อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

นักสิทธิมนุษยชนและผู้สืบสวนบันทึกเหตุการณ์การกดขี่ข้ามชาติของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

การข่มขู่ คุกคาม และใช้ความรุนแรงที่เชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในระหว่างการเยือนของนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย มีเป้าหมายเพื่อปิดปากผู้วิจารณ์นโยบายการกดขี่ของรัฐบาลจีน ดูเหมือนว่าผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ทำการประสานงานกันในการกระทำต่าง ๆ ตั้งแต่การขโมยป้ายประท้วงไปจนถึงการทำร้ายผู้ชุมนุมประท้วง ตามการสืบสวนของหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์และสภาประชาธิปไตยฮ่องกง และนักศึกษาเพื่อเสรีภาพของทิเบต

สำนักงานสอบสวนกลาง หรือ เอฟบีไอ ได้จับกุมผู้คนหลายสิบคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการคุกคามและทำร้ายประชาชนสหรัฐอเมริกาในนามของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และขณะนี้กำลังสืบสวนเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการเยือนของนายสี จิ้นผิง ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เจ้าหน้าที่กล่าวกับเดอะวอชิงตันโพสต์

เหตุโจมตีในซานฟรานซิสโกสะท้อนให้เห็นถึง “รูปแบบในระดับสากลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการ … พยายามเข้าถึงพื้นที่นอกพรมแดนของตนและปราบปรามชาวจีนพลัดถิ่นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนการต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังคงเกิดขึ้นในทิเบต ซินเจียง ฮ่องกง และจีนแผ่นดินใหญ่” ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ โดยอ้างถึงรัฐบาลสหรัฐฯ และกลุ่มสิทธิมนุษยชน

เป้าหมายของการกดขี่ข้ามชาติประเภทนี้ ได้แก่ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักสิทธิมนุษยชน ผู้เห็นต่าง นักข่าว ฝ่ายต่อต้านทางการเมือง และชนกลุ่มน้อยทางศาสนาหรือชาติพันธุ์ ตัวอย่างส่วนหนึ่งของกรณีที่เกิดขึ้นมากมาย คือ

  • ชาวทิเบตพลัดถิ่นในออสเตรเลีย เบลเยียม อินเดีย เนปาล สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐฯ ระบุว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนติดตามการสื่อสารของพวกเขากับผู้คนในทิเบต และพยายามจำกัดการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยการข่มขู่ครอบครัวที่ยังอยู่ในบ้านเกิด ตามรายงานของศูนย์สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยทิเบตที่ตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย
  • ชาวอุยกูร์ที่ได้หลบหนีจากการกดขี่และการกักขังหมู่ในมณฑลซินเจียงทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ต้องเผชิญกับการคุกคามทางออนไลน์และการโจมตีทางไซเบอร์ ณ ช่วงเวลาใน พ.ศ. 2565 เจ้าหน้าที่หรือผู้แทนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อข่มขู่และสอดส่องชุมชนชาวอุยกูร์ใน 10 ประเทศทั่วอเมริกาเหนือ เอเชีย และยุโรป ตามรายงานของชุมชนอ็อกซัสเพื่อกิจการเอเชียกลาง ซึ่งบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกือบ 3,000 กรณี
  • รัฐบาลจีนได้บังคับให้ผู้ต้องสงสัยในคดีอาชญากรรมหลายพันคนเดินทางกลับจีนจากกว่า 120 ประเทศ โดยใช้การคุกคาม ข่มขู่ และลักพาตัว ตามรายงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชนเซฟการ์ดดีเฟนเดอร์สซึ่งตั้งอยู่ในประเทศสเปน เซฟการ์ดดีเฟนเดอส์ระบุว่ากระบวนการยุติธรรมของจีน “ที่มีความบกพร่องอย่างมากและถูกครอบงำทางการเมือง” ทำให้ไม่สามารถบอกได้ว่าข้อกล่าวหาเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่
  • พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ใช้อำนาจในทางที่ผิดเกี่ยวกับอาชญากรที่อันตรายที่สุดของตนกับอินเตอร์โพล องค์กรตำรวจสากลที่สมาชิกขององค์กรสามารถออกประกาศเตือนที่เรียกว่า “หมายแดง” และยังมีการขอให้ตำรวจประเทศอื่นจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยเพื่อส่งกลับประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ใช้งานหมายแดงในทางที่ผิดเพื่อตามล่าผู้เห็นต่างทางการเมือง

ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกกำลังตอบโต้การกดขี่ข้ามชาติของรัฐบาลจีนด้วยการบันทึกข้อมูล ป้องปราม และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ใน พ.ศ. 2566 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้ตั้งข้อหากับเจ้าหน้าที่ตำรวจแห่งชาติจีน 40 คนในข้อหาคุกคามชาวจีนที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีชายสองคนที่ถูกตั้งข้อหาว่าดำเนินการจัดตั้งสถานีตำรวจจีนอย่างผิดกฎหมายในนิวยอร์ก “เพื่อเฝ้าระวังและข่มขู่ผู้ที่เห็นต่างและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีน” ตามคำกล่าวของอัยการ

ทางการออสเตรเลียยกเลิกข้อตกลงใน พ.ศ. 2567 ซึ่งเคยอนุญาตให้ตำรวจจีนปฏิบัติงานในออสเตรเลีย โดยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับการแทรกแซงจากต่างชาติ

ออสเตรเลียและสหรัฐฯ ได้จัดตั้งช่องทางสำหรับการรายงานการกดขี่ข้ามชาติ ซึ่งเซฟการ์ดดีเฟนเดอร์สระบุว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการปกป้องสิทธิมนุษยชน แคนาดาได้ดำเนินการเพื่อสร้างระบบที่คล้ายคลึงกัน

ในแถลงการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 ที่ประณามการกดขี่ข้ามชาติ สมาชิกองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ทั้ง 45 ประเทศได้ตกลงที่จะสนับสนุนผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายของการละเมิด เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนข้อมูล และกำหนดบทลงโทษต่อประเทศที่ต้องรับผิดชอบ

“เมื่อรัฐใช้อำนาจเกินขอบเขตของตนเพื่อปิดปากหรือบีบบังคับผู้เห็นต่าง นักข่าว นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและบุคคลอื่น ๆ เมื่อนั้นอธิปไตยของชาติ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานก็ถูกบ่อนทำลาย” สมาชิกยูเอ็นกล่าว “การกดขี่ข้ามชาติสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวและเป็นอันตรายต่อเสรีภาพทางพลเมืองและการเมือง ระเบียบที่ตั้งอยู่พื้นฐานของกติกาในระดับโลก และความเคารพซึ่งกันและกันระหว่างรัฐต่าง ๆ”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button