ทรัพยากรส่วนรวมของโลกเรื่องเด่น

หุ้นส่วนเพื่อ ความก้าวหน้า

ศรีลังกาทำงาน ร่วมกับอินเดียและสหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจและเสถียรภาพ

ดร. กาเนชาญ วิกนาราชา/เกตเวย์ เฮาส์

ศรีลังกาเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่ต่อสู้กับหนี้เสีย ซึ่งขัดขวางความพยายามในการลดความยากจน สร้างความตึงเครียดให้กับเสถียรภาพทางสังคม และทำให้ภัยคุกคามด้านความปลอดภัยรุนแรงขึ้นมานานหลายทศวรรษ หนี้ของรัฐบาลศรีลังกาคุกคามความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและก่อให้เกิดความท้าทายต่อความมั่นคงในภูมิภาค ทว่าการปรับเปลี่ยนภายในประเทศและความร่วมมือจากภายนอกกำลังส่ง
ผลกระทบในเชิงบวก

ตำแหน่งที่ตั้งของศรีลังกาเหมาะสำหรับการลงทุน โดยมีศักยภาพในการเลียนแบบความสำเร็จของประเทศต่าง ๆ เช่น มาเลเซียและไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินกล่าว ศรีลังกาเป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดียที่มีประชากรประมาณ 22 ล้านคน ตั้งอยู่นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของอินเดียที่เศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และมีความปรารถนาที่จะเจริญรุ่งเรืองในฐานะศูนย์กลางการค้าและการผลิตมายาวนาน

เศรษฐกิจของศรีลังกามีพื้นฐานมาจากการส่งออกชา เสื้อผ้า และแรงงานเป็นหลัก รวมถึงการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มีความสนใจในแสงแดด ชายหาดที่บริสุทธิ์ และแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม อีกทั้งยังมีหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานตุลาการ และหน่วยงานราชการอย่างครบถ้วน

การผิดนัดชำระหนี้และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์ทางการเงินเฉียบพลันทำให้ศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้กับต่างประเทศมากกว่า 1.84 ล้านล้านบาท (ประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ความเคลื่อนไหวดังกล่าวกระตุ้นให้เศรษฐกิจเกิดการหดตัวจนหยุดชะงักลง โดยมีสาเหตุจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและความไม่แน่นอนทางการเงินในวงกว้าง ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของศรีลังกาลดลงร้อยละ 7.8 ใน พ.ศ. 2565 และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 69.8 ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน การขาดแคลนอาหาร เชื้อเพลิง และยารักษาโรค นำมาซึ่งราคาและความต้องการสำหรับสินค้าจำเป็นที่สูงขึ้น ความยากจนเพิ่มขึ้น ชาวศรีลังกาก่อการประท้วงครั้งใหญ่เพื่อต่อต้านการปกครองของประเทศซึ่งถูกครอบงำโดยครอบครัวเดียว และการจัดการทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาดในวงกว้าง นายโกตาพญา ราชปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกา และพี่ชายอย่าง นายมาฮินดา ราชปักษา นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ได้ประกาศลาออก

นายรานิล วิกรามาสิงหะ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 จากนั้นคณะรัฐบาลของนายวิกรามาสิงหะจึงเร่งหารือกับอินเดียและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ เกี่ยวกับการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ และใช้มาตรการรักษาเสถียรภาพ เช่น การยกเลิกเงินอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ เศรษฐกิจของศรีลังกาแสดงให้เห็นถึงสัญญาณของความมั่นคง โดยมีอัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือร้อยละ 5.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 และมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่ใช้ได้ประมาณ 1.09 แสนล้านบาท (ประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ไม่มีการต่อแถวเพื่อซื้อสินค้าจำเป็นอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานยังคงมีอยู่ และสัดส่วนของประชากรที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็นร้อยละ 25 ภาวะขาดสารอาหารในเด็กเพิ่มขึ้นเนื่องจากครอบครัวถูกบังคับให้หันไปกินอาหารที่มีราคาถูกลงและไม่ดีต่อสุขภาพ

ชาวศรีลังกาในโคลัมโบและที่อื่น ๆ ประท้วงการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของประเทศในช่วงวิกฤตการคลังใน พ.ศ. 2565 เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

สาเหตุของการล้มละลายคืออะไร?

ทฤษฎีของนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจใน
ศรีลังการวมถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ผลกระทบภายนอก การทูต “กับดักหนี้” ของจีน และการบริหารจัดการทางการเงินที่ผิดพลาด

การระบาดของโควิด-19 เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวอย่างหนักใน พ.ศ. 2563 และทำให้ชาวศรีลังกากว่า 5 แสนคนต้องตกอยู่ในภาวะยากจน โดยเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นใน พ.ศ. 2564 แต่การรุกรานของรัสเซียในยูเครนในช่วงต้น พ.ศ. 2565 ส่งผลให้ค่านำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและอาหารสูงขึ้น ก่อให้เกิดเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และเงินรูปีอ่อนค่าลงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ผลกระทบภายนอกเหล่านี้ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อเศรษฐกิจที่สั่นคลอน เนื่องจากความขัดแย้งภายในประเทศกับกลุ่มก่อความไม่สงบมานานหลายสิบปีและการขาดดุลทางการคลังอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยภายนอกหลายประการเหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในภูมิภาคด้วย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ระบุว่ามีประเทศในอินโดแปซิฟิกสิบกว่าประเทศที่ประสบปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและโควิด-19

ศรีลังกาได้กู้ยืมเงินจํานวนมากจากธนาคารของรัฐบาลจีน คือประมาณ 4.85 แสนล้านบาท (ประมาณ 1.32 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ระหว่าง พ.ศ. 2549 ถึง 2565 เพื่อลงทุนสร้างทางหลวง ท่าเรือ สนามบิน และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ บางโครงการ เช่น ท่าขนถ่ายตู้สินค้านานาชาติโคลัมโบที่ท่าเรือโคลัมโบ ช่วยยกระดับการค้าระหว่างศรีลังกากับอินเดีย โครงการอื่น ๆ เช่น ท่าเรือนานาชาติฮัมบันโตตา ท่าอากาศยานนานาชาติมัตตาลาราชปักษา และโลตัสทาวเวอร์ ซึ่งเป็นโครงสร้างการสื่อสารและแหล่งท่องเที่ยว ส่งผลให้ศรีลังกาต้องแบกรับเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสูงและความล่าช้าในการดำเนินงานระยะยาว ซึ่งล้วนแปรสภาพเป็นหนี้ที่ไม่ยั่งยืน เพื่อช่วยชดเชยหนี้สินของท่าเรือฮัมบันโตตา บริษัทที่ควบคุมโดยสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เจรจาต่อรองสัญญาเช่าท่าเรือเป็นเวลา 99 ปี

แม้ว่าจีนจะเป็นเจ้าหนี้ทวิภาคีรายใหญ่ที่สุดของศรีลังกาและได้เพิ่มภาระหนี้ภายในประเทศ แต่เจ้าหนี้เอกชนถือเป็นหนี้ต่างประเทศส่วนใหญ่ของประเทศขนาดเล็กแห่งนี้ การผิดนัดชําระหนี้ของศรีลังกาแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงของการกู้ยืมจากต่างประเทศอย่างไม่รอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพาพันธบัตรรัฐบาลที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงเพื่อจัดหาเงินทุนสําหรับโครงการพัฒนา หรือการพึ่งพาเงินกู้ของจีนที่มีดอกเบี้ยสูงและผลตอบแทนต่ำ

แม้ว่าข้อผูกมัดภายนอกและหนี้ของจีนจะมีบทบาทสำคัญ แต่ปัญหาการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาลกลับเด่นชัดขึ้น และมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่นํามาใช้รับมือกับการระบาดของโรคทําให้ปัญหานี้รุนแรงขึ้น ความผิดพลาดด้านนโยบายหลายประการ ได้แก่ การปฏิเสธความช่วยเหลือของไอเอ็มเอฟเนื่องจากกังวลว่ามาตรการที่เข้มงวดของกองทุนดังกล่าวจะไม่เป็นที่นิยม นโยบายการเงินที่มีการขยายตัวอย่างมากที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูง
การดําเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่โดยไม่มีการสนับสนุนทุนสำรองระหว่างประเทศ การใช้การแลกเปลี่ยนทวิภาคีกับธนาคารกลางในภูมิภาคเพื่อจัดการหนี้ต่างประเทศ การลดภาษีโดยรวมซึ่งลดรายได้ของรัฐบาล ตลอดจนการห้ามนำเข้าปุ๋ยเคมีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเกษตรกร ซึ่งส่งผลให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น

