อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ญี่ปุ่นเสริมสร้างการป้องกันเกาะด้วยเรือดำน้ำลำใหม่และยุทธศาสตร์หลายชั้น

ฟีลิกซ์ คิม

ด้วยความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับการรุกรานไต้หวันที่ปกครองตนเองโดยกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์จีน ญี่ปุ่นจึงเพิ่มการป้องกันหมู่เกาะนันเซทางตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นดินแดนของญี่ปุ่นที่อยู่ใกล้กับไต้หวันมากที่สุด

หมู่เกาะนันเซได้รับการปกป้องด้วยระบบป้องกันภัยทางอากาศที่แข็งแกร่งและพันธมิตรที่มั่นคงระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกา การโจมตีใด ๆ ต่อหมู่เกาะนี้จะทำให้เกิดการตอบโต้ที่หนักหน่วงและเด็ดขาด นอกจากนี้ เรือดำน้ำลำใหม่ของญี่ปุ่นที่ติดตั้งเทคโนโลยีล่องหน ระบบเฝ้าระวังขั้นสูง และอาจติดตั้งขีปนาวุธพิสัยไกล จะได้รับการนำมาใช้งานเพื่อปกป้องหมู่เกาะนี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อว่าหมู่เกาะริวกิว ตามข้อมูลจากนักวิเคราะห์

“จีนมีความสามารถในการคุกคามหมู่เกาะริวกิวไม่มากนัก เพราะมีฐานทัพของสหรัฐฯ อยู่บนเกาะโอกินาวะ ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะนี้ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จีนจะพยายามยึดครองเกาะด้วยการรุกราน” ดร. ทิโมธี ฮีธ นักวิจัยอาวุโสด้านกลาโหมระหว่างประเทศของบริษัทแรนด์คอร์ปอเรชัน กล่าวกับ ฟอรัม อย่างไรก็ตาม หากกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์จีนยอมเสี่ยงทำการโจมตี เรือดำน้ำของญี่ปุ่น “อาจช่วยจมเรือรบที่รุกรานเข้ามาได้” ดร. ฮีธกล่าว

กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่นได้ปล่อยเรือดำน้ำชั้นทาเงอิลำที่ห้าซึ่งมีชื่อว่า เจเอส โชเงอิ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 เรือเหล่านี้เป็นเรือดำน้ำที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ซึ่งใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและเครื่องยนต์ดีเซล เรือดำนี้ชนิดนี้สามารถปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนลับและภารกิจอื่น ๆ ได้ โดยมีแนวโน้มว่าจะมีการนำไปใช้เพื่อปกป้องหมู่เกาะนันเซ ตามข้อมูลจากนายคุนิอิจิ ทานิดะ นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิศวกรรมแห่งอนาคตในกรุงโตเกียว

เรือดำน้ำชั้นทาเงอิ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “นินจาทะเล” สามารถติดตั้งทุ่นระเบิดและตอร์ปิโดได้ นายทานิดะเขียนลงในบทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ Nippon.com การติดตั้งขีปนาวุธร่อนโทมาฮอว์กให้กับเรือดำน้ำจะช่วยให้เรือดำน้ำมีขีดความสามารถโจมตีแม่นยำเฉพาะจุดระยะไกล นายทานิดะกล่าว นั่นจะเป็นยานพาหนะทางยุทธศาสตร์และอุปกรณ์เพื่อการป้องปรามที่สำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับการตัดสินใจของญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2565 ที่จะติดตั้งขีดความสามารถในการโจมตีตอบโต้ให้กับกองกำลังป้องกันตนเอง

เรือดำน้ำชั้นทาเงอิอีกสองลำคาดว่าจะสามารถใช้งานได้ภายใน พ.ศ. 2570 และจะเข้าร่วมกับเรือดำน้ำรบชั้นโซริว 15 ลำที่ประจำการตั้งแต่ พ.ศ. 2552

ในกรณีที่เกิดการรุกรานไต้หวัน ซึ่งเป็นเกาะที่รัฐบาลจีนอ้างว่าเป็นดินแดนของตนและข่มขู่ว่าจะผนวกรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตนโดยใช้กำลัง ภัยคุกคามหลักต่อหมู่เกาะนันเซทางตะวันตกเฉียงใต้จะมาจากทางอากาศ ตามข้อมูลจาก ดร. ฮีธ “จีนอาจต้องอาศัยการโจมตีด้วยขีปนาวุธเพื่อสร้างความเสียหายต่อเครื่องบินและสิ่งปลูกสร้างทางทหารของสหรัฐฯ ในพื้นที่ดังกล่าว” ดร. ฮีธกล่าว

ยุทธศาสตร์การป้องกันหลายชั้นของญี่ปุ่นสำหรับหมู่เกาะนี้ รวมไปถึงระบบป้องกันขีปนาวุธทิ้งตัว เช่น เรือพิฆาตที่ติดตั้งระบบเอจิสและชุดระบบขีปนาวุธ แพทริออต พีเอซี-3 พร้อมด้วยเครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 และ เอฟ-15 ระบบขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ เช่น ไทป์ 03 และ ไทป์ 12 ประสานงานร่วมกับเรดาร์ ระบบเตือนภัยล่วงหน้า และยานพาหนะทางอากาศ

นายเก็น นากาทานิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น และนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้หารือเกี่ยวกับการป้องกันหมู่เกาะในช่วงต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567

“เราจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไปในโครงการที่สำคัญต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการป้องปรามและการตอบโต้ของพันธมิตร เช่น การปรับปรุงโครงสร้างการบังคับบัญชาและควบคุมระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ และการขยายการมีบทบาทร่วมกันในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้” นายนากาทานิกล่าวหลังจากการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ

ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button