ความร่วมมืออินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์กระชับความสัมพันธ์ผ่านข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหม

ซาราห์ ชาน

ในการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านกลาโหมเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากความร่วมมือมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นท่ามกลางความท้าทายด้านการรักษาความมั่นคงที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้

ข้อตกลงดังกล่าวซึ่งจัดทำขึ้นจากข้อตกลงด้านกลาโหมทวิภาคี จะเป็นกรอบในการเสริมสร้างความร่วมมือในหลายด้าน เช่น การศึกษาทางทหาร การต่อต้านการก่อการร้าย และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ซึ่งจะช่วย “ส่งเสริมเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค” ผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือทางการทหาร ตามรายงานของสถานทูตฟิลิปปินส์ในสิงคโปร์

ทั้งสองประเทศกำลังเผชิญกับสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่ซับซ้อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในทะเลจีนใต้จากการแสดงออกที่ก้าวร้าวของสาธารณรัฐประชาชนจีน

นอกเหนือจากการลงนามข้อตกลงเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 แล้ว นายกิลแบร์โต เตโอโดโร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ และ ดร.อึ้ง เอ็ง เฮ็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ ยังได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือที่กำลังดำเนินอยู่ภายใต้กรอบการทำงานระดับภูมิภาค เช่น การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ซึ่งส่งเสริมการสื่อสารและความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่มีร่วมกัน

ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็น “ก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างฟิลิปปินส์และสิงคโปร์” นายเตโอโดโรกล่าว ซึ่งเป็นระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนก่อนที่นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และนายธาร์มัน ชันมูการัตนัม ประธานาธิบดีสิงคโปร์ จะพบปะกันที่กรุงมะนิลาเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 55 ปีระหว่างสองประเทศ

ความมั่นคงทางทะเล การต่อต้านการก่อการร้าย และการรับมือภัยพิบัติเป็นข้อกังวลสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระดับทวิภาคี ทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าระดับโลก ยังคงเป็นชนวนของความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจีนอ้างสิทธิ์ในเส้นทางน้ำเกือบทั้งหมดแม้ว่าใน พ.ศ. 2559 ศาลระหว่างประเทศจะตัดสินแล้วว่า การอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนและกองกำลังพลเรือนติดอาวุธทางทะเลของจีนยังคงคุกคามและปิดกั้นเรือพลเรือนและเรือทหารของฟิลิปปินส์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงเรือที่เติมเสบียงให้กับกองกำลังฟิลิปปินส์ที่ประจำการอยู่ที่สันดอนโทมัสที่สองด้วย แม้ว่าสิงคโปร์จะไม่ได้เป็นผู้อ้างสิทธิ์ในข้อพิพาททางทะเลจีนใต้ แต่สิงคโปร์ยังคงมุ่งมั่นที่จะรักษาเสถียรภาพและเสรีภาพในการเดินเรือในน่านน้ำที่อุดมไปด้วยทรัพยากรนี้

ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์มุ่งเน้นในการส่งเสริมการแบ่งปันข่าวกรองและการปฏิบัติการร่วมกันเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย ฟิลิปปินส์ได้ต่อสู้กับกลุ่มกบฏในพื้นที่ทางใต้ของประเทศในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะการปราบกลุ่มติดอาวุธที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มรัฐอิสลามที่ยึดครองเมืองมาราวีไว้ได้ใน พ.ศ. 2560 สิงคโปร์ยกย่องกองทัพฟิลิปปินส์ในปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย อีกทั้งยังสนับสนุนความพยายามในการฟื้นฟูพื้นที่ต่าง ๆ เช่น เขตปกครองตนเองบังซาโมโรในเขตมุสลิมมินดาเนา ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์

เนื่องจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก การเตรียมความพร้อมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ข้อตกลงล่าสุดเสริมสร้างความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศในการยกระดับการฝึกอบรมเกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความเข้ากันได้ในปฏิบัติการ

ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์เข้าร่วมการฝึกซ้อมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแห่งอาเซียน พ.ศ. 2566 ที่ทะเลนาตูนา โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการทำงานร่วมกันและขีดความสามารถในการรับมือร่วมกันเพื่อบรรเทาภัยพิบัติและรักษาความปลอดภัยทางทะเล

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังได้ทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ในระหว่างการฝึกบาลิกาตันแบบพหุชาติที่ฟิลิปปินส์ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ซึ่งเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นร่วมกันต่อความมั่นคงในภูมิภาค การฝึกซ้อมที่นำโดยฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ นี้ให้ความสำคัญกับการป้องกันเกาะและปฏิบัติการด้านสงครามไซเบอร์ โดยเน้นย้ำถึงความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นของความท้าทายด้านความมั่นคงในภูมิภาค

ซาราห์ ชาน เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากสิงคโปร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button