สหรัฐฯ อนุมัติการสนับสนุนระบบสารสนเทศของไต้หวัน
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 สหรัฐฯ ได้อนุมัติการขายอุปกรณ์มูลค่า 1.11 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อช่วยบำรุงรักษาระบบสารสนเทศทางยุทธวิธีของไต้หวัน
ภายใต้กฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวัน พ.ศ. 2522 สหรัฐฯ ตกลงที่จะจัดหาสินทรัพย์และบริการที่จำเป็นสำหรับขีดความสามารถในการป้องกันตนเองให้แก่ไต้หวัน สาธารณรัฐประชาชนจีนอ้างสิทธิ์ในเกาะแห่งนี้ อีกทั้งยังขู่ว่าจะผนวกรวมไต้หวันโดยใช้กำลัง
สำนักงานความร่วมมือด้านความมั่นคงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า การซื้อขายดังกล่าวจะยังคงไว้ซึ่งขีดความสามารถด้านการสั่งการ การควบคุม การสื่อสาร และคอมพิวเตอร์ของไต้หวัน
ทางสำนักงานระบุว่า การสนับสนุนดังกล่าวจะปรับปรุงขีดความสามารถของไต้หวันในการ “รับมือกับภัยคุกคามทั้งในปัจจุบันและในอนาคตผ่านการยกระดับความพร้อมในการปฏิบัติการ” และรักษาขีดความสามารถที่มีอยู่ ซึ่งทำให้การไหลเวียนของข้อมูลทางยุทธวิธีเป็นไปอย่างปลอดภัย
กระทรวงกลาโหมไต้หวันระบุว่า อุปกรณ์ดังกล่าวจะช่วยรักษาประสิทธิภาพของระบบสั่งการและควบคุมการซ้อมรบร่วม และปรับปรุงการรับรู้สถานการณ์ในสนามรบ นับเป็นการขายอุปกรณ์ทางกลาโหมครั้งที่ 12 ให้แก่ไต้หวันภายใต้การบริหารของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงข้อตกลงมูลค่า 1.84 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับระบบติดตามการค้นหาด้วยอินฟราเรดและอุปกรณ์สำหรับเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 ใน พ.ศ. 2566 การซื้อขายครั้งอื่น ๆ ได้แก่ ขีปนาวุธต่อต้านเรือ ฮาร์พูน, เอฟ-16เอส, ขีปนาวุธเจฟลินและสติงเกอร์แบบประทับบ่ายิง และระบบเครื่องยิงจรวดเคลื่อนที่
“ปฏิบัติการทางทหารของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งรอบ ๆ ไต้หวันถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อเรา” ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมไต้หวัน
สำนักงานประธานาธิบดีของไต้หวันกล่าวว่า ข้อตกลงช่วงปลาย พ.ศ. 2566 แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการช่วยป้องกันไต้หวันที่ปกครองตามระบอบประชาธิปไตย รอยเตอร์และดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส