การพัฒนาจุดยืนด้านกลาโหมของญี่ปุ่นได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนมากขึ้น
ฐิสันกา สิริปาลา
ในขณะที่จุดยืนด้านกลาโหมของญี่ปุ่นพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายด้านความมั่นคงในภูมิภาค รวมถึงการปรับโครงสร้างกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นและการเพิ่มขีดความสามารถในการโจมตีตอบโต้ การสนับสนุนจากสาธารณชนต่อขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นของประเทศก็เติบโตขึ้นเช่นกัน
กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนมาโดยตลอด เนื่องจากมีการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ นางยูกิ ทัตสึมิ ผู้อำนวยการโครงการญี่ปุ่นแห่งศูนย์สติมสัน ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวกับ ฟอรัม ญี่ปุ่นมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว ไต้ฝุ่น และดินถล่ม และการมีส่วนร่วมของกองกำลังในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ได้ช่วยขับเคลื่อนความคิดเห็นของสาธารณชนไปสู่การสร้างศักยภาพด้านกลาโหม
นอกจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นจากสาธารณรัฐประชาชนจีนอันเนื่องมาจากกิจกรรมทางทะเลและทางอากาศที่ก้าวร้าวของรัฐบาลจีนแล้ว ญี่ปุ่นยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ซึ่งรวมถึงการทดสอบขีปนาวุธใกล้กับดินแดนของญี่ปุ่นด้วย นอกจากนี้ กิจกรรมทางทหารของจีนที่เพิ่มขึ้นรอบบริเวณช่องแคบไต้หวันยังเพิ่มความยากลำบากให้กับความพยายามของรัฐบาลญี่ปุ่นในการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับไต้หวันที่ปกครองตนเอง ที่ซึ่งจีนได้ขู่ว่าจะผนวกรวมโดยใช้กำลัง
เนื่องจากนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่เรียกความท้าทายเหล่านี้ว่าเป็น “จุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นสมัยใหม่” และความเสี่ยงของความขัดแย้งที่ใกล้ตัวมากขึ้น สาธารณชนญี่ปุ่นจึงมองเห็นถึงความจำเป็นในการมีกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นที่เข้มแข็งขึ้นมากขึ้น นางทัตสึมิกล่าว “โดยทั่วไปแล้ว คนรุ่นใหม่มีความเข้าใจในสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของญี่ปุ่นตามความเป็นจริงมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเปิดกว้างต่อกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นที่แข็งแกร่งขึ้นโดยรวม” นางทัตสึมิกล่าว
แบบสำรวจสองฉบับใน พ.ศ. 2565 สะท้อนให้เห็นแนวโน้มที่การสนับสนุนจากสาธารณชนเพิ่มขึ้นมากขึ้น ในการสำรวจของนิกเคอิ รีเสิร์ช พบว่าร้อยละ 49 ของผู้ตอบแบบสอบถามสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่มากขึ้นในพันธมิตรระยะยาวระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ๆ ขณะเดียวกัน ในการสำรวจของสื่อกลุ่มเอ็นเอชเคพบว่าร้อยละ 52 ของผู้ตอบแบบสอบถามสนับสนุนการเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม โดยมีเพียงร้อยละ 7 เท่านั้นที่สนับสนุนการลดงบประมาณ
เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจจากสาธารณชนและระดมการสนับสนุน กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นได้จัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์และการเข้าถึงสาธารณะชน เช่น การแสดงผาดแผลงโดยทีมบินบลูอิมพัลส์ของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่น
“กิจกรรมนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก และนักบินแต่ละคนก็มีผู้ติดตามของตัวเอง” นางทัตสึมิกล่าว “การฝึกซ้อมยิงด้วยกระสุนจริงประจำปีที่ภูเขาฟูจิ ซึ่งเป็นหนึ่งในการสาธิตการยิงด้วยกระสุนจริงที่ใหญ่ที่สุด ก็ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน และมีการถ่ายทอดสดตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19”
ญี่ปุ่นยังมีเป้าหมายที่จะขยายบทบาทของตนเองในด้านการป้องปรามระดับภูมิภาค โดยการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ผ่านการพัฒนาขีดความสามารถด้านกลาโหมให้ทันสมัยขึ้นและการตอบสนองแบบบูรณาการที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ภายใน พ.ศ. 2570 รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนที่จะเพิ่มงบประมาณกลาโหมเป็นสองเท่า ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ รวมถึงการจัดหาขีดความสามารถในการโจมตีตอบโต้ เช่น ขีปนาวุธร่อนโทมาฮอว์ก ที่ผลิตโดยสหรัฐฯ และการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลแบบยิงจากพื้นสู่เรือ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงฝูงบินด้วยเครื่องบินขับไล่ล่องหน เอฟ-35เอ และ เอฟ-35บี รวมถึงการเสริมสมรรถนะอื่น ๆ
ฐิสันกา สิริปาลา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโตเกียว