เกาหลีใต้เสริมระบบป้องกันสามแกนเพื่อยกระดับความพร้อมในการป้องกัน
ฟีลิกซ์ คิม
กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ได้เปิดเผยแผนการเสริมสร้างระบบป้องกันสามแกนของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ระบบดังกล่าวซึ่งเป็นเสาหลักของความมั่นคงแห่งชาติ ได้รับการออกแบบมาเพื่อรับมือกับภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องที่เกิดจากเกาหลีเหนือผ่านองค์ประกอบหลักสามส่วน ได้แก่ ระบบการชิงโจมตีก่อน คิล เชน ระบบป้องกันภัยทางอากาศเกาหลีใต้ และแผนการลงโทษและการตอบโต้ครั้งใหญ่ของเกาหลีใต้
ข้อเสนอดังกล่าวมุ่งเน้นที่การยกระดับขีดความสามารถทางปฏิบัติการ การบูรณาการเทคโนโลยีขั้นสูง และการเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐอเมริกาในระยะยาว
รายงานของกระทรวงกลาโหมเรียกร้องให้มีการเร่งพัฒนาและนำระบบอาวุธมาใช้งาน ปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อ และดำเนินการฝึกซ้อมอย่างเข้มงวดเพื่อเสริมสร้างแนวคิดทางปฏิบัติการให้ดียิ่งขึ้น “เราจะสร้างจุดยืนด้านกลาโหมที่มั่นคงของประเทศเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการยั่วยุใด ๆ จากเกาหลีเหนือ” กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ระบุเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567
การบูรณาการขีดความสามารถในการลาดตระเวนและเฝ้าระวังขั้นสูงถือเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับประสิทธิภาพครั้งนี้ ดร. บรูซ เบนเน็ตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือของบริษัทแรนด์คอร์ปอเรชัน กล่าวกับ ฟอรัม ขีดความสามารถดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการชิงโจมตีก่อนและการพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธ “เกาหลีใต้วางแผนที่จะใช้ดาวเทียมเพื่อตรวจจับตำแหน่งของกองกำลังนิวเคลียร์ อาวุธนิวเคลียร์ และผู้นำของเกาหลีเหนือ” ดร. เบนเน็ตต์กล่าว
หนึ่งในความก้าวหน้าที่สำคัญของเกาหลีใต้ในด้านนี้คือการติดตั้งดาวเทียมลาดตระเวนทางทหารดวงแรก ซึ่งปล่อยขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 และได้รับการรับรองว่า “เหมาะสำหรับการสู้รบ” โดยองค์การบริหารการจัดหาทางทหารในช่วงกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567
ดาวเทียมดังกล่าวมาพร้อมกับคุณสมบัติด้านอิเล็กโทรออปติก/อินฟาเรด ซึ่งช่วยให้การเฝ้าระวังสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ในเวลากลางคืน องค์การบริหารการจัดหาทางทหารยกย่องความสำเร็จนี้ว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของคิล เชน
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ดาวเทียมลาดตระเวนดวงที่สองซึ่งติดตั้งเรดาร์รูรับแสงสังเคราะห์ได้รับการปล่อยขึ้นสู่อวกาศ ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้มีขีดความสามารถในการติดตามเกาหลีเหนือและระบุเป้าหมายในทุกสภาพอากาศได้มากขึ้น
ดร. เบนเน็ตต์กล่าวว่า ภายใต้ระบบระบบป้องกันภัยทางอากาศ เกาหลีใต้กำลังพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธเพื่อเสริมขีดความสามารถของระบบที่สหรัฐฯ จัดหาให้ โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบโต้กลยุทธ์ของรัฐบาลเกาหลีเหนือที่พยายามโจมตีด้วยขีปนาวุธแบบถล่มทลายเพื่อทำให้ระบบป้องกันขีปนาวุธล้มเหลว
ความพยายามในการปรับปรุงแผนการลงโทษและการตอบโต้ครั้งใหญ่ของเกาหลีใต้ ซึ่งมุ่งเน้นที่การเสริมขีดความสามารถเพื่อรับมือการโจมตีอย่างรุนแรงจากเกาหลีเหนือ โดยเน้นการบูรณาการปัญญาประดิษฐ์และความสามารถทางไซเบอร์เพื่อเพิ่มความเร็วและความแม่นยำในการตอบสนอง
ปัญญาประดิษฐ์จะมีบทบาทสำคัญในการเร่งกระบวนการระบุเป้าหมายของเกาหลีเหนือ ซึ่ง “การระบุผู้นำ ขีปนาวุธ และตำแหน่งของอาวุธนิวเคลียร์อย่างรวดเร็วผ่านการจับคู่รูปแบบและวิธีการอื่น ๆ ช่วยลดระยะเวลาในวงจรข่าวกรองได้อย่างมาก”
ระบบสามแกนนี้มีพื้นฐานมาจาก “ร่มนิวเคลียร์” ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการป้องปรามการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ นายเบนเน็ตต์กล่าว ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 รัฐบาลเกาหลีใต้และรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ลงนามในแนวปฏิบัติร่วมกันเกี่ยวกับการป้องปรามการใช้อาวุธนิวเคลียร์และปฏิบัติการทางนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งมุ่งหวังที่จะเสริมสร้าง “นโยบายและจุดยืนในการป้องปรามการใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่เชื่อถือได้และมีประสิทธิภาพ” ตามรายงานในแถลงการณ์ร่วม
สำหรับการสนับสนุนการพัฒนาระบบสามแกน องค์การบริหารการจัดหาทางทหารได้ประกาศเพิ่มงบประมาณของระบบขึ้นร้อยละ 12 สำหรับ พ.ศ. 2567 ส่งผลให้รายจ่ายประจำปีอยู่ที่ 1.79 แสนล้านบาท (ประมาณ 5.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามรายงานของเจนส์ ซึ่งเป็นเว็บไซต์วิเคราะห์ด้านกลาโหม งบประมาณดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนโครงการทั้งหมด 57 โครงการ รวมถึงการพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธและเทคโนโลยีการสั่งการและควบคุม
ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้