บทบาทของอินเดียในการเป็นผู้ตอบรับรายแรก

ก่อนที่ไอเอ็มเอฟจะให้ความช่วยเหลือ อินเดียได้ระดมความช่วยเหลือทวิภาคีครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เพื่อตอบรับคําขอเร่งด่วนของศรีลังกาในการจัดหาเงินทุนจากภายนอก อินเดียให้เหตุผลว่าดำเนินการตามนโยบายของตนที่ชื่อว่า นโยบายเพื่อนบ้านมาก่อน เพื่อช่วยบรรเทาวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่กำลังเกิดขึ้นในศรีลังกา และความกังวลเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย อินเดียได้ระดมทุนช่วยเหลือศรีลังกาประมาณ 1.46 แสนล้านบาท (ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ใน พ.ศ. 2565 ซึ่งรวมถึงวงเงินสินเชื่อ เงินกู้ และเงินทุนสนับสนุน โดยทุนช่วยเหลือดังกล่าวเป็นจำนวนที่มากกว่าความช่วยเหลือทวิภาคีทั้งหมดของหุ้นส่วนด้านการพัฒนาอื่น ๆ ที่มอบให้ศรีลังกา อีกทั้งยังได้ยกระดับชื่อเสียงของอินเดียในฐานะผู้บริจาครายใหญ่ ความช่วยเหลือของอินเดียที่มอบให้แก่ศรีลังกาก่อนหน้านี้มุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ทุนการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของอินเดีย และความช่วยเหลือด้านความมั่นคง

ในขณะที่เศรษฐกิจของศรีลังกาดีขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ความสัมพันธ์ทวิภาคีจะเปลี่ยนจากความช่วยเหลือเป็นการค้าที่ลงลึกมากขึ้นและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ อดานิ กรุ๊ป ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทในอินเดีย ได้ประกาศว่าจะลงทุน 4.19 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 1.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมในลุ่มน้ำแมนนาร์นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของศรีลังกา และท่าขนถ่ายตู้สินค้าทางตะวันตกที่ท่าเรือโคลัมโบ ซึ่งเป็นโครงการร่วมกับจอห์น คีลส์ กรุ๊ป กลุ่มบริษัทของศรีลังกา โครงการของอดานิคิดเป็นเกือบร้อยละ 67 ของการลงทุนของอินเดียในศรีลังการะหว่าง พ.ศ. 2548 ถึง 2562 บริษัท เอ็นทีพีซี จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทสาธารณูปโภคด้านพลังงานรายใหญ่ที่สุดของอินเดีย และคณะกรรมการกิจการไฟฟ้าซีลอนของศรีลังกา ได้ตกลงที่จะจ่ายเงินมากกว่า 5.07 พันล้านบาท (ประมาณ 138 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สําหรับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และสายส่งไฟฟ้าใต้มหาสมุทรอินเดียเพื่อส่งเสริมการค้าพลังงานทวิภาคี

โครงการโครงสร้างพื้นฐานของอินเดียมีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงศรีลังกาด้วยทักษะ เทคโนโลยี และเงินทุน พร้อมกับกระตุ้นการลงทุนเพิ่มเติมของอินเดียในการผลิตและบริการด้านอุตสาหกรรมเบา อินเดียและศรีลังกาควรส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวผ่านการตลาด การเปิดเสรีกฎระเบียบในการเข้าประเทศ และการเปลี่ยนกระบวนการข้อเสนอเป็นดิจิทัล การบรรลุข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุมระหว่างอินเดียกับศรีลังกาจะช่วยให้ศรีลังกาเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยเปลี่ยนจากจีนไปยังอินเดีย

เรือบรรทุกสินค้าลำหนึ่งจอดเทียบท่าอยู่ที่ท่าเรือนานาชาติฮัมบันโตตาของศรีลังกา บริษัทที่ควบคุมโดยสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ลงนามในสัญญาเช่าท่าเรือเป็นเวลา 99 ปี ทำให้จีนเข้าถึงและควบคุมได้มากขึ้น ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

การสนับสนุนจากสหรัฐฯ

ศรีลังกาได้ปฏิเสธเงินทุนสนับสนุนจำนวน 1.76 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากบริษัท มิลเลนเนียม ชาเลนจ์ คอร์ปอเรชัน ในสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมการเติบโตโดยการลดความแออัดของการจราจรในโคลัมโบ ปรับปรุงการขนส่งโดยรถประจำทางและถนนในชนบท ตลอดจนให้กรรมสิทธิ์ใช้ที่ดินอย่างปลอดภัย นักวิจารณ์ต่าง ๆ ได้แพร่ข่าวถึงความกังวลที่ไม่มีมูลความจริงเกี่ยวกับแรงจูงใจทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีเจตนาแอบแฝงและภัยคุกคามต่ออํานาจอธิปไตยของศรีลังกา แม้ว่าปัญหาทางเศรษฐกิจของศรีลังกาจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ประโยชน์ของเงินทุนสนับสนุนแบบให้เปล่าที่ไม่จําเป็นต้องชําระคืนกลับถูกมองข้ามไป คณะกรรมการของบริษัท มิลเลนเนียม ชาเลนจ์
คอร์ปอเรชัน จึงได้ถอนข้อเสนอดังกล่าวในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ทว่าสหรัฐฯ ยังคงให้ความช่วยเหลือแก่ศรีลังกาอย่างต่อเนื่อง องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ ได้บริจาควัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้วกว่า 3.4 ล้านโดส รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ แก่ศรีลังกาในช่วงภาวะการแพร่ระบาด รวมทั้งเครื่องช่วยหายใจแบบพกพา 200 เครื่อง ซึ่งได้พัฒนาไปสู่การสนับสนุนการพัฒนาและการค้าของภาคเอกชน ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าจะให้เงินลงทุน 1.87 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 553 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในโครงการท่าเรือโคลัมโบตะวันตก

ความตั้งใจของไอเอ็มเอฟ

ไอเอ็มเอฟทุ่มเงินลงทุนกว่า 1.06 แสนล้านบาท (ประมาณ 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นเวลา 48 เดือน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของศรีลังกาด้วยการฟื้นฟูความยั่งยืนทางการคลังและหนี้สิน โดยเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีที่สูงขึ้น ปรับปรุงการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายสาธารณะและมาตรการต่อต้านการทุจริต พัฒนาโครงการลดความยากจน จัดตั้งธนาคารกลางอิสระและธนาคารที่มีเสถียรภาพทางการเงิน

การช่วยเหลือของไอเอ็มเอฟหลังจากการผิดนัดชำระหนี้มีผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยอินเดียและสหรัฐฯ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของไอเอ็มเอฟอย่างเงียบ ๆ ในขณะเดียวกัน การเจรจาเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้กับจีนก็มีความล่าช้า หลังจากประธานาธิบดีศรีลังกาและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนได้หารือกัน ในที่สุดจีนก็ได้ให้การค้ำประกันเจ้าหนี้แก่ไอเอ็มเอฟ

พ่อค้าคนหนึ่งใส่ของในถุงให้ลูกค้าที่ตลาดขายส่งในโคลัมโบเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจของศรีลังกา รอยเตอร์

การรักษาเสถียรภาพและการฟื้นตัว

ศรีลังกาแสดงให้เห็นถึงสัญญาณของการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจากนโยบายรัฐบาล การลงทุนจากต่างประเทศ ความช่วยเหลือจากหุ้นส่วนด้านการพัฒนา เช่น อินเดียและสหรัฐฯ รวมถึงโครงการฟื้นฟูของไอเอ็มเอฟ การสานต่อโครงการและการดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจของไอเอ็มเอฟจะทำให้ศรีลังกามีโอกาสฟื้นตัว ในขณะที่การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและการยอมรับความช่วยเหลือทางการเงินยังคงมีความสำคัญต่อความสำเร็จทางเศรษฐกิจของประเทศ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button