ข้อมูลผู้นำคนสำคัญแผนก

เป็นไปตามที่คาดไว้

ผู้บัญชาการกองทัพฟิลิปปินส์หันมามุ่งความสนใจไปยังภัยคุกคามยุคใหม่

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

พล.อ. โรมิโอ บราวเนอร์ จูเนียร์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองทัพฟิลิปปินส์ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ก่อนหน้านี้ พล.อ.บราวเนอร์เคยเป็นผู้บัญชาการกองทัพฟิลิปปินส์คนที่ 65 ซึ่งเป็นบทบาทที่ทำให้เขาได้รับรางวัลลีเจียนออฟเมอริต ในระดับผู้บัญชาการ สำหรับการทำงานด้วยความมุ่งมั่น พล.อ. บราวเนอร์ เป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งในระดับสูงและได้ดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพฟิลิปปินส์ ซึ่งได้แก่ ผู้บัญชาการกองกำลังพิเศษที่ 6 และกองพันพิเศษที่ 2 เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในกรมทหารพิเศษ และผู้บัญชาการกรมทหารราบที่ 6 แห่งกองทัพบกฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ พล.อ. บราวเนอร์ยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกรมทหารปฏิบัติการระหว่างทหารและพลเรือน หัวหน้าฝ่ายกิจการสาธารณะของกองทัพบกฟิลิปปินส์ และโฆษกของกองทัพฟิลิปปินส์

หลังจากสำเร็จการศึกษาจากสถาบันการทหารของฟิลิปปินส์ใน พ.ศ. 2532 พล.อ. บราวเนอร์ได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการจัดการข้อมูลจากมหาวิทยาลัยอะเตเนโอ เด มะนิลา, ด้านการบริหารธุรกิจจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียในประเทศไทย และสถาบันด้านการจัดการแห่งยุโรปในสหราชอาณาจักร รวมถึงด้านการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์จากวิทยาลัยการทัพบกของสหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ. 2566 พล.อ. บราวเนอร์ได้รับการเชิดชูเกียรติในฐานะศิษย์เก่าที่หอเกียรติยศของวิทยาลัยการทัพบกของสหรัฐฯ

พล.อ. บราวเนอร์นั่งพูดคุยกับ ฟอรัม ที่ค่าย เอช.เอ็ม. สมิธ รัฐฮาวาย ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก เพื่อหารือเกี่ยวกับหัวข้อต่าง ๆ รวมถึงความท้าทายด้านความมั่นคงของฟิลิปปินส์ ลำดับความสำคัญของกองทัพฟิลิปปินส์ และปฏิกิริยาของนานาชาติต่อกิจกรรมในทะเลจีนใต้ ซึ่งรวมถึงการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนพยายามคุกคามและปิดกั้นเรือฟิลิปปินส์และรุกล้ำเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลฟิลิปปินส์ การสัมภาษณ์นี้มีการเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบของ ฟอรัม

ความท้าทายด้านความมั่นคงหลัก ๆ ที่ฟิลิปปินส์ต้องเผชิญคืออะไร?

เรายังคงต้องรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในประเทศอยู่ เป็นเวลานานเหลือเกินที่เราต้องต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในสงครามก่อความไม่สงบ แต่ผมสามารถพูดได้ว่าเราประสบความสำเร็จในการรับมือกับกลุ่มคนเหล่านี้ ท่านประธานาธิบดีได้มอบหมายภารกิจในการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงภายในประเทศให้กับเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง … คอมมิวนิสต์ กลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ติดอาวุธ และผู้ก่อการร้ายในท้องถิ่น

ซึ่งภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้อาจเป็นการป้องกันหมู่เกาะที่เป็นของฟิลิปปินส์ สิ่งที่เรากังวลมากที่สุดคือ เราจะปกป้องสิทธิอธิปไตยของเราไว้ได้อย่างไร ซึ่งหมายความว่า เราต้องปกป้องสิทธิของเราเหนือเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก หรือทะเลจีนใต้

กองทหารยืนตรงเข้าแถวในระหว่างการเฉลิมฉลองครบรอบ 88 ปีของกองทัพฟิลิปปินส์ ที่ค่ายอากีนัลโด ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

กองทัพฟิลิปปินส์สามารถปราบปรามการก่อความไม่สงบในมาราวีได้สำเร็จ กองทัพมีการเปลี่ยนผ่านจากการรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในประเทศไปสู่ความท้าทายที่แตกต่างยิ่งขึ้นอย่างไรบ้าง?

เรามีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงจากภายนอกมาเป็นเวลานาน แต่เราไม่ได้ให้ความสำคัญในส่วนนี้มากนัก ทว่าในปัจจุบัน เราได้จับตามองการกระทำของจีนอยู่ ซึ่งก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่เพียงกองทัพที่รู้สึกถึงแรงกดดัน แต่ทั้งประเทศก็รู้สึกแบบนั้นเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้รับแรงสนับสนุนจากประเทศของเรา ได้รับแรงสนับสนุนจากท่านประธานาธิบดี และนั่นเป็นเหตุผลที่เราก้าวไปสู่การเปลี่ยนผ่านเพื่อป้องกันดินแดน บางทีหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือ เราจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถของเราในการรับมือกับภัยคุกคามภายนอกได้อย่างไร

เช่น เรามีโครงการการปรับปรุงให้ทันสมัย ซึ่งเราเริ่มคิดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2538 แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ๆ นัก แต่ในปัจจุบัน เราได้เห็นถึงการกระทำที่ก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อย ๆ ของจีน ซึ่งทุกประเทศต่างบอกให้ประเทศของเราเร่งเสริมสร้างกองทัพ และตรวจสอบให้แน่ใจว่ากองทัพของเราจะสามารถปกป้องประเทศจากภัยคุกคามภายนอกได้

และส่วนหนึ่งของการปรับปรุงให้ทันสมัยนั้นจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่าย ดังนั้นประชาชนจึงต้องให้การสนับสนุนเพื่อทุ่มเททรัพยากรในการเสริมสร้างกองทัพของเรา หนึ่งในผู้สนับสนุนของเราไม่เพียงพยายามสร้างขีดความสามารถให้แก่กองทัพฟิลิปปินส์ แต่ยังสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนของเราว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของกองทัพเท่านั้น ประชาชนเองก็ต้องทำในส่วนของตนเองเพื่อปกป้องหมู่เกาะของเราด้วยเช่นกัน ผมพยายามจะเชื่อมโยงกับยูเครนซึ่งเป็นประเทศที่เราเห็นได้ว่าประชาชน แม้แต่เด็กและผู้หญิง ต่างก็ออกมาปกป้องประเทศของตนเอง ผู้ที่กำลังต่อสู้อยู่นั้นคือประชาชน

นั่นคือสิ่งที่ผมพยายามจะบอกแก่ชาวฟิลิปปินส์ว่า เราต้องเตรียมความพร้อมสำหรับประเทศของเรา ซึ่งอาจไม่ได้อยู่ในแง่ของความสามารถในการสู้กลับและป้องกันตนเอง แต่เป็นการตระหนักถึงแนวคิดที่ว่า เราทุกคนควรเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ใด ๆ ก็ตามไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากมนุษย์หรือเกิดเองตามธรรมชาติ เนื่องจากเรามักจะประสบกับพายุไต้ฝุ่นอยู่เสมอ ดังนั้นเราจึงเตรียมความพร้อมสำหรับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ … เพราะเราต้องเผชิญกับความเสี่ยงทั้งหมดนี้ ดังนั้นเราทุกคนในประเทศจึงควรเตรียมความพร้อมเอาไว้

คุณให้ความสำคัญกับความท้าทายใดบ้าง?

