กองกำลังพันธมิตรหลายชาติร่วมฝึกอบรมในอินโดแปซิฟิก
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
กองทัพบกสหรัฐอเมริกา โดยศูนย์เตรียมความพร้อมข้ามชาติร่วมแปซิฟิกได้จัดการฝึกอบรมที่ใหญ่ที่สุด ณ ศูนย์ฝึกอบรมการต่อสู้ ตั้งแต่วันที่ 7-16 ตุลาคม พ.ศ. 2567 โดยครอบคลุมการฝึกตั้งแต่อะแลสกาจนถึงฮาวายและปาเลา
เจ้าหน้าที่จากกองกำลังของออสเตรเลีย แคนาดา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย มัลดีฟส์ นิวซีแลนด์ ไทย และสหราชอาณาจักร เข้าร่วมกับกองกำลังสหรัฐฯ ในการฝึกอบรมร่วมแบบหลายมิติ ทั้งภาคสนาม ภาคเสมือนจริง และแบบสร้างสรรค์ที่จำลองสถานการณ์อันซับซ้อน
“ความสามารถในการทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราได้เรียนรู้จากการฝึกซ้อมนี้ เพราะเรามีโอกาสได้ทำงานร่วมกับประเทศอื่น ๆ หลายประเทศ” น.อ. อาลี ชารีฟ จากกลุ่มปฏิบัติการพิเศษนาวิกโยธินของกองกำลังรักษาความมั่นคงแห่งชาติมัลดีฟส์ กล่าว “ดังนั้นแล้ว ความสามารถในการทำงานร่วมกันจะส่งผลเต็มที่ในการฝึกซ้อมครั้งนี้”
การหมุนเวียนการฝึกของศูนย์เตรียมความพร้อมข้ามชาติร่วมแปซิฟิกแสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างไม่ลดละของกองทัพบกสหรัฐฯ และความมุ่งมั่นในการทำให้สหรัฐฯ และพันธมิตรและหุ้นส่วนพร้อมรับมือกับความท้าทายทุกรูปแบบ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การหมุนเวียนการฝึกประจำปีที่ผ่านมาทั้งสามครั้งของศูนย์เตรียมความพร้อมข้ามชาติร่วมแปซิฟิกได้ส่งกองกำลังพหุชาติไปยังพื้นที่ป่าร้อนชื้นของฮาวาย ภูเขาน้ำแข็งของอะแลสกา และประเทศพันธมิตรและหุ้นส่วน เช่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
กองทัพบกสหรัฐฯ ได้ก่อตั้งศูนย์เตรียมความพร้อมข้ามชาติร่วมแปซิฟิกขึ้นใน พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมการต่อสู้นอกแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี ในฐานะศูนย์ฝึกอบรมระดับแนวหน้าของกองทัพบกสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ศูนย์เตรียมความพร้อมข้ามชาติร่วมแปซิฟิกช่วยรับรองความพร้อมของกองกำลัง โดยมอบสภาพแวดล้อมการฝึกที่สมจริงซึ่งจำลองภูมิประเทศที่ท้าทายของภูมิภาค ตั้งแต่ป่าร้อนชื้น ทะเลทราย ภูเขาไฟที่มีความสูง ไปจนถึงหมู่เกาะต่าง ๆ การฝึกอบรมนี้ทำให้สหรัฐฯ และพันธมิตรและหุ้นส่วนสามารถแสดงให้เห็นถึงกองกำลังที่มีความน่าเชื่อถือในการรบในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและพื้นที่อื่น ๆ
