ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

จีนเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อและข้อมูลที่บิดเบือนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

วอยซ์ออฟอเมริกา

สาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังใช้แผนโฆษณาชวนเชื่อใหม่ ๆ เพื่อปิดบังการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวทิเบตและชาวอุยกูร์

เมื่อไม่นานมานี้ จีนได้เชิญบล็อกเกอร์ชาวต่างชาติหลายคนไปยังซินเจียงที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวอุยกูร์หลายล้านคน และส่วนใหญ่แล้วเป็นชนกลุ่มน้อยมุสลิม นอกจากนี้ยังได้เปิดศูนย์สื่อสารเพื่อผลิตเนื้อหาที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับทิเบตที่โน้มเอียงเข้าข้างจีน ซึ่งทิเบตอยู่ภายใต้การปกครองของจีนมานานกว่า 70 ปีแล้ว

นานาประเทศและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกได้ประณามรัฐบาลจีนที่ควบคุมตัวชาวอุยกูร์มากถึง 1 ล้านคน บังคับให้สตรีชาวอุยกูร์หลายแสนคนทำแท้งหรือทำหมัน และบังคับให้ชาวอุยกูร์ ชาวคาซัค และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในซินเจียงทำงานในโรงงาน ซึ่งนำไปสู่การที่สหรัฐอเมริกาออกกฎหมายป้องกันการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ใน พ.ศ. 2564

ในขณะเดียวกัน องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและประเทศต่าง ๆ รวมถึงสหรัฐฯ ได้กล่าวหาพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่าพยายามลบล้างภาษาและวัฒนธรรมทิเบต รวมถึงการบังคับให้เด็กเรียนภาษาจีน ตลอดจนการบังคับย้ายถิ่นฐานชาวทิเบตในชนบทหลายแสนคนไปยังเขตเมือง

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามในมติที่ยืนยันความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของชาวทิเบตและสนับสนุนความพยายามในการรักษาภาษา วัฒนธรรม และมรดกทางศาสนาของชาวทิเบต มติดังกล่าวได้เรียกร้องให้จีนกลับมาเจรจาเกี่ยวกับอนาคตของทิเบตอีกครั้ง

เจ้าหน้าที่ไต้หวันกล่าวว่า จีนได้สรรหาอินฟลูเอนเซอร์ออนไลน์ในไต้หวันให้เดินทางมายังซินเจียงและเผยแพร่เรื่องราวเชิงบวกเกี่ยวกับภูมิภาคนี้

คณะกรรมการกิจการจีนแผ่นดินใหญ่ของไต้หวัน ซึ่งดูแลการแลกเปลี่ยนระหว่างช่องแคบ ได้กล่าวว่ากำลังตรวจสอบเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับซินเจียงซึ่งผลิตโดยอินฟลูเอนเซอร์ในไต้หวันที่ปกครองตนเอง และได้เรียกร้องให้อินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้นไม่ละเมิดกฎหมายต่อต้านการแทรกซึมด้วยการรับเงินจากรัฐบาลจีน

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ทางการจีนใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดต่อชาวต่างชาติที่มาเยือนซินเจียง เพื่อให้แน่ใจว่าเนื้อหาที่พวกเขาผลิตจะสอดคล้องกับโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีน ซึ่งพยายามปิดบังรายงานเกี่ยวกับการกักกันหมู่ การบังคับใช้แรงงาน และการละเมิดสิทธิในรูปแบบอื่น ๆ

“รัฐบาลจีนเชื่อว่านี่เป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ หากพวกเขาทำการควบคุมทางอ้อมเกี่ยวกับประเภทเนื้อหาของภาพที่ถูกส่งออกจากซินเจียง” ดร. ทิโมธี โกรส ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาจีนจากสถาบันเทคโนโลยีโรส-ฮัลแมน ในสหรัฐฯ กล่าว

รัฐบาลจีนกำลังพยายามสร้างอิทธิพลต่อผู้ชมทั่วไปโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ด้วยการเผยแพร่เนื้อหาจำนวนมากจากอินฟลูเอนเซอร์ชาวต่างชาติบนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์

“ผู้ชมทั่วไปเหล่านี้ไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องจีน ดังนั้นพวกเขาจะไม่สังเกตเห็นสัญญาณของการกดขี่ในวิดีโอ เพราะพวกเขาไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมอุยกูร์หรือนโยบายเกี่ยวกับชาติพันธุ์ของจีน” ดร. ทิโมธีกล่าว

เมื่อต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 หน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางของจีนได้เปิดศูนย์สื่อสารในลาซา ซึ่งเป็นเมืองหลวงทิเบต นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า ศูนย์แห่งนี้อาจทำหน้าที่ประสานงานด้านโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีนเกี่ยวกับทิเบต

“แม้ว่าทิเบตและซินเจียงจะเป็นเป้าหมายหลัก แต่กลวิธีที่กลไกโฆษณาชวนเชื่อของจีนใช้ก็คล้ายคลึงกัน ซึ่งรวมถึงการแพร่กระจายข้อมูลบิดเบือนผ่านบัญชีปลอม การจำกัดการเข้าถึงของนักข่าวต่างชาติในบางพื้นที่ และการปิดกั้นข้อมูลที่ขัดแย้งกับเรื่องราวที่พวกเขาต้องการเผยแพร่” นางซาราห์ คุก นักวิจัยอิสระด้านประเทศจีนและอดีตผู้อำนวยการวิจัยด้านประเทศจีนขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรฟรีดอมเฮาส์ กล่าว

นางคุกกล่าวว่าการทำงานร่วมกับกลุ่มวิจัยเพื่อเปิดโปงโฆษณาชวนเชื่อของจีนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่กังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทิเบตและซินเจียง

“พวกเขาสามารถพยายามผลิตวิดีโอสั้น ๆ เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้คนเกี่ยวกับกลยุทธ์ของรัฐบาลจีน” นางคุกกล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button