ความร่วมมืออินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

หุ้นส่วนของกลุ่มควอดประณามการกระทำอันตรายในทะเลจีนใต้ และวางแนวทางสู่ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

รอยเตอร์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกากล่าวว่า พวกเขามีความกังวลอย่างยิ่งต่อการเดินเรือที่ดูข่มขู่และเป็นอันตรายในทะเลจีนใต้ อีกทั้งยังให้คำมั่นว่าจะเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคดังกล่าว

แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวประกาศออกมาในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 หลังจากการเจรจาระหว่างประเทศสมาชิกควอดในกรุงโตเกียว ซึ่งมีผู้เข้าร่วม ได้แก่ นางเพนนี หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย นายซูบราห์มาเนียม ไจชานการ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย นายโยโกะ คามิกาวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น และนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

ในการเจรจาด้านความมั่นคงครั้งก่อนระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ยาวนาน ทั้งสองประเทศได้ระบุว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็น “ความท้าทายทางยุทธศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” ที่ภูมิภาคนี้ต้องเผชิญ

แถลงการณ์ของบรรดารัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกควอดไม่ได้กล่าวถึงจีนแต่อย่างใด “เรารู้สึกกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ และขอเน้นย้ำถึงการเป็นปรปักษ์อย่างแข็งกร้าวต่อการกระทำเพียงฝ่ายเดียวทั้งหลายที่แสวงหาการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมผ่านการใช้กำลังหรือการบีบบังคับ” กลุ่มรัฐมนตรีกล่าว

นอกจากนี้ บรรดารัฐมนตรียังแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเสริมกำลังทางทหารในพื้นที่ทางทะเลที่เป็นข้อพิพาท และการเดินเรือที่บีบบังคับและข่มขู่ในทะเลจีนใต้ รวมถึงการใช้เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งและกองกำลังพลเรือนติดอาวุธทางทะเลอย่างอันตราย

เรือจีนได้คุกคามและปิดกั้นเรือฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้หลายต่อหลายครั้ง แม้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ทั้งสองประเทศจะบรรลุข้อตกลงชั่วคราวที่ให้ความสำคัญกับการบรรเทาความตึงเครียดก็ตาม อีกทั้งกองกำลังรักษาชายฝั่งและกองกำลังพลเรือนติดอาวุธทางทะเลของจีนยังคุกคามเรือของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม รวมถึงขัดขวางการทำธุรกิจน้ำมันและก๊าซอีกด้วย รัฐบาลจีนยังได้ยกระดับการรุกรานดินแดนบริเวณหมู่เกาะเซ็งกะกุที่ญี่ปุ่นบริหารจัดการในทะเลจีนตะวันออกด้วย

สมาชิกควอดกล่าวว่า ทั้งสี่ประเทศกำลังดำเนินโครงการริเริ่มเพื่อรักษา “กฎระเบียบทางทะเลที่เสรีและเปิดกว้าง” รวมไปถึงการช่วยเหลือหุ้นส่วนในการยกระดับขอบเขตในการเฝ้าระวังผ่านข้อมูลดาวเทียม การฝึกอบรม และการเสริมสร้างขีดความสามารถ นอกจากนี้ พวกเขายังประกาศแผนการที่จะริเริ่มการเจรจาด้านกฎหมายทางทะเลด้วย

“เรากำลังกำหนดเส้นทางที่จะนำมาซึ่งภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียที่ปลอดภัยและเปิดกว้างมากขึ้นด้วยการเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล” นายบลิงเคนกล่าว “ทั้งนี้หมายถึงการเสริมสร้างศักยภาพของหุ้นส่วนทั่วทั้งภูมิภาคเพื่อให้ทราบว่ากำลังมีสิ่งใดเกิดขึ้นในน่านน้ำของประเทศตน”

นายบลิงเคนกล่าวว่า สหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับประเทศหุ้นส่วนต่อไปเพื่อให้มั่นใจว่าจะเกิดเสรีภาพในการเดินเรือและการค้าทางทะเลจะชอบด้วยกฎหมายอย่างไม่มีอุปสรรค

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ประกาศแผนการปฏิรูปกองบัญชาการทางทหารครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น แผนดังกล่าวเป็นหนึ่งในหลายมาตรการที่ประเทศหุ้นส่วนได้ประกาศใช้เพื่อรับมือกับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป” ซึ่งระบุถึงภัยคุกคามจากจีน เช่น กิจกรรมทางทะเลที่ผิดกฎหมาย บีบบังคับ ก้าวร้าว และเป็นอันตราย

“ความไม่แน่นอนของกฎระเบียบระหว่างประเทศ ตลอดจนสถานการณ์ระหว่างประเทศทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากรัสเซียยังคงรุกรานยูเครน โดยได้พยายามเปลี่ยนแปลงสถานภาพโดยใช้กำลังอยู่เพียงฝ่ายเดียวในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ รวมถึงการที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธทิ้งตัว” นายคามิกาวากล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น สมาชิกควอดยังได้ให้คำมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือในด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อปกป้องห่วงโซ่อุปทานและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ รวมถึงสายเคเบิลใต้ทะเล

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button