ข่าวปลอมและนักข่าวที่ไม่มีตัวตนอยู่จริงเป็นส่วนหนึ่งของแผนการบิดเบือนข้อมูลของรัฐบาลจีน

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส
เมื่อนายเคิร์ต แคมป์เบลล์ นักการทูตสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางไปยังหมู่เกาะโซโลมอนเพื่อต่อต้านอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในประเทศแปซิฟิกใต้ เขาได้เห็นว่ารัฐบาลจีนจะทำทุกวิถีทางเพื่อเผยแพร่ข้อมูลของตนเอง
เช้าวันหนึ่งใน พ.ศ. 2565 นายแคมป์เบลล์ซึ่งปัจจุบันดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตื่นขึ้นมาและพบว่าสื่อท้องถิ่นได้ตีพิมพ์บทความจำนวนหลายหน้าเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการทางเคมีและชีววิทยาของสหรัฐฯ ในยูเครน ซึ่งข้อกล่าวอ้างดังกล่าวได้รับการเปิดเผยว่าเป็นเรื่องโกหกโดยสิ้นเชิง ข้อกล่าวอ้างอันเป็นเท็จและยั่วยุนี้เริ่มต้นมาจากรัสเซีย และแพร่กระจายออกไปอย่างเอาจริงเอาจังด้วยเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อจำนวนมากของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในต่างประเทศ
สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงตัวอย่างอีกรูปแบบหนึ่งของ “การบิดเบือนข้อมูลของรัสเซียและจีนที่ใช้ได้ผลอย่างชัดเจน” นายแคมป์เบลล์กล่าวกับคณะกรรมการความสัมพันธ์ต่างประเทศวุฒิสภา
สองปีต่อมา คํากล่าวอ้างดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ทางออนไลน์ และแสดงให้เห็นถึงความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนทั่วโลก โครงการบิดเบือนดังกล่าวมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องมาจากการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ การกระทําของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ดึงดูดความสนใจของนักวิเคราะห์ข่าวกรองและผู้กําหนดนโยบายของสหรัฐฯ กลยุทธ์สําคัญคือเครือข่ายเว็บไซต์ที่อ้างว่าเป็นสำนักข่าวถูกกฎหมาย ซึ่งนําเสนอรายงานที่สนับสนุนจีน และมักจะสอดคล้องกับแถลงการณ์และจุดยืนอย่างเป็นทางการของรัฐบาลจีน
นางแชนนอน แวน ซองต์ ที่ปรึกษาของมูลนิธิคณะกรรมการเพื่อเสรีภาพในฮ่องกง ได้ติดตามเว็บไซต์หลายสิบแห่งที่แอบอ้างว่าเป็นองค์กรข่าว ซึ่งเว็บไซต์หนึ่งได้มีการเลียนแบบเดอะนิวยอร์กไทมส์ โดยใช้แบบอักษรและการออกแบบที่คล้ายกันซึ่งเธอเรียกว่าความพยายามเพื่อสร้างความชอบธรรม เว็บไซต์ดังกล่าวมีเนื้อหาสนับสนุนจีนอย่างชัดเจน
เมื่อนางแวน ซองต์ค้นหาเกี่ยวกับผู้สื่อข่าวของเว็บไซต์ดังกล่าว กลับไม่พบข้อมูลใด ๆ ชื่อของผู้สื่อข่าวเหล่านี้ไม่ได้เป็นของผู้สื่อข่าวที่เป็นที่รู้จักคนใดที่ทำงานในสาธารณรัฐประชาชนจีน และรูปถ่ายของพวกเขาก็มีสัญญาณบ่งชี้ว่าสร้างขึ้นด้วยปัญญาประดิษฐ์
“สุดท้ายแล้วการควบคุมสื่อก็คือการควบคุมผู้อ่านและผู้ชม ซึ่งเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตยและสังคม” นางแวน ซองต์กล่าว
นอกจากสื่อของรัฐแล้ว รัฐบาลจีนยังหันไปพึ่งพาผู้มีบทบาทจากต่างประเทศ เพื่อถ่ายทอดข้อความและเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเรื่องเล่าที่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม นายเซียว เฉียง นักวิทยาศาสตร์การวิจัยที่คณะสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองเบิร์กลีย์ กล่าว วิธีการของรัฐบาลจีนนั้นมุ่งเป้าไปในวงกว้างและมักพิสูจน์ได้ยากว่าเชื่อมโยงกับรัฐบาลหรือไม่ นายเซียวกล่าว แต่ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวที่มีชื่อเสียงคล้ายชาวอเมริกันหรือผู้มีบทบาทโน้มน้าวชาวอินเดีย ข้อความที่สนับสนุนรัฐบาลจีนก็เผยให้เห็นตัวตนของพวกเขาได้ นายเซียวกล่าว
