ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดทรัพยากรส่วนรวมของโลกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อินโดนีเซียเสริมความสามารถในการต่อต้านโดรนด้วยขีปนาวุธสกัดกั้นและปืนกลยิงเร็ว

กัสดี ดา คอสตา

เมื่ออากาศยานไร้คนขับก่อให้เกิดภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้น กองทัพอินโดนีเซียกำลังปรับปรุงกลยุทธ์ต่อต้านโดรน ซึ่งรวมถึงการใช้ขีปนาวุธสกัดกั้นและปืนกลยิงเร็ว

จำนวนโดรนสู้รบและอาวุธแบบดักรออยู่กับที่ที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นอากาศยานไร้คนขับที่บรรทุกระเบิดและสามารถลอยเหนือเป้าหมายเป็นเวลานาน หมายความว่า “ภัยคุกคามจากโดรนที่อินโดนีเซียเผชิญอยู่นั้นค่อนข้างอันตราย” นายทังกุห์ แชริล นักวิชาการด้านกลาโหมจากมหาวิทยาลัยบีนัสของอินโดนีเซีย กล่าวกับ ฟอรัม

นอกจากภาครัฐที่มีความสามารถในการใช้โดรนสู้รบขั้นสูงแล้ว กลุ่มกบฏและโจรสลัดก็อาจใช้โดรนที่มีต้นทุนต่ำและมีจำหน่ายทั่วไปในการโจมตีกองกำลังและยานพาหนะทั้งทางบกและทางทะเล

เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามดังกล่าวในทะเล กองทัพเรืออินโดนีเซียได้ติดตั้งขีปนาวุธสกัดกั้นภาคพื้นดินสู่อากาศ มิสตรัล บนเรือฟริเกตชั้นยานีที่ใช้ชื่อว่า อาห์มัด จำนวนห้าลำ และเรือลาดตระเวนชั้นดิโปเนโกโร จำนวนสี่ลำ รวมถึงติดตั้งปืน โอเออร์ลิคอน มิลเลนเนียม บนเรือฟริเกตชั้นมาร์ตาดินาตา จำนวนสองลำ อีกทั้งยังวางแผนที่จะติดตั้งปืนดังกล่าวบนเรือฟริเกตและเรือลาดตระเวนเพิ่มเติม

กองทัพอินโดนีเซียคาดว่าจะเพิ่มเรือลาดตระเวนชั้นดิโปเนโกโร จำนวนสี่ลำ และเรือฟริเกตชั้นมาร์ตาดินาตา จำนวนสี่ลำ

ขีปนาวุธสกัดกั้น มิสตรัล ที่ผลิตในฝรั่งเศสเป็นระบบอาวุธระยะใกล้ที่สามารถป้องกันเรือจากเครื่องบิน โดรน และขีปนาวุธได้ นายแชริลกล่าว ขีปนาวุธชนิดนี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วเกือบ 1 กิโลเมตรต่อวินาที และสามารถสกัดกั้นเป้าหมายได้ที่ระยะทาง 8 กิโลเมตร และความสูง 6 กิโลเมตร

ปืนโอเออร์ลิคอน มิลเลนเนียม ที่ผลิตในเยอรมนี “ยังมีบทบาทสำคัญด้วยความเร็วในการยิงกระสุนที่รวดเร็ว ระยะยิง รวมถึงพลังทำลายล้าง” นายอเด พี. มาร์โบเอน นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมในจาการ์ตา กล่าวกับ ฟอรัม “มีประสิทธิภาพมากในการทำลายเป้าหมายในอากาศ”

กองทัพบกอินโดนีเซียได้ติดตั้งระบบป้องกันทางอากาศชนิดยิงจากบ่าที่ผลิตในโปแลนด์ชื่อ กรอม รวมถึงการปกป้องยานพาหนะในจาการ์ตา เกาะสุมาตราเหนือ และหมู่เกาะเรียว นายมาร์โบเอนกล่าว

กองกำลังทหารราบและหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพอากาศอินโดนีเซีย ซึ่งรู้จักกันในชื่อ โคพาสกัต ได้ติดตั้งระบบป้องกันทางอากาศ โอเออร์ลิคอน สกายชิลด์ ที่ผลิตโดยบริษัท ไรน์เมทัล ของเยอรมนีเช่นกัน

เช่นเดียวกับปืน มิลเลนเนียม ระบบสกายชิลด์ใช้กระสุนที่เรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพการยิงและการทําลายล้างขั้นสูง ซึ่งกระจายกลุ่มกระสุนทังสเตนเพื่อทำลายหรือทำให้เป้าหมายขนาดเล็กที่เคลื่อนที่เร็ว เช่น โดรน ไม่สามารถใช้งานได้ กระสุนดังกล่าวออกแบบมาเพื่อการตอบโต้ภัยคุกคามอย่างรวดเร็วด้วยการทำงานอัตโนมัติในระดับสูง

บริษัทด้านกลาโหมในประเทศอย่าง พีที โอซีดับเบิลยูเอสบี เป็นหุ้นส่วนกับ ไรน์เมทัล เพื่อให้บริการซ่อมบำรุงและซ่อมแซมระบบอาวุธโอเออร์ลิคอน ในอินโดนีเซีย

ในระหว่างการฝึกซ้อม ฮาร์ดา มารุธา 3 ของกองทัพอากาศอินโดนีเซียในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ฝูงบินคอมมานโด โคพาสกัต 3 ได้ใช้ระบบสกายชิลด์สำหรับการจำลองการโจมตีฐานทัพทางอากาศ ตามรายงานของกองทัพอินโดนีเซีย

ด้วยความสามารถในการยิงเร็วของปืนมิลเลนเนียมและระบบสกายชิลด์ จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการปฏิบัติการต่อต้านโดรน ตามรายงานของนายโซเลมาน ปอนโต อดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองยุทธศาสตร์ของกองทัพอินโดนีเซีย

“ถ้ามีโดรนจำนวนมากมุ่งมาที่คุณ การยิงทีละลำนั้นทำได้ยาก” นายปอนโตกล่าวกับ ฟอรัม “แต่ที่ความเร็ว 3,000 นัดต่อนาที ก็จะสามารถยิงถูกได้หลายลำ”

กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button