เรากำลังพยายามเพิ่มความซับซ้อนและความถี่ของปฏิบัติการร่วมที่เราจะดำเนินการ ซึ่งไม่ใช่แค่กับสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่เรายังปฏิบัติการร่วมกับประเทศอื่น ๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกันด้วย แม้จะให้ความสำคัญกับภูมิภาคเป็นหลัก แต่เรายังมีส่วนร่วมในการฝึกอื่น ๆ นอกภูมิภาคด้วย

พล.อ. บราวเนอร์ ผูเสนาธิการกองทัพฟิลิปปินส์ในขณะนั้น (ซ้าย) และ พล.อ. เจมส์ แมคคอนวิลล์ เสนาธิการกองทัพบกสหรัฐฯ ในขณะนั้น แสดงความเคารพในระหว่างการเดินทางมาถึง ณ ป้อมโบนิฟาซิโอ ในเมืองตากิก ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ตามรายงานของ รอยเตอร์

คุณต้องการยกระดับขีดความสามารถในด้านใด?

เรากำลังมองหาการพัฒนาขีดความสามารถในการทำสงครามไซเบอร์สำหรับกองทัพฟิลิปปินส์ เรากำลังมองหาความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับสหรัฐฯ ในด้านนี้และกับประเทศอื่น ๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เช่น เรากำลังพิจารณาแบบจำลองของสิงคโปร์ซึ่งได้สร้างกองทัพอื่นนอกเหนือจากกองทัพอากาศ กองทัพเรือ และกองทัพบก สิงคโปร์สร้างกองทัพที่สี่โดยใช้ชื่อว่า กองทัพดิจิทัลและข่าวกรอง และได้ผ่อนปรนข้อกำหนดในการรับสมัครทหารเข้าสู่กองทัพดิจิทัลและข่าวกรอง เนื่องจากพวกเขาทราบดีว่านักรบไซเบอร์รูปแบบใหม่นี้อาจไม่จำเป็นต้องดำเนินการในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับทหารแบบดั้งเดิมที่เรารู้จัก สิ่งที่สิงคโปร์ต้องการไม่ใช่สมรรถภาพทางกายของการเป็นทหาร แต่เป็นแนวคิดของการเป็นนักรบไซเบอร์รุ่นใหม่ ดังนั้น เราจึงกำลังพยายามศึกษาข้อมูลในด้านนี้

การที่ฟิลิปปินส์เปิดเผยเกี่ยวกับกิจกรรมบางประการของจีนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์ส่งผลอย่างไรบ้าง?

ในปัจจุบัน เราได้รับการสนับสนุนจากนานาประเทศดังที่เราหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐอเมริกา จากประเทศในยุโรป จากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา … หากแต่เรากำลังพยายามที่จะได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน เราได้รับการสนับสนุนทั้งรายประเทศและการสนับสนุนระดับทวิภาคีจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ทว่าสิ่งที่เรากำลังพยายามเพื่อให้ได้มานั้นคือการสนับสนุนในฐานะกลุ่มอาเซียนโดยรวม ยิ่งมีประเทศเพื่อนบ้านที่คอยให้ความช่วยเหลือเรามากขึ้นเท่าใด ผลลัพธ์ที่เราได้ก็จะยิ่งใหญ่มากขึ้นเท่านั้น

เหตุการณ์สำคัญใดบ้างที่จะนำมาซึ่งการสนับสนุนดังกล่าว?

สำหรับการสนับสนุนจากอาเซียน เราได้มีการฝึกซ้อมระดับทวิภาคีกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซียและมาเลเซีย นอกจากนี้ เรายังมีความสัมพันธ์ระดับไตรภาคีกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย เนื่องจากทั้งสองประเทศมีพรมแดนใกล้กันกับทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ เราอยากเห็นความพยายามส่วนรวมมากขึ้นจากบรรดากลุ่มประเทศอาเซียน สำหรับสหรัฐฯ นั้นไม่มีปัญหาใด ๆ เลย เนื่องจากเรากำลังยกระดับปฏิบัติการของเราอยู่

เรากำลังพิจารณาปฏิบัติการระดับพหุภาคีกับออสเตรเลียและญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดี เราจึงอยากใช้ประโยชน์จากปฏิบัติการนี้ และเราได้รับการยืนยันจากรัฐบาลของสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่นแล้วว่าทั้งสามประเทศจะให้การสนับสนุนเรา

สำหรับกฎระเบียบและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ รวมถึงความสำคัญของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล เหตุใดประเทศต่าง ๆ และหุ้นส่วนจึงรวมตัวกัน?

อย่างน้อยในตอนนี้ เราก็มีประเด็นสำคัญร่วมกันในการเผยแพร่ระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา แต่อันที่จริง หากมองดูผลประโยชน์ของแต่ละประเทศแล้ว กฎระเบียบทั้งหมดนี้ต่างก็ให้ความสำคัญกับการปกป้องผลประโยชน์บางประการ เนื่องจากภูมิภาคนี้มีความสำคัญต่อสิ่งที่เรียกว่า การค้าระหว่างประเทศ และแนวคิดพื้นฐานคือการที่สามารถล่องเรือไปได้ทุกที่ที่ต้องการ … การมีเสรีภาพในการเดินเรือ แนวคิดประเภทนี้เป็นที่แพร่หลายในเรื่องเล่าของทุกประเทศเหล่านี้ และเรารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่เป็นเช่นนั้น

พล.อ. บราวเนอร์เข้าตรวจสอบกองทหารเกียรติยศที่กองบัญชาการตะวันตกในเมืองปวยร์โต ปรินเซซา จังหวัดปาลาวัน เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ตามรายงานของ
ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

คุณคิดอย่างไรกับการรับสมัครบุคลากรรุ่นใหม่?

ทหารวัยหนุ่มเติบโตมาพร้อมกับการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ พวกเขามักจะมีสมาธิสั้นลงเนื่องจากเอาแต่จดจ่ออยู่กับสื่อสังคมออนไลน์ หากต้องใช้เวลานานในการโหลดรูปภาพหรือวิดีโอ พวกเขาก็เลือกที่จะไปยังหน้าถัดไปทันที ซึ่งนั่นคือการก้าวไปข้างหน้าต่อเลย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนงานสำหรับคนวัยนี้ เมื่อใดที่รู้สึกไม่ชอบงานของตนเอง ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับพวกเขาที่จะย้ายไปทำงานอื่น ดังนั้นการรักษาคนวัยนี้ไว้ให้ทำงานต่อไปอาจเป็นเรื่องยาก

แต่ในกรณีของฟิลิปปินส์ เราไม่มีปัญหาในเรื่องการรักษาทหารของเราไว้เลย แม้แต่ทหารที่อายุน้อยก็ตาม และแม้กระทั่งการรับสมัครก็ไม่มีปัญหาเช่นกัน ในความเป็นจริงแล้ว ตอนที่ผมมาถึงที่นี่เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ผมได้เข้าเยี่ยม พล.อ. เจมส์ แมคคอนวิลล์เสนาธิการกองทัพบกสหรัฐฯ ในขณะนั้น พล.อ. แมคคอนวิลล์ได้สอบถามว่าเรามีปัญหาในการรับสมัครทหารหรือไม่ ซึ่งผมตอบไปว่า “ไม่ครับท่าน เราไม่มีปัญหาใด ๆ เลย อันที่จริง เรามีผู้สมัครมากกว่าจำนวนทหารที่เราต้องการด้วยซ้ำ”

“แล้วเรื่องการรักษาทหารเหล่านั้นเอาไว้ล่ะ?” พล.อ. แมคคอนวิลล์ถามผมตอบ “ในเรื่องนี้ก็ไม่มีปัญหาเช่นเดียวกันครับ”
อีกทั้งผมยังได้เสนอว่า “หากท่านมีปัญหาในเรื่องการรับสมัครทหารจากพลเมืองของสหรัฐฯ ทำไมท่านไม่รับสมัครชาวฟิลิปปินส์แทนล่ะ?” ประเทศของเรามีทหารที่ดีเยี่ยม

เหตุใดคุณจึงคิดว่ากองทัพฟิลิปปินส์แทบจะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการรับสมัครและการรักษาทหารไว้?

ผมคิดว่าคงจะเป็นเพราะวัฒนธรรมของชาวฟิลิปปินส์ วัฒนธรรมในการให้บริการ

ช่วยเล่าเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและเส้นทางที่นำคุณไปสู่การเป็นเสนาธิการกองทัพฟิลิปปินส์หน่อยได้หรือไม่?

หลาย ๆ คนมักจะถามเกี่ยวกับนามสกุลของผม เนื่องจากเป็นนามสกุลที่ไม่คุ้นเคยในฟิลิปปินส์ ประวัติครอบครัวของผมแสดงให้เห็นถึงความลึกซึ้งของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ ปู่ทวดของผมเป็นสมาชิกของกรมทหารแห่งกองทัพสหรัฐฯ โดยทหารส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ซึ่งถูกส่งตัวไปยังฟิลิปปินส์ในช่วงสงครามระหว่างฟิลิปปินส์และอเมริกาที่เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2442 กรมทหารดังกล่าวซึ่งมีชื่อเล่นที่เรียกกันว่า ทหารบัฟฟาโล ก่อตั้งขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 เพื่อประจำการบริเวณชายแดนอเมริกา

จากเรื่องราวที่ผมได้รับฟังมาจากคุณปู่ ทหารบัฟฟาโลมีน้ำใจต่อชาวฟิลิปปินส์อย่างมากเนื่องจากเป็นคนผิวสีด้วยเหมือนกัน อีกทั้งยังอาจมีความเกี่ยวข้องห่าง ๆ กับชาวฟิลิปปินส์ด้วย ทหารบัฟฟาโลถูกเรียกตัวกลับไปยังสหรัฐฯ แต่บางคนก็ยังคงปักหลักตั้งรกรากอยู่ที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือปู่ทวดของผม นั่นจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของนามสกุล บราวเนอร์ ในฟิลิปปินส์ ครอบครัวของเรามีกันเพียงไม่กี่คน

นอกจากนี้ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ปู่ของผมได้ร่วมต่อสู้กับกองทัพอเมริกันในกองกำลังที่เรียกว่า กองโจร

ต่อมาในรุ่นพ่อของผม เนื่องจากพ่อมีพี่น้องถึงสิบสองคน เป็นผู้ชาย 6 คน และผู้หญิง 6 คน จึงมีพี่น้องผู้ชาย 4 คนที่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนเตรียมทหาร จากนั้นในรุ่นถัดมา ครอบครัวเราก็มีญาติ ๆ อีกสองสามคนที่เข้ามาทำงานในกองทัพด้วย และหลังจากนั้นไม่นาน ผมก็เข้าเรียนในโรงเรียนเตรียมทหารด้วยเช่นกัน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับอาชีพทหารของผมในกองทัพฟิลิปปินส์

สิ่งสำคัญเกี่ยวกับกองทัพฟิลิปปินส์ที่คุณอยากจะบอกแก่ผู้นำกองทัพของประเทศอื่น ๆ คืออะไร?

ในขณะที่เรากำลังเตรียมความพร้อมเพียงฝ่ายเดียวสำหรับบางสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ แต่จริง ๆ แล้วความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันต่างหากที่จะช่วยป้องปรามประเทศอื่น ๆ
ไม่ให้เข้าครอบงำพื้นที่อื่น ๆ หรือครอบงำภูมิภาคนี้ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเราต้องทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง ร่วมมือกัน ฝึกซ้อมร่วมกันต่อไป และสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการยอมรับเสียงส่วนรวม

อย่างที่ผมได้บอกไปว่า แม้แต่กับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนของเรา สิ่งสำคัญก็คือการที่เรายอมรับเสียงส่วนรวม ซึ่งเสียงดังกล่าวชี้ชัดว่า สิ่งสำคัญคือเราต้องส่งเสริมระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button