การแพร่ขยายอาวุธเรื่องเด่น

มังกร และหมี

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียเป็นความร่วมมือเพื่อความสะดวกสบายมากกว่าการเป็นพันธมิตร

โดยนายฟอล์ก เท็ตต์ไวเลอร์ นักวิจัยและนักวิเคราะห์แห่งศูนย์มาร์แชล

แถลงการณ์ร่วมระหว่างจีนและรัสเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ได้รับการตีความอย่างกว้างขวางว่าเป็นสัญญาณของความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นประเทศหลัก ๆ ที่มักจะท้าทายต่อระเบียบโลก บางคนได้ตีความไปไกลถึงขั้นประเมินว่าแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางทางสถาบัน หรือแม้แต่พันธมิตร อย่างไรก็ตาม การไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อทำการโจมตียูเครนอย่างผิดกฎหมายของรัสเซีย ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อโต้แย้งนี้ การตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างรัสเซียและจีนที่มีอยู่และคำประกาศในแถลงการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าทั้งสองประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกันและมีศัตรูเหมือนกัน ซึ่งได้แก่ “ประเทศเสรีนิยมตะวันตก” ทว่าแถลงการณ์ธรรมดา ๆ นี้ยังแสดงให้เห็นว่าทั้งสองประเทศไม่ได้มีวิสัยทัศน์ร่วมกันในอนาคต

ตามจริงแล้ว จีนและรัสเซียอาจจะมีความสอดคล้องน้อยกว่าที่เห็น การท้าทายประเทศทางตะวันตกและระเบียบโลกที่มีอยู่นั้นจำเป็นต้องมีฐานที่มั่นที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับจีนและรัสเซีย ดังนั้นผลประโยชน์ด้านความมั่นคงที่มีร่วมกันของทั้งสองประเทศที่แสดงให้เห็นผ่านแถลงการณ์ร่วม ส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวกับการรับประกันวิสัยทัศน์ด้านความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคที่อยู่ติดกัน การตอบโต้การแทรกแซงของกองกำลังภายนอกต่อสิ่งที่ทั้งสองประเทศพิจารณาว่าเป็น “กิจการภายใน” และความพยายามที่จะต่อต้านของประชาชนในประเทศเพื่อให้ได้รับอิสรภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากผลประโยชน์ที่มีร่วมกันเหล่านี้แล้ว จีนและรัสเซียมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับระเบียบโลกฉบับใหม่ที่แตกต่างกันอย่างมาก เมื่อเทียบกับวิสัยทัศน์เชิงลบของรัสเซียที่มีแนวคิดว่าตนเองเป็นเหยื่อของประเทศทางตะวันตกแล้ว บางประเทศกลับมองว่าวิสัยทัศน์ของจีนถือเป็นทางเลือกที่จริงใจมากกว่า นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและจีนยังเต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจที่ล้ำลึกมานานหลายทศวรรษ ซึ่งเป็นไปได้ว่าความแตกต่างเหล่านี้จะมีอิทธิพลเหนือความสัมพันธ์ในอนาคต แม้ว่าความร่วมมือในบางภาคส่วนจะพัฒนาขึ้นก็ตาม

ความร่วมมือทางทหารระหว่างจีนและรัสเซียมีประวัติศาสตร์ทั้งในด้านดีและย่ำแย่มานานหลายทศวรรษ โดยความสัมพันธ์ดังกล่าวมักจะเป็นแบบฝ่ายเดียวและปราศจากความไว้วางใจต่อกันเสมอ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเกิดอสมมาตรขึ้น โดยมีสหภาพโซเวียต/รัสเซียเป็นผู้จัดหาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ แม้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะไม่เคยยอมรับพันธมิตรที่มีอำนาจมากกว่าตนในฐานะผู้นำหรือผู้ครอบงำ ทว่าจีนกลับใช้รัสเซียเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การสิ้นสุด สหภาพโซเวียตเริ่มสนับสนุนขบวนการคอมมิวนิสต์ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในประเทศจีนตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1920 (พ.ศ. 2463-2472) และมีบทบาทสำคัญในการสร้างกองทัพแดงในช่วงสงครามกลางเมืองของจีน ดังนั้น สหภาพโซเวียตจึงมีส่วนช่วยนายเหมา เจ๋อตง ซึ่งเป็นผู้กล่าวคำพูดอันโด่งดังที่ว่า “อำนาจทางการเมืองนั้นมาจากปลายกระบอกปืน” สำหรับการปกป้องจุดยืนทางอำนาจของเขาจากคู่แข่งในพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมถึงการต่อสู้กับศัตรูภายนอก เช่น พรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นขุนศึกในท้องถิ่นและกองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่น สหภาพโซเวียตยังคงสนับสนุนยุทโธปกรณ์ให้แก่กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นกองทัพปลดปล่อยประชาชน หลังจากที่จีนได้ก่อตั้งกองทัพดังกล่าวขึ้นใน พ.ศ. 2492 การสนับสนุนนี้ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับการปกครองของนายเหมาเหนือพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประเทศจีน

จีนเข้าร่วมในเวทีทางการทหารและเทคนิคระดับนานาชาตินอกมอสโกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 นิทรรศการที่จัดโดยกระทรวงกลาโหมรัสเซียเป็นนิทรรศการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของรัสเซีย
เก็ตตี้อิมเมจ

การสนับสนุนของสหภาพโซเวียตทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถสร้างกองกำลังคอมมิวนิสต์ที่น่าเชื่อถือในภูมิภาคและอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ที่ยั่งยืนได้อย่างรวดเร็ว เช่น อุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ของจีนได้ปรับใช้ความเชี่ยวชาญของสหภาพโซเวียตเพื่อออกแบบเครื่องบินขับไล่ลำแรก (ตงเฟิง-101 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เสิ่นหยาง เจ-5) ใน พ.ศ. 2499 และระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกใน พ.ศ. 2507 แต่ความมีเหตุผลของคำพูดอันโด่งดังของนายเหมาอีกคำพูดหนึ่งที่ว่า “ใครก็ตามที่ต้องการยึดและรักษาอำนาจรัฐจะต้องมีกองทัพที่แข็งแกร่ง” ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นคำพูดที่เป็นจริงในความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตและจีนในอีกไม่กี่ปีต่อมา ยิ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีความมั่นใจมากเท่าใด ความแตกต่างทางอุดมการณ์ก็ชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น ข้อพิพาทด้านพรมแดนระหว่างจีนและรัสเซียรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 (พ.ศ. 2503-2512) และนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างเปิดเผยใน พ.ศ. 2512 ใน พ.ศ. 2514 จีนกับสหภาพโซเวียตแตกแยกกันอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามของกันและกันในช่วงสงครามระหว่างอินเดียและปากีสถาน แม้ว่าทั้งสองประเทศจะปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ทว่าจีนและสหภาพโซเวียตกลับมีสถานะเป็นศัตรูกันก่อนที่จะมาเป็นหุ้นส่วนในอีก 18 ปีต่อมา ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ความร่วมมือทางทหารก็ได้หยุดชะงักไป จนกระทั่งใน พ.ศ. 2532 เนื่องจากอำนาจทางเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตที่ลดลงอย่างรวดเร็วและความโดดเดี่ยวทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนหลังจากการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ทำให้ทั้งสองประเทศได้กลับมาประสานความร่วมมือทางทหารกันอีกครั้ง

หลังจากที่ได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ในช่วงทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2533-2542) พรรคคอมมิวนิสต์จีนพึ่งพาการซื้อขายทางทหารกับต่างประเทศของรัสเซีย เพื่อปรับปรุงอุปกรณ์ที่ล้าสมัยของกองทัพปลดปล่อยประชาชนให้ทันสมัย โครงการทางทหารที่ประสบความสำเร็จของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามอ่าว พ.ศ. 2534 ช่วยเปิดวิสัยทัศน์ให้กับนักยุทธศาสตร์ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนและนำไปสู่การปฏิรูปทางทหารที่สำคัญ อีกทั้งยังทำให้ยุทโธปกรณ์ของและองค์ความรู้ของรัสเซียมีเพิ่มมากขึ้นจากช่วงแรก นอกจากนี้ กองทัพปลดปล่อยประชาชนได้เริ่มมีส่วนร่วมในการฝึกทางทหารระดับพหุภาคีภายในกรอบการทำงานขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ใน พ.ศ. 2546 และในการฝึกระดับทวิภาคีกับกองทัพรัสเซียใน พ.ศ. 2548

