การลาดตระเวนร่วมของอินโดนีเซียช่วยยกระดับความมั่นคงทางทะเล
กัสดี ดา คอสตา
กองทัพเรือและหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลอินโดนีเซีย ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับกองกำลังรักษาชายฝั่ง จะเพิ่มความถี่ในการลาดตระเวนร่วมกันในน่านน้ำอาณาเขตของประเทศ โดยได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลจากประเทศอื่น ๆ ด้วย โครงการริเริ่มนี้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของการลาดตระเวนในการต่อต้านภัยคุกคามทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ
ปฏิบัติการลาดตระเวนร่วม พ.ศ. 2567 ซึ่งดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงมิถุนายน มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการทำงานร่วมกันของกองกำลังความมั่นคงทางทะเลของอินโดนีเซีย ภารกิจที่มีระยะเวลา 100 วันนี้มุ่งเน้นไปที่พื้นที่ที่สำคัญ เช่น ช่องแคบมะละกา ช่องแคบสิงคโปร์ รวมถึงชายฝั่งทางเหนือและทางตะวันตกของมณฑลอาเจะห์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ปลายสุดตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย การลาดตระเวนที่คล้ายคลึงกันในช่วงต้น พ.ศ. 2566 มีผู้เกี่ยวข้องคือกองทัพเรือ ตำรวจทะเล และหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลอินโดนีเซียที่เรียกว่าคณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเล รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ
เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 พล.ร.ต. อาริอันเตโอ คอนโดรวิโบโว ผู้บัญชาการกองบัญชาการกองเรือที่ 2 หรือที่รู้จักในชื่อโกอาร์มาดา 2 แห่งกองทัพเรืออินโดนีเซีย และ พล.ร.อ. เฟอร์รี ซูปรีอาดี ผู้อำนวยการด้านนโยบายของคณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเล ได้มีการหารือเกี่ยวกับการลาดตระเวนด้านการรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงที่จะมีขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ทั้งสองยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือในการรักษาความสมบูรณ์ของขอบเขตทางทะเลของอินโดนีเซีย ซึ่งมีพื้นที่ 3.1 ล้านตารางกิโลเมตร และครอบคลุมเส้นทางเดินเรือที่สำคัญที่สุดของโลกเป็นจำนวนหลายเส้นทาง ตามข้อมูลในแถลงการณ์
“โกอาร์มาดา 2 จะพร้อมสนับสนุนคณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเลอยู่เสมอ เพื่อรักษาความมั่นคงของอาณาเขตทางทะเลของอินโดนีเซีย” พล.ร.ต. อาริอันเตโอกล่าว
พล.ร.ท. เดนิห์ เฮนดราตา แห่งกองทัพเรือ ยังได้กล่าวถึงความสำเร็จของการลาดตระเวนร่วมครั้งล่าสุด โดยระบุถึงการจับกุมเรือบรรทุกสินค้าของไลบีเรียจำนวนมาก ซึ่งต้องสงสัยว่าไม่มีเอกสารของลูกเรือ ขณะกำลังแล่นใกล้เกาะบูรูของอินโดนีเซีย
การลาดตระเวนร่วมดังกล่าวจะรับมือกับภัยคุกคามต่าง ๆ เช่น การลักลอบขนสินค้า การกระทำอันเป็นโจรสลัด การทำประมงที่ผิดกฎหมาย และการบุกรุกดินแดน นายมาร์เซลลัส ฮาเคง จายาวิบาวา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือชาวอินโดนีเซียและกัปตันเรือพลเรือน กล่าวกับ ฟอรัม
“การลาดตระเวนร่วมเหล่านี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการตรวจจับและรับมือภัยคุกคามทางทะเล รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร” นายมาร์เซลลัสกล่าว พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงบทบาทของพวกเขาในการรักษาอธิปไตยและสร้างความมั่นคงในภูมิภาค
“กองทัพเรือซึ่งมีขีดความสามารถด้านการสู้รบ ให้ความสำคัญกับภัยคุกคามทางทหารและกึ่งทหาร ในขณะที่คณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเลมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการบังคับใช้กฎหมายในทะเล รวมถึงการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย การลักลอบขนสินค้า และการละเมิดเขตแดนโดยเรือต่างชาติ” นายมาร์เซลลัสกล่าว การแบ่งหน้าที่ทำให้การตอบสนองมีความครอบคลุมและประสานงานกันมากขึ้น ส่งผลให้กรอบการทำงานด้านความมั่นคงโดยรวมมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการสนับสนุนการลาดตระเวนอย่างมาก นายมาร์เซลลัสกล่าว เรดาร์ ระบบแสดงตนอัตโนมัติ และการตรวจจับระยะไกลทำให้สามารถตรวจสอบตามเวลาจริงและตรวจจับกิจกรรมที่น่าสงสัยได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ นอกจากนี้ การบูรณาการอากาศยานไร้คนขับยังทำให้การเฝ้าระวังมีความยืดหยุ่นและรวดเร็ว ซึ่งช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับหน่วยงานรักษาความมั่นคงทางทะเลของอินโดนีเซียอีกด้วย
ทว่าความท้าทายก็ยังคงมีอยู่ เช่น ขั้นตอนและลำดับความสำคัญที่แตกต่างกันระหว่างหน่วยงานที่เข้าร่วม นายซิสวันโต รุสดี ผู้อำนวยการบริหารแห่งสถาบันการเดินเรือแห่งชาติอินโดนีเซีย กล่าว “อย่างไรก็ตาม สามารถลดทอนความท้าทายเหล่านี้ได้ด้วยการฝึกอบรมร่วมกัน การพัฒนาระเบียบการปฏิบัติการที่เป็นมาตรฐาน และการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารขั้นสูง” นายรุสดีกล่าว
กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย