ญี่ปุ่นวางแผนเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมครั้งประวัติการณ์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือ
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
ในช่วงเวลาที่เผชิญกับ “สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่รุนแรงและซับซ้อนที่สุด” นับตั้งแต่การก่อตั้งกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นเมื่อ 70 ปีที่ผ่านมา กองกำลังจะเร่งพัฒนาและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น อาวุธพิสัยไกลที่มีความแม่นยำและเครือข่ายดาวเทียมขนาดเล็ก เพื่อทำการตรวจจับและติดตามขีปนาวุธและภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น
โครงการริเริ่มดังกล่าวได้รับการระบุไว้ในงบประมาณกลาโหมปี พ.ศ. 2568 ที่รัฐบาลญี่ปุ่นเสนอ ซึ่งเป็นการลงทุนมูลค่า 2 ล้านล้านบาท (ประมาณ 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 7 ต่อปี ซึ่งถือเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวได้รวมถึงเงินทุนสำหรับเครื่องบินรบ เรือฟริเกตอเนกประสงค์ โดรนสู้รบ ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง อาวุธร่อนความเร็วสูง ขีปนาวุธนำวิถีที่ยิงจากเรือดำน้ำ และขีปนาวุธยิงจากเรือประเภท 12 รุ่นพิสัยไกลที่ผลิตในประเทศ
“การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านกลาโหมดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่เรายังคงต้องเฝ้าระวังและดำเนินโครงการที่จำเป็นเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถและการป้องปรามของญี่ปุ่นให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น” นายมิโนรุ คิฮาระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น กล่าวกับผู้สื่อข่าวในช่วงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567 ตามรายงานของเจนส์ ซึ่งเป็นเว็บไซต์วิเคราะห์ด้านกลาโหม
ไม่กี่วันก่อนหน้านั้น เครื่องบินลาดตระเวนทางทหารของจีนรุกล้ำเข้าน่านฟ้าญี่ปุ่นใกล้หมู่เกาะดันโจในทะเลจีนตะวันออก ส่งผลให้กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นต้องสั่งให้เครื่องบินขับไล่ขึ้นบินอย่างเร่งด่วน รายงานดังกล่าวระบุว่า เครื่องบินลำนั้นเป็นอากาศยานของกองทัพปลดปล่อยประชาชนลำแรกที่รุกล้ำเข้ามาในน่านฟ้าของญี่ปุ่น แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะประณามการรุกล้ำน่านน้ำอาณาเขตโดยเรือของกองทัพเรือและกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนเป็นประจำก็ตาม ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567 เรือสำรวจของกองทัพเรือกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้เข้าสู่น่านน้ำของญี่ปุ่นทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะคุชิโนะเอราบุ ตามรายงานของยูเอสเอ็นไอนิวส์ของสถาบันกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา
สมุดปกขาวเรื่อง “การป้องกันญี่ปุ่น พ.ศ. 2567” ของรัฐบาลญี่ปุ่นเน้นย้ำถึงการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนแสดงตนอย่างชัดเจนในทะเลจีนตะวันออก รวมถึงบริเวณหมู่เกาะเซ็งกะกุซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น และระบุว่ารัฐบาลจีนถือเป็น “ความท้าทายเชิงยุทธศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” สำหรับญี่ปุ่น นอกจากนี้ ความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาคนี้ยังได้รับผลกระทบจากโครงการอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธที่ผิดกฎหมายของเกาหลีเหนือ รวมถึงการจัดหาอาวุธที่ผิดกฎหมายให้กับรัสเซียเพื่อใช้ในการทำสงครามโดยไร้ซึ่งเหตุผลกับยูเครน
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ระบบอาวุธอัตโนมัติมีบทบาทสำคัญต่อการป้องกันประเทศของญี่ปุ่น เช่นเดียวกับอากาศยานไร้คนขับที่สามารถสร้างข้อได้เปรียบแม้ต้องเผชิญหน้ากับศัตรูที่มีกำลังพลและยานพาหนะแบบดั้งเดิมมากกว่าอย่างกองทัพปลดปล่อยประชาชน
กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นระบุว่า “ยานพาหนะไร้คนขับเป็น ‘ตัวพลิกเกม’ ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ซึ่งสร้างความเหนือกว่าแบบอสมมาตรในอากาศ ในน้ำ และในทะเล ขณะเดียวกันก็ช่วยจำกัดการสูญเสียบุคลากรด้วย” ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะเจแปนไทมส์ “ยานพาหนะเหล่านั้นยังสามารถเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ทำงานได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน และมีความสามารถในการปฏิบัติภารกิจด้านการข่าวกรอง การเฝ้าระวัง และการลาดตระเวนอย่างมีประสิทธิภาพ”
คำขอจัดสรรงบประมาณครั้งประวัติการณ์ของรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมเป็นสองเท่า โดยคิดเป็นร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภายใน พ.ศ. 2570
“นี่ถือเป็นข้อความสำคัญที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นระยะยาวต่อแผนพัฒนาด้านกลาโหมที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ โดยแสดงให้เห็นว่านี่ไม่ใช่เพียงท่าทีชั่วคราว แต่เป็นโครงการที่มีความชัดเจนและน่าเชื่อถือในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านกลาโหมของประเทศ” นายเจมส์ ชอฟฟ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมจากมูลนิธิเพื่อสันติภาพซาซาคาว่าแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวกับเดอะเจแปนไทมส์ “ซึ่งโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างการป้องปรามเพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามใช้กำลังในการแก้ไขข้อพิพาทกับญี่ปุ่นหรือประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง”
นอกจากการเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมแล้ว ญี่ปุ่นยังได้เสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคอีกด้วย ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลียและญี่ปุ่นได้ตกลงร่วมกันเสริมสร้างความร่วมมือและการทำงานร่วมกันด้านความมั่นคง ซึ่งรวมถึงการฝึกซ้อมร่วมและการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ประสานงาน
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังยืนยันความร่วมมือด้านสงครามข้อมูล การป้องกันภัยทางอากาศและขีปนาวุธ รวมถึงขีดความสามารถในการตอบโต้การโจมตี “ที่ใช้ประโยชน์จากขีดความสามารถในการป้องกันการโจมตีระยะไกลของญี่ปุ่นและขีดความสามารถในการโจมตีระยะไกลของออสเตรเลีย” กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นระบุ
บรรดารัฐมนตรียังตั้งข้อสังเกตว่าประเทศของตน “เป็นปรปักษ์อย่างแข็งกร้าวต่อการกระทำเพียงฝ่ายเดียวทั้งหลายที่แสวงหาการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมด้วยการใช้กำลังหรือการบีบบังคับในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้” พร้อมทั้งแสดงความกังวลเกี่ยวกับ “กิจกรรมล่าสุดของสินทรัพย์ทางทหารของจีนในอาณาเขตญี่ปุ่น และการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมอันตรายและการบังคับขู่เข็ญของจีน” ในทะเลจีนใต้