รัฐบาลเวียดนามและรัฐบาลญี่ปุ่นเสริมความร่วมมือด้วยข้อตกลงด้านกลาโหมฉบับใหม่และการขนย้ายยุทโธปกรณ์
ฟีลิกซ์ คิม
ญี่ปุ่นและเวียดนามกำลังเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านกลาโหมเพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่มีร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรุกล้ำดินแดนทางทะเลโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน
ข้อตกลงด้านกลาโหมฉบับใหม่และการขนย้ายยานพาหนะค้นหาและกู้ภัยสองคันเป็นตัวอย่างหนึ่งของความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นตั้งแต่การลงนามในความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมในช่วงปลาย พ.ศ. 2566 การประชุมกันระหว่างนายมิโนรุ คิฮาระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น และ พล.อ. ฝ่าน แวน เกียง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเวียดนาม ในกรุงฮานอยเมื่อต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567 แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้น โดยมีการให้คำมั่นว่าจะเพิ่มการมีส่วนร่วมแบบทวิภาคีขึ้น
“ในสภาพแวดล้อมปัจจุบันที่ความต้องการในความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านความมั่นคงและกลาโหมมีมากขึ้นกว่าเดิม การเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ดังที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์กลาโหมแห่งชาติของญี่ปุ่นที่ได้จัดทำขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา” นายคิฮาระกล่าว “เรามีการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงและกลาโหมกับเวียดนามในหลายด้าน รวมถึงการแลกเปลี่ยนระดับสูง การแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงาน การแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา และการสนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพ”
พล.อ. เกียงเน้นย้ำถึงการขยายและเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านกลาโหมอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นเสาหลักสำคัญในความร่วมมือของทั้งสองประเทศ ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมเวียดนาม
มีความก้าวหน้าอย่างมากในการจัดการกับร่องรอยจากยุคสงคราม การฝึกอบรม การแพทย์ทหาร การปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย ภารกิจรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น และการปรึกษาหารืออย่างสม่ำเสมอในเวทีประชุมระดับภูมิภาค รัฐบาลเวียดนามและรัฐบาลญี่ปุ่นยังมีการเจรจานโยบายด้านกลาโหมในระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการ และการปรึกษาหารือในกลุ่มเจ้าหน้าที่กองกำลังทางอากาศ ทางบก และทางเรือ
พล.อ. เกียง และนายคิฮาระยินดีที่จะขนย้ายยานพาหนะจากญี่ปุ่นให้กับเวียดนามเพื่อปฏิบัติภารกิจค้นหาและกู้ภัย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลงการขนย้ายยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีกลาโหมที่ลงนามใน พ.ศ. 2564 เจ้าหน้าที่กล่าว
“จากการประชุมครั้งนี้ เราต้องการที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านกลาโหมแบบทวิภาคีกับเวียดนามให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และขยายความร่วมมือพหุภาคีรวมถึงความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและอาเซียนด้วย” นายคิฮาระกล่าว โดยอ้างถึงสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ซึ่งมีเวียดนามเป็นหนึ่งในสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ
ญี่ปุ่นและเวียดนามเผชิญกับข้อพิพาททางทะเลกับจีนอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากการอ้างสิทธิ์ในดินแดนอย่างไร้เหตุผลของรัฐบาลจีนในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้
จีนได้เพิ่มจำนวนเรือกองกำลังรักษาชายฝั่งและเครื่องบินทหารรอบหมู่เกาะเซ็งกะกุที่ญี่ปุ่นควบคุมอยู่ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเพิ่มการเฝ้าระวังทางทะเลและการป้องกัน
ขณะเดียวกันนั้น ในพื้นที่บริเวณทะเลจีนใต้ รัฐบาลจีนได้อ้างอำนาจอธิปไตยอย่างผิดกฎหมายในเขตเศรษฐกิจพิเศษส่วนใหญ่ของเวียดนาม โดยเฉพาะรอบหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีย์ เช่น ใน พ.ศ. 2560 จีนกดดันให้รัฐบาลเวียดนามยุติโครงการขุดเจาะน้ำมันภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนามเอง ซึ่งทำให้เวียดนามเสียค่าปรับให้กับบริษัทน้ำมันมากกว่า 3.43 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ใน พ.ศ. 2566 ญี่ปุ่นและเวียดนามตกลงที่จะขยายความร่วมมือในด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ การฝึกอบรมกองกำลัง และการขนย้ายยุทโธปกรณ์ด้านกลาโหม ความคิดริเริ่มเหล่านี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลญี่ปุ่นในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสนับสนุนภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง
ระหว่างการเจรจาในเดือนสิงหาคม พล.อ. เกียงยืนยันถึงจุดยืนอันแน่วแน่ของเวียดนามในการแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศและพันธกรณีระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลและปฏิญญาว่าด้วยการดำเนินการของภาคีในทะเลจีนใต้ ที่ลงนามใน พ.ศ. 2545 โดยอาเซียนและจีน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์กองทัพบกประชาชนเวียดนาม
พล.อ. เกียงยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการผลักดันการเจรจาเพื่อจัดทำหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าสำคัญระดับโลก
ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้