จีนจะทำตามคำสัญญาเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ได้หรือไม่
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ให้คำมั่นและคำรับรองมากมายแก่หลายประเทศตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาเกี่ยวกับเจตนาและการกระทำของตนในทะเลจีนใต้ แต่กลับผิดคำพูดและทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่สัญญาไว้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ตัวอย่างล่าสุดของกิจกรรมที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและเพิ่มความตึงเครียดของรัฐบาลจีน ได้แก่ การใช้กำลังด้วยขวานจากเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาชายฝั่ง การยิงด้วยปืนฉีดน้ำอย่างไร้ความรับผิดชอบ การสร้างเกาะเทียมอย่างต่อเนื่อง และการเพิ่มกองกำลังทหารในด่านชั้นนอกต่าง ๆ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อประเทศอื่น ๆ
ใน พ.ศ. 2545 จีนได้ตกลงในปฏิญญาว่าด้วยการดำเนินงานของกลุ่มประเทศในทะเลจีนใต้กับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ที่มีสมาชิก 10 ประเทศ แต่กลับละเมิดหลักการหลายประการของข้อตกลงดังกล่าวที่เป็นรากฐานสำหรับความร่วมมือและความมั่นคงของภูมิภาค
ปฏิญญาดังกล่าวมีข้อผูกพันที่ไม่ให้เข้าครอบครอง “เกาะ แนวปะการัง สันดอน โขดหิน และลักษณะภูมิประเทศอื่น ๆ ที่ปัจจุบันยังไม่มีผู้อยู่อาศัย” ทว่าในปีต่อมา จีนได้ขยายฐานทัพออกไปหลายจุดในหมู่เกาะสแปรตลี และยึดสันดอนสการ์โบโรห์ที่เป็นข้อพิพาทใน พ.ศ. 2555
ภายใต้ปฏิญญาดังกล่าว จีนยังให้คำมั่นว่าจะ “ใช้ความยับยั้งชั่งใจในกิจกรรมที่อาจทำให้ข้อพิพาทซับซ้อนหรือทวีความรุนแรงขึ้น” และจะยุติข้อพิพาทกับประเทศที่มีการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ร่วมกัน เช่น บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ด้วยความสงบสุขและเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จีนกลับจงใจเพิ่มความตึงเครียดในทะเลจีนใต้และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
ตั้งแต่ที่นายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมนิวต์จีนกลับมามีอำนาจใน พ.ศ. 2555 คำสัญญาที่ไม่เป็นจริงและการละเมิดข้อผูกพันของจีนได้ทวีความรุนแรงขึ้น
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 นายสีให้คำมั่นว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะไม่สร้างฐานทัพในทะเลจีนใต้ “จีนไม่ได้ตั้งใจที่จะดำเนินการจัดกำลังทหาร” ในหมู่เกาะสแปรตลี และด่านทหารชั้นนอกของจีนจะไม่ “มุ่งเป้าหรือส่งผลกระทบต่อประเทศใด” นายสีกล่าวระหว่างการเยือนทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พรรคคอมมิวนิสต์ได้เสริมกำลังทหารอย่างมากในฐานทัพหลายแห่งที่เป็นข้อพิพาท พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ติดตั้งขีปนาวุธต่อต้านเรือ ขยายขีดความสามารถของเรดาร์ทางทหารและสัญญาณข่าวกรอง สร้างโรงเก็บเครื่องบินขับไล่หลายสิบแห่ง และสร้างลานบินที่เหมาะสำหรับเครื่องบินรบ รวมถึงการดำเนินการอื่น ๆ ตามรายงานของเจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกา
จีนได้ดูหมิ่นคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศใน พ.ศ. 2559 ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ซึ่งระบุว่าการอ้างสิทธิ์ของรัฐบาลจีนต่อเส้นทางน้ำที่สำคัญนี้ไม่มีพื้นฐานทางกฎหมาย การก่อสร้างสิ่งก่อสร้างทางทะเลของจีนรวมถึงด่านทหารชั้นนอกนั้นถือเป็นการละเมิดคำตัดสินดังกล่าว
จีนยังคงใช้ฐานทัพทหารเพื่อยืนยันการควบคุมเหนืออาณาเขตทางทะเลที่ตนไม่มีสิทธิ์ตามกฎหมาย โดยใช้ฐานทัพเหล่านี้ในการจัดเตรียมเรือของกองกำลังพลเรือนติดอาวุธทางทะเลและเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจำนวนหลายร้อยลำ ซึ่งคอยรบกวนเรือพลเรือนและขัดขวางกิจกรรมบังคับใช้กฎหมาย การประมงนอกชายฝั่ง และการพัฒนาแหล่งทรัพยากรไฮโดรคาร์บอนของรัฐอื่น ๆ เป็นประจำ
“จีนต้องการเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่โดยใช้กำลัง ทำให้ประเทศต่าง ๆ ยอมจำนนต่อการอ้างสิทธิ์ของตนเอง” นางซารี อาร์โฮ ฮาฟเรน นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีนจากสถาบันรอยัลยูไนเต็ดเซอร์วิส กล่าวกับนิตยสารบิสเนส อินไซเดอร์ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 นางฮาฟเรนยังกล่าวด้วยว่ากิจกรรมของจีน เช่น เหตุการณ์ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 ซึ่งเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาชายฝั่งของจีนถือมีด มีดพร้า และพลั่วไปข่มขู่ทหารเรือฟิลิปปินส์ เพื่อสร้าง “ความกลัวให้ฟิลิปปินส์ว่าการตอบโต้จะเป็นการจุดชนวนให้เกิดสงคราม”
ในข้อตกลง พ.ศ. 2545 จีนยังได้ให้คำมั่นในการรักษา “เสรีภาพในการเดินเรือและการบินเหนือทะเลจีนใต้ตามที่กฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลกกำหนด” ซึ่งรวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล
อย่างไรก็ตาม เครื่องบินขับไล่ของจีนได้แสดงพฤติกรรมซ้ำ ๆ ที่รัฐบาลฟิลิปปินส์เห็นว่าเป็นการยั่วยุและเป็นการเคลื่อนไหวที่อันตราย รวมถึงเมื่อกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งพวกเขาได้ทำเช่นนี้เหนือสันดอนสการ์โบโรห์ ซึ่งฟิลิปปินส์ทำการลาดตระเวนเป็นประจำ
ในเดือนเดียวกันนั้น กองกำลังรักษาชายฝั่งจีนได้เข้าสกัดกั้นเรือตรวจการณ์ของกองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์สองลำใกล้หมู่เกาะสแปรตลี หรือที่รู้จักกันในชื่อสันดอนซาบินา ซึ่งอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติของรัฐบาลฟิลิปปินส์ และห่างจากจังหวัดปาลาวันของฟิลิปปินส์ประมาณ 135 กิโลเมตร เหตุการณ์การชนกันที่ตามมาทำให้เรือของฟิลิปปินส์ได้รับความเสียหายและเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของลูกเรือ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ
เหตุการณ์นี้รุนแรงมากจนสหรัฐฯ ได้เตือนรัฐบาลจีนทันทีเกี่ยวกับสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกับฟิลิปปินส์ “สหรัฐอเมริกายืนยันอีกครั้งว่า มาตรา 5 ของสนธิสัญญาการป้องกันร่วมระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ พ.ศ. 2494 ครอบคลุมถึงการโจมตีทางทหารต่อกองกำลังทหารของฟิลิปปินส์ เรือหรือเครื่องบินของประชาชน รวมถึงเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์ ในทุกพื้นที่ของทะเลจีนใต้” กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ
นอกจากนี้ จีนยังได้พยายามที่จะกีดกันฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่องจากการเติมเสบียงและหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำอยู่บนเรือบีอาร์พี เซียร์รา มาเดร ของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ที่สันดอนโทมัสที่สอง แม้จะให้คำมั่นแล้วว่าจะไม่ทำเช่นนั้น สันดอนดังกล่าวอยู่บนแผ่นเปลือกโลกของฟิลิปปินส์ตามที่ชี้แจงในคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศ พ.ศ. 2559
เพื่อปฏิบัติตามปฏิญญาและลดความตึงเครียดที่สันดอนโทมัสที่สอง จีนควรให้คำมั่นว่าจะไม่เข้ายึดครองแนวสันดอนดังกล่าวหากฟิลิปปินส์ตัดสินใจถอนกำลังออก เพราะเรือบีอาร์พี เซียร์รา มาเดร ที่จอดอยู่กำลังเสื่อมสภาพ ดร. คริสเตียน ชูลท์เฮส นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันมักซ์พลังค์ด้านกฎหมายมหาชนเปรียบเทียบและกฎหมายระหว่างประเทศ เขียนระบุในบทความเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567 ในนิตยสาร เดอะ ดิโพลแมต
นักวิเคราะห์ระบุว่า ภายใต้ปฏิญญาดังกล่าว จีนยังได้ให้คำมั่นที่จะนำหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้มาใช้ แต่กลับใช้กลยุทธ์การชะลอเพื่อขัดขวางการดำเนินการตามข้อตกลง
นักวิเคราะห์เห็นว่า จีนได้แสดงให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทะเลจีนใต้และที่อื่น ๆ ว่ามีความไม่จริงใจในการบรรลุข้อตกลงหรือปฏิบัติตามข้อตกลง นักวิเคราะห์ยืนกรานว่า รัฐบาลจีนแสร้งทำเป็นเจรจาเพื่อชะลอเวลาและละเมิดข้อตกลงเมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อเป้าหมายและความมุ่งมั่นของตน และความรุนแรงล่าสุดต่อฟิลิปปินส์เป็นไปตามรูปแบบนั้น