การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงของปาเลาทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการบิดเบือนข้อมูลจากจีน
เจสสิกา แคเตอร์สัน
ปาเลา ซึ่งเป็นประเทศในภูมิภาคบลูแปซิฟิกที่มีประชากร 22,000 คน จะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความพยายามที่เพิ่มขึ้นของสาธารณรัฐประชาชนจีนในการสร้างอิทธิพล รวมถึงแผนการบิดเบือนข้อมูลที่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้บ่อยครั้ง
ปาเลาได้ร่วมมือกับไต้หวันและสหรัฐอเมริกาเพื่อเริ่มการฝึกอบรมด้านความรู้สื่อเป็นระยะเวลาหนึ่งปีก่อนการเลือกตั้ง เพื่อช่วยให้นักข่าวและประชาชนสามารถตระหนักได้ถึงข้อมูลที่ถูกบิดเบือน
เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2556 นายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้เร่งรัดความพยายามของรัฐบาลจีนในการกำหนดรูปแบบของสภาพแวดล้อมด้านข้อมูลระดับโลก โดยมีเป้าหมายให้สื่อทั่วโลก “บอกเล่าเรื่องราวของจีนในแง่ดี” ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ การโฆษณาชวนเชื่อ การบิดเบือนข้อมูล และการเซ็นเซอร์ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในสงครามทางความคิดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตามข้อมูลจากบทวิจารณ์ในนิตยสารดีเฟนซ์ วัน เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ใน พ.ศ. 2566 สถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของออสเตรเลียระบุว่า รัฐบาลจีนใช้สื่อ นักการทูตจีน และอิทธิพลในสื่อท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐเพื่อเผยแพร่เรื่องราวของตน
ความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการสร้างอิทธิพลต่อการเลือกตั้งอื่น ๆ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเผยให้เห็นถึงเบาะแสเกี่ยวกับยุทธวิธีที่อาจนำมาใช้ในปาเลา เช่น ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีของไต้หวันในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ใช้ตัวแทนในพื้นที่ สื่อต่าง ๆ บัญชีสื่อสังคมออนไลน์ และปัญญาประดิษฐ์ในการส่งเสริมโฆษณาชวนเชื่อของตน รัฐบาลจีนอ้างว่าไต้หวันเป็นดินแดนของตนและข่มขู่ว่าจะผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตนโดยใช้กำลัง
แม้ว่าสื่อภาครัฐของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเคยให้ความช่วยเหลือหรือริเริ่มแผนการบิดเบือนข้อมูลมาก่อนแล้วก็ตาม ทว่าในช่วงการเลือกตั้งของไต้หวัน สื่อเหล่านี้ได้เผยแพร่เรื่องราวผ่านทางผู้นำทางความคิดในท้องถิ่น “ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แทนที่จะริเริ่มการโฆษณาชวนเชื่อเองโดยตรง” ตามรายงานในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 ของบทวิจารณ์ที่เผยแพร่โดยสถาบันบรูกกิงส์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อการแทรกแซงสื่อโดยตรงและแผนการบิดเบือนข้อมูล เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ นักวิเคราะห์โต้แย้งว่า “จีนได้ครอบงำสื่อหลักของฟิลิปปินส์ … ซึ่งขณะนี้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงที่สนับสนุนแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างมีประสิทธิผลและสามารถปฏิเสธได้อย่างมีเหตุผล” ตามรายงานของข้อมูลวิเคราะห์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ของมูลนิธิเจมส์ทาวน์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
ความพยายามของจีนในการขยายอิทธิพลในภูมิภาคแปซิฟิกอาจทำให้ปาเลาและประเทศหมู่เกาะอื่น ๆ ตกอยู่ภายใต้การแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม กฎหมายระหว่างประเทศให้สิทธิแก่ประเทศชายฝั่งแต่เพียงผู้เดียวในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศตน ซึ่งมีระยะทาง 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมได้ละเมิดสิทธิอธิปไตยเหล่านั้น รวมถึงคุกคามความมั่นคงด้านอาหารและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั่วโลก เรือที่ติดธงชาติจีนเป็นผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมอันดับต้น ๆ ตามรายงานของหน่วยจัดการทรัพยากรทางน้ำโพไซดอนและโครงการริเริ่มระดับโลกเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ
ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567 ไต้หวันได้ออกมาประณามจีนสำหรับการกลั่นแกล้งปาเลาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลไต้หวัน รัฐบาลจีนถูกกล่าวหาว่า “มีการใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือทางการเมือง” โดยได้สั่งห้ามไม่ให้เดินทางไปยังปาเลา ซึ่งเป็นวิธีการข่มขู่และกดดันปาเลาเชิงเศรษฐกิจ
“เรามีความสัมพันธ์กับไต้หวัน … ซึ่งจีนเตือนอย่างเปิดเผยว่าการกระทำนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเราไม่ควรยอมรับไต้หวัน” นายเซอร์รังเจล วิปส์ จูเนียร์ ประธานาธิบดีปาเลา กล่าว ตามรายงานของหนังสือพิมพ์โฟกัสไต้หวัน “เราต้องพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป แต่ในขณะเดียวกัน ค่านิยมของเรา รวมถึงความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่เรามีกับไต้หวัน ก็ยังคงมีความสำคัญและมีค่า”
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การฝึกอบรมที่มุ่งเน้นไปที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสามารถเสริมสร้างความพร้อมรับมือและส่งเสริมความรับผิดชอบของสื่อสารมวลชน เพื่อรับมือกับการแทรกแซงการเลือกตั้งจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ เช่น ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 กรอบความร่วมมือและการฝึกอบรมระดับโลกที่จัดทำโดยไต้หวันและสหรัฐฯ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งแรกในปาเลา เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านสื่อและเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับการบิดเบือนข้อมูล กิจกรรมดังกล่าว ซึ่งมีนักข่าวและนักวิชาการเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความรู้ด้านสื่อผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน
โครงการริเริ่มที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งแพร่หลายอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ทำหน้าที่เป็นต้นแบบในการต่อต้านการบิดเบือนข้อมูล ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนให้กลุ่มประชาสังคมติดตามและต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อ พร้อมกับการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาเพื่อรับมือกับข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง
เมื่อได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากพันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก รวมถึงการศึกษาประสบการณ์และยุทธศาสตร์ของไต้หวันและประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ ปาเลาสามารถยกระดับความสามารถในการรับมือและปกป้องสภาพแวดล้อมทางข้อมูลของตนได้
เจสสิกา แคเตอร์สัน เป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทที่วิทยาลัยการต่างประเทศขั้นสูงของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์