การทดสอบหุ่นยนต์มีส่วนช่วยยกระดับขีดความสามารถด้านกลาโหมของออสเตรเลียภายใต้ความร่วมมืออูกัส

ทอม แอบกี
กองทัพออสเตรเลียยังคงพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีอัตโนมัติ ด้วยการนำระบบไร้คนขับที่ทำงานบนพื้นดินมาใช้งานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหุ่นยนต์เฝ้าระวังที่พัฒนาขึ้นในประเทศ
ทหารจากกรมทหารพิลบารา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเฝ้าระวังของกองกำลังระดับภูมิภาค กำลังทดสอบระบบไร้คนขับที่ทำงานบนพื้นดินเพื่อเสริมความมั่นคงบริเวณชายแดนในพื้นที่กว้างขวางและห่างไกล โครงการริเริ่มนี้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ด้านกลาโหมของออสเตรเลียภายใต้เสาหลักที่ 2 ของความร่วมมืออูกัสกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาระบบไร้คนขับ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีอื่น ๆ
วิดีโอจาก: กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย
ระบบไร้คนขับที่ทำงานบนพื้นดินติดตั้งเซ็นเซอร์และกล้องเพื่อการตรวจตราอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 วัน ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย หุ่นยนต์จะใช้เครื่องกำเนิดพลังงานเชื้อเพลิงเหลวภายในเพื่อชาร์จแบตเตอรี่และยืดอายุการใช้งาน
“การมอบอุปกรณ์นี้ให้กับผู้ใช้ปลายทาง เช่น กลุ่มเฝ้าระวังของกองกำลังระดับภูมิภาค จะทำให้เราได้เรียนรู้จากการลงมือทำท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ ในปฏิบัติการและสภาพแวดล้อม” พล.จ. เจมส์ เดวิส อธิบดีกรมการพัฒนาการทำสงครามภาคพื้นดินในอนาคตแห่งกองทัพออสเตรเลีย กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์
ระบบไร้คนขับที่ทำงานบนพื้นดินสามารถตรวจจับและติดตามวัตถุได้โดยอัตโนมัติ พร้อมส่งข้อมูลตามเวลาจริงไปยังผู้ควบคุมที่อยู่ห่างไกล ระบบนี้ช่วยขยายขอบเขตการเฝ้าระวังและลดการส่งกำลังพลในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากหรือเสี่ยงอันตราย กองทัพออสเตรเลียได้ร่วมมือกับบริษัทเอาท์ลุค อินดัสตรีส์ ในการพัฒนาระบบไร้คนขับที่ทำงานบนพื้นดิน ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคกิปส์แลนด์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย โดยหุ่นยนต์นี้ผลิตจากวัสดุในท้องถิ่น “การทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมในประเทศเปิดโอกาสให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ และเสริมสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมของออสเตรเลีย” พล.จ. เดวิสกล่าว
ในระหว่างการฝึกซ้อมทาลิสมันเซเบอร์แบบพหุภาคีช่วงกลาง พ.ศ. 2566 ทหารจากกองพันทหารช่างที่ 13 ของออสเตรเลียได้ทดสอบระบบไร้คนขับที่ทำงานบนพื้นดินที่ฐานทัพอากาศออสเตรเลีย ในเคอร์ติน ในออสเตรเลียตะวันตก เพื่อประเมินประสิทธิภาพของระบบในสถานการณ์ปฏิบัติการที่หลากหลาย ตามรายงานของนิตยสารออนไลน์ดีเฟนซ์ คอนเน็กต์
การนำระบบไร้คนขับที่ทำงานบนพื้นดินมาใช้งานควบคู่กับระบบอาวุธและยานพาหนะแบบดั้งเดิมในระหว่างการฝึกซ้อมที่จัดขึ้นทุกสองปีนี้ แสดงให้หุ้นส่วนนานาชาติได้เห็นถึงวิธีบูรณาการอากาศยานไร้คนขับเข้ากับยุทธศาสตร์กลาโหมที่กว้างขึ้น นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังสามารถสนับสนุนภารกิจที่ไม่ใช่การรบ เช่น การบรรเทาภัยพิบัติได้อีกด้วย
ออสเตรเลียจัดสรรงบประมาณด้านกลาโหม พ.ศ. 2567 มากกว่า 4.38 พันล้านบาท (ประมาณ 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อเร่งการพัฒนาและใช้งานระบบหุ่นยนต์และเทคโนโลยีอัตโนมัติ การลงทุนนี้จะช่วยให้กระทรวงกลาโหมสามารถเร่งการทดสอบและการใช้งานเทคโนโลยีแบบอสมมาตร เพื่อยกระดับความพร้อมในการปฏิบัติการให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
รัฐบาลออสเตรเลียมองว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เป็น “เทคโนโลยีสำคัญที่กำลังพัฒนาขึ้นใหม่ ซึ่งอาจช่วยให้กองทัพออสเตรเลียมีความได้เปรียบในความขัดแย้งในอนาคต” พ.ต. นิโคลัส บาร์เบอร์ แห่งกองทัพออสเตรเลีย เขียนในเดอะ โคฟ ซึ่งเป็นนิตยสารของกองทัพออสเตรเลีย เมื่อกลาง พ.ศ. 2567
ออสเตรเลียกำลังพัฒนาอากาศยานไร้คนขับควบคู่ไปกับระบบไร้คนขับที่ทำงานบนพื้นดิน เช่น โกสต์ชาร์ค ซึ่งจะมอบความสามารถในการเฝ้าระวังและลาดตระเวนใต้น้ำระยะไกลแบบอัตโนมัติ รวมถึงเครื่องบินรบ โกสต์ แบท ที่จะสนับสนุนการปฏิบัติงานของอากาศยานที่มีลูกเรือ
เจ้าหน้าที่ระบุว่าระบบเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของออสเตรเลียในการบูรณาการเทคโนโลยีอัตโนมัติในทุกมิติ ทั้งทางบก ทะเล และอากาศ เพื่อยกระดับความสามารถในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
“โกสต์ชาร์คเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถของกระทรวงกลาโหมและอุตสาหกรรมออสเตรเลียในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นอิสระอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายในปัจจุบัน” นายแพท คอนรอย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2567
ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์