ความร่วมมือเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การฝึกซ้อมทางทหารแบบพหุภาคีในอินโดนีเซียประสบความสำเร็จอย่าง “ยอดเยี่ยม”

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

การฝึกซ้อมทางทหารแบบพหุภาคีซูเปอร์การูด้าชิลด์ พ.ศ. 2567 ที่จัดขึ้นบนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในกลุ่มทหารจาก 10 ประเทศที่เข้าร่วม และผู้สังเกตการณ์จาก 12 ประเทศ รวมถึงชุมชนท้องถิ่น การฝึกซ้อมครั้งนี้ช่วยยกระดับความสามารถของกองกำลังพันธมิตรในการปฏิบัติงานร่วมกันในหลายขอบเขตเป็นหลัก

การฝึกซ้อมที่จัดขึ้นเป็นเวลา 12 วัน โดยกองทัพอินโดนีเซียครั้งนี้ ได้มีการฝึกซ้อมระเบียบการรบแบบร่วมมือกัน พัฒนาการสั่งการและควบคุม รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ร่วมในสถานการณ์วิกฤต นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการพัฒนาทางวิชาชีพ การฝึกซ้อมในหลายสถานที่ ซึ่งประกอบไปด้วยการบุกจู่โจมแบบสะเทินน้ำสะเทินบกเพื่อยึดฐานของศัตรู การปฏิบัติการทางอากาศ การฝึกอบรมในป่าดิบชื้น และการฝึกยิงด้วยกระสุนจริง รวมถึงจรวดหลายลำกล้อง อากาศยานปีกตรึง ปืนใหญ่ขนาด 105 มม. และอาวุธขนาดเล็กอื่น ๆ

กองกำลังจากจากอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริการ่วมกันฝึกยิงปืนใหญ่ การยิงด้วยกระสุนจริง และการฝึกทางอากาศ ระหว่างการฝึกซูเปอร์การูด้าชิลด์ พ.ศ. 2567 ในอินโดนีเซีย
วิดีโอจาก: ส.ท. ออสมาร์ กูเตเรซ/ส.ท. ไอแซค โคปแลนด์/ส.ท. เอวานเจลอส วิลสัน/นาวิกโยธินสหรัฐฯ/กองทัพบกสหรัฐฯ

ซูเปอร์การูด้าชิลด์ยังได้จัดการฝึกอบรมการป้องกันทางไซเบอร์และการฝึกโจมตีร่วมเป็นครั้งแรก โดยมี พล.อ. อกัส ซูบียันโต ผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซีย และ พล.ร.อ. ซามูเอล ปาปาโร ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก เข้าร่วมด้วย

“เราไม่ได้ทำสิ่งนี้เพื่อแสดงแสนยานุภาพ แต่เราทำเพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตจำนง” พล.ร.อ. ปาปาโรกล่าว “นี่เป็นการแสดงเจตจำนงเพื่อที่เราจะไม่ต้องสู้รบ”

กองกำลังอินโดนีเซียได้แบ่งปันความรู้เกี่ยวกับภูมิประเทศที่หลากหลายของประเทศตนเองที่มีลักษณะเป็นหมู่เกาะ และได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกับกองทัพของหุ้นส่วน พ.ท. มูฮัมหมัด อิบราฮิม ซิดิค เซาลิซา ผู้นำกองพันทหารราบจู่โจมที่ 514 ของอินโดนีเซีย กล่าวกับ ฟอรัม

การฝึกซ้อมนี้เริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ. 2550 โดยเป็นการแลกเปลี่ยนแบบทวิภาคีระหว่างกองทัพอินโดนีเซียและกองทัพสหรัฐฯ และได้ขยายเป็นการฝึกแบบพหุภาคีใน พ.ศ. 2565 ประเทศที่เข้าร่วมใน พ.ศ. 2567 ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร รวมแล้วมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมดประมาณ 5,500 คน

เจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่นเตรียมยิงปืนครกระหว่างการฝึกซูเปอร์การูด้าชิลด์ พ.ศ. 2567 ที่พุสลัตปูร์ ประเทศอินโดนีเซีย
ภาพจาก: ส.ต. มารายห์ อากีลาร์/กองทัพบกสหรัฐฯ

การฝึกป้องกันทางไซเบอร์ที่ฐานทัพเรือของอินโดนีเซียนอกเมืองสุราบายามีเจ้าหน้าที่จากอินโดนีเซีย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ เข้าร่วม และนำไปสู่สถานการณ์จำลองที่ทีมหนึ่งพยายามเจาะระบบเครือข่ายไซเบอร์ซึ่งมีอีกทีมหนึ่งเป็นผู้ป้องกัน “เราใช้การฝึกอบรมนี้เป็นรากฐานในการพัฒนาต่อในปีต่อ ๆ ไปในอนาคตข้างหน้า” น.อ. เกลน ฮายาเส จากกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิทางอากาศของรัฐฮาวาย ผู้ประสานงานการฝึกอบรม กล่าวกับ ฟอรัม “แผนในอนาคตคือการเพิ่มความซับซ้อน ขยายการเข้าร่วมจากหลายประเทศ และพัฒนาทักษะทางเทคนิคให้กับประเทศหุ้นส่วนของเรา”

น.ท. แอนดี โคลวส์ จากกองทัพเรือออสเตรเลีย กล่าวว่า การฝึกขนาดใหญ่อย่างซูเปอร์การูด้าชิลด์มีจุดประสงค์ในการให้ทุกฝ่ายทำงานไปในทิศทางเดียวกัน “กุญแจสำคัญในการสู้รบคือการมีความสัมพันธ์ที่ดีตั้งแต่ต้น” น.ท. โคลวส์ กล่าวกับ ฟอรัม “นี่จึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่เสมอในระดับกองทัพต่อกองทัพ การเข้าใจซึ่งกันและกันทั้งจากในมุมมองทางทหาร ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่ง่าย และในมุมมองทางวัฒนธรรม ซึ่งมักจะเป็นส่วนที่ยากกว่า”

การปลูกฝังการให้คุณค่าแก่ชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของแผนการฝึกอบรม กองกำลังเฉพาะกิจจากแคนาดา อินโดนีเซีย และสหรัฐฯ ได้สร้างถนนทางเข้าเพื่อการใช้งานทั้งทางการทหารและพลเรือนในเมืองพุสลัตปูร์ และทหารจากอินโดนีเซียและสหรัฐฯ ได้ใช้เวลารวมกันกว่า 15,000 ชั่วโมงในการฟื้นฟูอาคาร 9 หลังในโรงเรียนประถมศึกษาที่เมืองปาลากันในจังหวัดชวาตะวันออก ในพิธีเปิด นายโมฮัมหมัด ยาซิน ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้กล่าวถึง “จิตวิญญาณใหม่ บ้านหลังใหม่ และอนาคตที่สดใสขึ้น” สำหรับนักเรียน

“เราไม่เพียงแต่ฝึกซ้อมร่วมกับหุ้นส่วนของเราเท่านั้น แต่ยังมีส่วนร่วมกับประชากรในท้องถิ่นด้วย” พล.จ. เควิน เจมส์ วิลเลียมส์ รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 25 สำหรับปฏิบัติการนี้และผู้บัญชาการกองกำลังทหารบกในการฝึกนี้ กล่าว “ด้วยโครงการด้านวิศวกรรม การแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์ และโครงการอื่น ๆ ที่มุ่งเน้นไปที่ชุมชน เรากำลังสร้างสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าการทหาร ซึ่งเป็นการส่งเสริมเจตจำนงที่ดีและความเคารพซึ่งกันและกัน”

พ.ต. นาธาน ลี จากกองทัพบกออสเตรเลีย ผู้บัญชาการทหารจากหน่วย 114 เดลตา ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเคารพวัฒนธรรมอื่น ๆ ในการฝึกครั้งนี้ พ.ต. ลีได้จัดให้มีล่ามไว้ในหน่วยของเขา และยืนยันให้ทหารที่เข้าร่วมการฝึกเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอินโดนีเซียด้วย “เราทำได้ดีในการสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กัน” พ.ต. ลีกล่าวกับ ฟอรัม “เราต้องการที่จะสื่อสารให้ดียิ่งขึ้น”

พ.ต. คาร์ล ชโรเดอร์ ผู้บัญชาการหน่วยบีคอมปานีของกองทัพบกอังกฤษ ซึ่งประจำการอยู่ในบรูไน กล่าวว่า การฝึกซ้อมแบบพหุภาคีนี้ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างหน่วยทหารในเรื่องวิธีการคิดและการทำงานของกองทัพอื่น ๆ “นี่คือการสร้างความสัมพันธ์ตั้งแต่ตอนนี้” พ.ต. ชโรเดอร์กล่าว “เพื่อว่าในอนาคตเราจะสามารถยกหูโทรศัพท์ โทรหาคนในประเทศต่าง ๆ แล้วพูดว่า ‘ให้เราช่วยอะไรคุณบ้าง'”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button