ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกกำลังเสริมสร้างการป้องกันสายเคเบิลใต้น้ำเพื่อรับมือกับความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น
ทอม แอบกี
ข้อมูลมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง และสายเคเบิลใต้น้ำก็มีความสำคัญต่อการส่งผ่านข้อมูลทั้งหมด ตั้งแต่เสียงและวิดีโอไปจนถึงธุรกรรมทางการเงินและการสื่อสารที่เป็นความลับของรัฐบาล เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ได้เน้นย้ำถึงความเปราะบางของสายเคเบิลใต้น้ำ ซึ่งทำให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกต้องเริ่มดำเนินการร่วมกัน เช่น ความร่วมมือควอดเพื่อความเชื่อมโยงและความทนทานของสายเคเบิล ขณะเดียวกันก็เสริมสร้างศักยภาพของแต่ละประเทศในการตรวจสอบ ปกป้อง และซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญนี้
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ชาวเกาะมัตสึของไต้หวันที่อยู่ใกล้กับสาธารณรัฐประชาชนจีนจำนวน 12,000 คน พบว่าตนเองไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เลย สายเคเบิลใต้น้ำสองเส้นที่เชื่อมหมู่เกาะมัตสึกับเกาะหลักของไต้หวันถูกตัดขาด ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำของเรือจากจีน ยังไม่สามารถระบุได้ว่าสาเหตุของความขัดข้องนั้นเกิดจากอุบัติเหตุหรือการกระทำโดยเจตนา
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกได้เป็นผู้นำระดับโลกในด้านโครงการสายเคเบิลใต้น้ำ ตามรายงานของศูนย์กิจการอินโดแปซิฟิกแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย ในขณะเดียวกัน สายเคเบิลใต้น้ำมักกลายเป็นเป้าหมายในช่วงความขัดแย้ง ดร. โมโตฮิโระ ซึชิยะ รองประธานฝ่ายการมีส่วนร่วมและเทคโนโลยีสารสนเทศระดับโลกแห่งมหาวิทยาลัยเคโอของญี่ปุ่น กล่าวระหว่างการอภิปรายกลุ่มที่จัดโดยศูนย์ดังกล่าวในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567
“เนื่องจากมีบทบาทที่สำคัญ ดังนั้นในช่วงสงคราม สายเคเบิลเหล่านี้จึงมักถูกตัดการเชื่อมต่อหรือทำลาย ซึ่งทำให้ปัญหานี้กลายเป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญในปัจจุบัน” ดร. ซึชิยะกล่าว
ความร่วมมือควอด ซึ่งประกอบด้วยออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา กำลังเสริมสร้างความมั่นคงและความทนทานของสายเคเบิลสื่อสารใต้น้ำในภูมิภาคนี้ โดยได้ยกระดับความร่วมมือและการประสานงานในการพัฒนาและการปกป้องโครงสร้างพื้นฐาน โครงการริเริ่มที่เปิดตัวในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 มุ่งเน้นที่การแบ่งปันข้อมูล การเสริมสร้างขีดความสามารถในการซ่อมแซมสายเคเบิล และการพัฒนามาตรฐานทั่วไปเพื่อปกป้องโครงสร้างพื้นฐานจากภัยคุกคามทั้งทางกายภาพและทางไซเบอร์
ควอดมุ่งมั่นที่จะรับรองว่าการทำงานของสายเคเบิลใต้น้ำจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและปลอดภัย โดยใช้ความเชี่ยวชาญและทรัพยากรจากประเทศสมาชิกในการสนับสนุน
“ความร่วมมือควอดมีเป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นไปที่การเสริมความแข็งแกร่งให้กับ ‘ระบบสายเคเบิลในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยใช้ความเชี่ยวชาญของประเทศสมาชิกควอดในด้านการผลิต การจัดส่ง และการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานสายเคเบิล'” นางอาชา เฮมราจานี นักวิจัยอาวุโสจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านความมั่นคงแห่งชาติที่วิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส. ราชารัตนัมของสิงคโปร์ ได้เขียนในบทความที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566
“สมาชิกควอดแต่ละประเทศจะมีส่วนสนับสนุนโครงการนี้” นางเฮมราจานีกล่าว “ออสเตรเลียจะจัดตั้งโครงการการเชื่อมโยงและความทนทานของสายเคเบิลในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเพื่อ ‘แบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดและให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่รัฐบาลในภูมิภาค'”
ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 ออสเตรเลียได้เปิดตัวศูนย์เชื่อมต่อและความทนทานของสายเคเบิล โดยมีแผนจะลงทุนประมาณ 404 ล้านบาท (ประมาณ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในระยะเวลา 4 ปี “ศูนย์แห่งนี้ถือเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญของออสเตรเลียในความร่วมมือควอดเพื่อความเชื่อมโยงและความทนทานของสายเคเบิล ซึ่งเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการดำเนินงานของควอดในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยมุ่งตอบสนองต่อความท้าทายที่เร่งด่วนที่สุดในพื้นที่นี้” นางเพนนี หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย กล่าวในแถลงการณ์
ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ได้ร่วมกันจัดหาเงินทุนเพื่อสร้างระบบสายเคเบิลใต้น้ำในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก รวมถึงในไมโครนีเซีย โดยมีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อต่อต้านอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ผ่านโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการเฝ้าระวังทางดิจิทัลที่อาจเกิดขึ้น
นอกจากนี้ สมาชิกทั้งสี่ของความร่วมมือควอดยังอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นกับสายเคเบิลใต้น้ำ เช่น การใช้ยานพาหนะใต้น้ำอัตโนมัติที่สามารถลาดตระเวนตามเส้นทางสายเคเบิล ตามรายงานของสถาบันวิจัยในกรุงนิวเดลี เรือดำน้ำไร้คนขับสามารถติดตั้งเซ็นเซอร์และกล้องเพื่อตรวจจับและตรวจสอบกิจกรรมต่าง ๆ โดยรอบสายเคเบิล ซึ่งจะช่วยในการระบุความเคลื่อนไหวที่น่าสงสัยหรือภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้
ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์