อินโดนีเซียและสหรัฐฯ ขยายความร่วมมือ โดยมุ่งเน้นที่ความมั่นคงทางทะเลและการปรับปรุงความทันสมัยให้กองทัพ
กัสดี ดา คอสตา
ในขณะที่อินโดนีเซียและสหรัฐอเมริกาฉลองครบรอบ 75 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต ความร่วมมือด้านกลาโหมของทั้งสองประเทศก็เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคและผลประโยชน์ด้านความมั่นคงที่มีร่วมกัน เจ้าหน้าที่และนักวิเคราะห์กล่าวว่า ความร่วมมือนี้มีพื้นฐานมาจากค่านิยมในประชาธิปไตยที่มีร่วมกันและยังสอดคล้องกับกรอบความมั่นคงในภูมิภาค ความร่วมมือนี้ได้พัฒนาจนกลายเป็นรากฐานสำคัญของความพยายามรักษาสันติภาพในอินโดแปซิฟิก
ระหว่างการประชุมในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567 ที่กรุงจาการ์ตา นายปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งของอินโดนีเซีย และนางกมลา ชิริน แลคด์เฮียร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศอินโดนีเซีย ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ทหารอินโดนีเซียกว่า 6,000 คนผ่านโครงการด้านการศึกษาและการฝึกอบรมตั้งแต่ พ.ศ. 2510 นายปราโบโวกล่าวว่า ขณะนี้มีนักเรียนทหารอินโดนีเซียเก้าคนกำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการทหารชั้นนำของสหรัฐฯ และได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะ “เสริมสร้างความร่วมมือแบบทวิภาคีให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านกลาโหม” กระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียระบุ
การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการหารือกันหลายครั้งระหว่างเจ้าหน้าที่กลาโหมของอินโดนีเซียและสหรัฐฯ รวมถึงการประชุมในเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ระหว่าง พล.อ. อกัส ซูบียันโต ผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซีย และ พล.อ. ชาร์ลส์ ฟลินน์ ผู้บัญชาการกองทัพบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก การหารือเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่กว้างขึ้นในการเสริมสร้างความสามารถในการปฏิบัติงานร่วมกันและการรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคง โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งความตึงเครียดจากข้อพิพาททางดินแดนยังคงคุกรุ่น
พล.อ. ฟลินน์ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการฝึกซ้อมพหุภาคีซูเปอร์การูด้าชิลด์ที่ส่งผลให้เกิดความร่วมมือที่เติบโตขึ้น โดยการฝึกดังกล่าวจัดขึ้นในอินโดนีเซียในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน “ซูเปอร์การูด้าชิลด์ พ.ศ. 2567 เป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมของการที่เครือข่ายพลังทางบกเชิงยุทธศาสตร์ของเรานำเสนอความเป็นเอกภาพและความมุ่งมั่นร่วมกันต่ออินโดแปซิฟิกที่ปลอดภัย มีเสถียรภาพ และมั่นคง” พล.อ. ฟลินน์กล่าวในแถลงการณ์ที่สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงจาการ์ตาส่งให้กับ ฟอรัม
ความร่วมมือทางทหารแบบทวิภาคีสอดคล้องกับเป้าหมายระดับภูมิภาคของทั้งสองประเทศ ตามคำกล่าวของนายอเล็กซ์ เจมาตู ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเปลิตา ฮาราปัน ของอินโดนีเซีย อินโดนีเซียได้รับประโยชน์จาก “เครือข่ายด้านกลาโหมที่กว้างขึ้น” และมีความสามารถที่ดีขึ้นในการรักษาความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเผชิญกับการกระทำที่แข็งกร้าวของสาธารณรัฐประชาชนจีนในทะเลจีนใต้
“การเข้ามาปรากฏตัวของสหรัฐฯ ช่วยถ่วงดุลอำนาจของจีน ทำให้ประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน อย่างอินโดนีเซียสามารถรักษาโครงสร้างความมั่นคงระดับภูมิภาคที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาได้” นายเจมาตูกล่าวกับ ฟอรัม
สถานทูตสหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐฯ ได้สนับสนุนเงินมากกว่า 167 ล้านบาท (ประมาณ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อเสริมสร้างขอบเขตในการเฝ้าระวังทางทะเลและการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลของอินโดนีเซีย พร้อมกับเงินอีก 100 ล้านบาท (ประมาณ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับศูนย์ฝึกอบรมทางทะเลในเกาะบาตัม ประเทศอินโดนีเซีย โครงการนี้สนับสนุนแผนความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลระหว่างอินโดนีเซียและสหรัฐฯ ที่ได้ประกาศใน พ.ศ. 2566 เพื่อรับมือกับการทำประมงที่ผิดกฎหมายและอาชญากรรมทางทะเลอื่น ๆ
สหรัฐฯ ยังได้สนับสนุนอินโดนีเซียผ่านการโอนย้ายยานพาหนะทางทหาร เช่น เครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 เครื่องบินลำเลียง ซี-130 และเฮลิคอปเตอร์อาปาเช่ นายชัยริล ตังกูห์ นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมจากมหาวิทยาลัยบินานูซันตาราของอินโดนีเซีย กล่าว “ความร่วมมือด้านกลาโหมในรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้มีผลเชิงบวกในการเพิ่มขีดความสามารถและความเป็นมืออาชีพของกองทัพอินโดนีเซีย รวมถึงความพร้อมของระบบด้านกลาโหมของอินโดนีเซีย” นายตังกูห์กล่าวกับ ฟอรัม
การประชุมนโยบายต่างประเทศและด้านกลาโหม 2+2 ครั้งแรกระหว่างอินโดนีเซียและสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผู้กำหนดนโยบายระดับสูงเข้าร่วม ถือเป็นหน้าใหม่ของความร่วมมือทางทหาร โดยมุ่งเน้นไปที่การขยายการฝึกร่วม การเพิ่มความสามารถด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และการเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล
“เราภูมิใจที่กองกำลังของสหรัฐฯ และอินโดนีเซียได้ฝึกซ้อมเคียงข้างกัน และเราหวังว่าจะได้มีความร่วมมือด้านความมั่นคงที่เพิ่มมากขึ้นต่อไป” นางแลคด์เฮียร์กล่าว
กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย