

ความตึงเครียดยังคงเพิ่มขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ส่วนใหญ่เกิดจากการที่จีนดำเนินกิจกรรมทางเรือในภูมิภาคนี้มากขึ้น นอกเหนือจากการที่จีนมีความก้าวร้าวเพิ่มขึ้นในทะเลจีนใต้ เรือของจีนที่อ้างว่าทำการวิจัย แต่กลับทำการสอดแนมจริง ๆ ได้เพิ่มกิจกรรมในมหาสมุทรอินเดียและอ่าวเบงกอลในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะเทเลกราฟ

สำหรับสหรัฐฯ และพันธมิตรและหุ้นส่วน การคงไว้ซึ่งอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการรับมือกับการเข้ามามีบทบาทที่ก้าวร้าวมากยิ่งขึ้นของจีนในภูมิภาคแห่งนี้ และเพื่อให้แน่ใจว่าจะยังคงเข้าถึงเส้นทางเดินเรือได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

ชุดการฝึกทางทะเลมาลาบาร์เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2535 โดยเป็นการฝึกซ้อมระหว่างสองประเทศ ได้แก่ กองทัพเรืออินเดียและกองทัพเรือสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2558 กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่นได้เข้าร่วมการฝึกมาลาบาร์ในฐานะสมาชิกถาวร และต่อมาใน พ.ศ. 2563 กองทัพเรือออสเตรเลียก็ได้เข้าร่วมการฝึกเป็นครั้งแรก

มาลาบาร์ ซึ่งปัจจุบันจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 28 ยังคงเติบโตขึ้นทั้งในด้านความซับซ้อนและการทำงานร่วมกันระหว่างกองกำลังและกองทัพเรือที่เข้าร่วม กองทัพเรือออสเตรเลียได้ส่งเรือฟริเกต เอชเอ็มเอเอส สจ๊วต เข้าร่วมการฝึกกับเรือบรรทุกเครื่องบิน เรือพิฆาต และเรือดำน้ำของอินเดียและสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่นได้ส่งเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ชั้นอิซึโมะและเรือรบอื่น ๆ เข้าร่วมการฝึก

การฝึกมาลาบาร์เกิดขึ้นหลังการฝึกตารัง ชัคตี 24 ซึ่งจัดโดยกองทัพอากาศอินเดียในเดือนสิงหาคมและกันยายน โดยมีเจ้าหน้าที่จากกองทัพอากาศออสเตรเลียและอีก 8 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ สิงคโปร์ ศรีลังกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ เข้าร่วมด้วย

พล.อ.ท. สตีเฟน แชปเพลล์ ผู้บัญชาการทหารอากาศออสเตรเลีย กล่าวยกย่องอินเดียว่าเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงระดับแนวหน้าของออสเตรเลีย โดยกล่าวว่า “ด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมระหว่างออสเตรเลียและอินเดีย รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับความร่วมมือเชิงปฏิบัติที่มีผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมีส่วนสนับสนุนต่อเสถียรภาพในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก” ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวอินเดียน เอกซ์เพรส

“การมีส่วนร่วมของอินเดียกับหุ้นส่วนของตนได้รับการชี้นำจากความเข้าใจว่าความก้าวหน้าที่แท้จริงสามารถทำได้ผ่านการดำเนินการร่วมกันและความร่วมมือ และด้วยความพยายามเหล่านี้ อินเดียจึงถือว่าเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงที่น่าเชื่อถือและเป็นผู้ตอบสนองอันดับแรกในภูมิภาค” นายซิงห์กล่าวในระหว่างการหารือที่นิวเดลี ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวอินเดียน เอกซ์เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button