นักวิเคราะห์จากบริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ โลจิคอลลี ได้ระบุรายชื่อเว็บไซต์ 1,200 แห่งที่รายงานข่าวของสื่อของรัฐบาลรัสเซียหรือจีน เว็บไซต์เหล่านี้มักจะมุ่งเป้าไปที่ผู้ชมเฉพาะกลุ่ม อีกทั้งยังมีชื่อคล้ายกับองค์กรข่าวแบบดั้งเดิมหรือหนังสือพิมพ์ที่เลิกกิจการไปแล้ว
รัฐบาลจีนมุ่งเน้นไปที่การเผยแพร่เนื้อหาเชิงบวกเกี่ยวกับจีน
แม้ว่าเว็บไซต์เหล่านี้จะไม่ได้เป็นของรัฐบาลจีน แต่ก็มีเนื้อหาภาษาจีน เมื่อโลจิคอลลีพิจารณาเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งในสหรัฐฯ โดยเฉพาะ พบว่าร้อยละ 20 ของเนื้อหานั้นมาจากสื่อของรัฐบาลจีนหรือรัสเซีย
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บางส่วนต้องการเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อชิงความได้เปรียบ สภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติร่างกฎหมายเมื่อเดือนกันยายน ซึ่งจะอนุมัติเงิน 1.06 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 325 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปีจนถึง พ.ศ. 2570 เพื่อต่อต้านอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วโลก รวมถึงโครงการบิดเบือนข้อมูล ทว่าร่างกฎหมายดังกล่าวยังต้องรอการอนุมัติจากวุฒิสภา
“เราอยู่ในยุคการแข่งขันอิทธิพลทั่วโลกกับจีน และหากคุณต้องการชนะ คุณก็ไม่สามารถทำได้ด้วยงบประมาณระดับกลาง” นายเกรกอรี มีกส์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดโมแครตจากนิวยอร์ก กล่าว
นายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ขอให้มีการสร้างเรื่องเล่าของจีนขึ้นมาเพื่อให้ประเทศของตนมีสิทธิ์มีเสียงในระดับโลก “เทียบเท่ากับ” สถานะในระดับนานาชาติ
รัฐบาลจีนไม่ลังเลที่จะใช้ตัวตนปลอม รายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ พ.ศ. 2566 ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกรณีของนักเขียนที่ได้ตีพิมพ์ผลงานชื่อ อี้ ฟาน ซึ่งเดิมทีระบุว่าเป็นนักวิเคราะห์ของกระทรวงการต่างประเทศของจีน นางอี้ได้ผันตัวมาเป็นนักข่าว ก่อนจะผันตัวมาเป็นนักวิเคราะห์อิสระ
รายละเอียดของนางอี้มีการเปลี่ยนแปลง แต่ข้อความที่สนับสนุนจีนยังคงเหมือนเดิม นางอี้ได้เผยแพร่ข้อคิดเห็นและงานเขียนที่ได้ตีพิมพ์ โดยได้ส่งเสริมความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างจีนและแอฟริกา ชื่นชมแนวทางของรัฐบาลจีนในการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และโต้แย้งว่าจีนต้องต่อต้านเรื่องเล่าของชาติตะวันตก
จากนั้นก็มีบุคคลชื่อนายวิลสัน เอ็ดเวิร์ด ซึ่งสื่อจีนอ้างว่าเป็นนักไวรัสวิทยาชาวสวิสที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโควิด-19 ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์มาตรการรับมือของสหรัฐฯ แต่เจ้าหน้าที่สวิสไม่พบหลักฐานว่าเขามีตัวตนอยู่จริง
“หากคุณมีตัวตนอยู่จริง เราอยากพบคุณ!” สถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ในกรุงปักกิ่งเขียนข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์