“การดำเนินการนี้ช่วยให้เราสามารถรักษากองกำลังที่ได้รับการฝึกฝน เตรียมความพร้อม และส่งต่อไปยังภูมิภาคดังกล่าวได้” พล.อ. ชาร์ลส์ ฟลินน์ ผู้บัญชาการกองทัพบกสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก กล่าวใน พ.ศ. 2565 “ซึ่งจะช่วยให้เราสร้างความพร้อมในสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่เราน่าจะมีโอกาสได้ดำเนินปฏิบัติการได้มากที่สุด … อีกทั้งยังช่วยให้เราสามารถฝึกซ้อมกับประเทศหุ้นส่วนร่วมและข้ามชาติอีกหลายประเทศ”
ศูนย์เตรียมความพร้อมข้ามชาติร่วมแปซิฟิกเป็นโอกาสสำคัญสำหรับกองกำลังในการฝึกซ้อมภายใต้สภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก และเพื่อพัฒนาผู้นำ ระบบ และกระบวนการที่เพิ่มขีดความสามารถในภูมิภาค
ในการหมุนเวียนครั้งล่าสุด หุ้นส่วนจากหลายประเทศและหน่วยงานกองทัพบกสหรัฐฯ ได้จัดการฝึกซ้อมในสภาพแวดล้อมจำลองเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาพร้อมที่จะปฏิบัติการร่วมกันในสถานการณ์จริง
รูปแบบการฝึกของศูนย์เตรียมความพร้อมข้ามชาติร่วมแปซิฟิกให้ความเป็นอิสระอย่างมากแก่ผู้เข้าร่วมที่ฝึกเป็นกองกำลังฝ่ายตรงข้าม
“ที่ศูนย์เตรียมความพร้อมข้ามชาติร่วมแปซิฟิก พวกเราจะปฏิบัติการอย่างอิสระที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก ซึ่งนี่เป็นโอกาสให้เราฝึกในสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่สมจริงยิ่งกว่าการฝึกอื่น ๆ” น.อ. อาลี ชารีฟ จากกองกำลังรักษาความมั่นคงแห่งชาติมัลดีฟส์ กล่าว
ผู้เข้าร่วมได้ทดสอบสถานการณ์การต่อสู้และช่วงเวลาสันติภาพในสภาพแวดล้อมที่มีแรงกดดันสูงแบบตามเวลาจริง ผู้เข้าร่วมได้นำบทเรียนจากการหมุนเวียนครั้งอื่น ๆ มาปรับใช้และทดสอบเทคโนโลยีและระบบ เพื่อปรับปรุงความพร้อมในการต่อสู้และความสามารถในการตอบสนองต่อวิกฤตหรือความขัดแย้ง
“การออกไปยังสนามฝึกทำให้เราสามารถดำเนินการพิสูจน์แนวคิดได้” ร.ท. นาธาน มอร์แกน หัวหน้าหน่วยซ่อมบำรุงของกองทัพบกสหรัฐฯ กล่าว “ด้วยการวางแผนและฝึกซ้อมอย่างเหมาะสม เราสามารถปฏิบัติภารกิจหลักได้ในทุกสภาพแวดล้อม”
เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการหมุนเวียนของศูนย์เตรียมความพร้อมข้ามชาติร่วมแปซิฟิกที่ใหญ่ที่สุดในรัฐฮาวาย เจ้าหน้าที่รับรองว่าหน่วยต่าง ๆ ได้เตรียมพร้อมและทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพโดยการวางแผน ประสานงาน และดูแลกิจกรรมปฏิบัติการและการฝึกซ้อมทั่วทุกกองพัน
“ในลำดับเวลาของศูนย์เตรียมความพร้อมข้ามชาติร่วมแปซิฟิก เราดำเนินการบรรยายคำสั่งปฏิบัติการต่อผู้บังคับบัญชากองพล” ร.อ. คริสโตเฟอร์ โอโนราโต เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการจากทีมรบกองพลทหารราบเบาของกองทัพบกสหรัฐฯ กล่าว “นี่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้หน่วยย่อยทั้งหมด … สามารถประสานงานและทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายของเราในการปฏิบัติการที่ประสบความสำเร็จสำหรับศูนย์เตรียมความพร้อมข้ามชาติร่วมแปซิฟิก”