กองทัพปลดปล่อยประชาชนยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในอีกหลายปีต่อมา ทว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีนนั้นเป็นเป้าหมายที่สำคัญยิ่งและเป็นหัวใจหลักที่ผู้นำทางการเมืองให้ความสนใจ “เป็นผู้ร่ำรวย” คือคำขวัญสำหรับช่วงเวลานี้ ซึ่งสิ้นสุดลงหลังการเลือกตั้งของนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ใน พ.ศ. 2555 คำขวัญในยุคสมัยของนายสีคือ “เป็นผู้แข็งแกร่ง” และกองทัพปลดปล่อยประชาชนมีบทบาทสำคัญในแผนการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนสำหรับอนาคตของจีน คำกล่าวของนายเหมาที่กล่าวว่า ใครก็ตามที่มีกองทัพก็มีอำนาจ ได้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งในการทำให้ “ความฝันของจีน” และ “การฟื้นฟูประเทศจีนอย่างยิ่งใหญ่” เป็นจริงขึ้น ซึ่งคือแนวคิดสำคัญในแผนงานของนายสี

ความสำคัญของกองทัพปลดปล่อยประชาชนในแผนการของนายสีนั้น ได้แสดงออกมาให้เห็นในระยะเวลาแห่งความทะเยอทะยานที่ต้องการจะทำการปฏิรูป กองทัพปลดปล่อยประชาชนต้องการเป็น
กองกำลังระดับโลกที่มีสถานะทัดเทียมกับกองทัพสหรัฐฯ ภายในกลางศตวรรษที่ 21 กองทัพปลดปล่อยประชาชนกำลังฝึกอบรมและเตรียมความพร้อมสำหรับการทำสงครามรูปแบบใหม่ของปฏิบัติการร่วมกันแบบบูรณาการในทุกขอบเขต ทั้งภาคพื้นดิน ทะเล อากาศ ไซเบอร์ และอวกาศ รวมถึงการมุ่งเน้นไปยังขอบเขตด้านความรู้ความเข้าใจเป็นสำคัญ ปัจจัยสำคัญบางประการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว คือการใช้เครื่องจักรภายใน พ.ศ. 2563 ซึ่งเกิดความล่าช้าเนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการปรับปรุงให้ทันสมัยภายใน พ.ศ. 2570 โดยประการหลังนั้นก็รวมไปถึงประการแรกด้วย เช่นเดียวกับ “การให้ข้อมูล” และความสามารถของกองทัพปลดปล่อยประชาชนในการทำสงคราม “อัจฉริยะ” การให้ข้อมูล หมายถึง กองทัพปลดปล่อยประชาชนจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินปฏิบัติการร่วมในทุก ขอบเขตในระดับท้องถิ่นก่อน และในถัดไปในระดับโลก นอกจากนี้ จุดมุ่งหมายของการดำเนินการปรับใช้ระบบอัจฉริยะนั้นจำเป็นต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งได้นำมาใช้เพื่อตรวจสอบสังคมจีน ความเป็นผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการให้ข้อมูลและการดำเนินการอย่างชาญฉลาดนั้นมีความสำคัญมากกว่าการใช้เครื่องจักรอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนตระหนักว่ายุคสมัยของสงครามยานยนต์เพียงอย่างเดียวนั้นได้สิ้นสุดลงไปแล้ว ด้วยเหตุนี้ ภาคส่วนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินการปฏิรูปกองทัพปลดปล่อยประชาชน ดังนั้น จึงไม่อาจให้ภายนอกมองว่ากองทัพดังกล่าวแยกออกจากกองทัพหลักได้ เหมือนกับบางประเทศทางตะวันตก

รถถังจีนเข้าร่วมในการแข่งขันของกองทัพบกระหว่างประเทศนอกมอสโกใน พ.ศ. 2565 เก็ตตี้อิมเมจ

การปฏิบัติตามแนวทางการบูรณาการอันชาญฉลาดและแนวทางปฏิบัติการร่วมแบบบูรณาการอาจนำไปสู่การปฏิวัติกิจการทางทหาร ซึ่งหมายความว่ากองทัพปลดปล่อยประชาชนอาจละทิ้งแนวคิดของสงครามตะวันตกและเอนเอียงไปทางแนวทางด้านยุทธศาสตร์จีนแบบดั้งเดิมมากขึ้น จุดมุ่งหมายของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจะไม่ได้เป็นเพียงแค่เร่งความเร็วสำหรับวงจรสังเกต ปรับตัว ตัดสินใจ และดำเนินการของตนเองและเอาชนะคู่ต่อสู้ในสนามรบเช่นเดียวกับแนวคิดของตะวันตกทั่วไปอีกต่อไป ทว่ากลับมีวัตถุประสงค์ที่จะบงการวงจรสังเกต ปรับตัว ตัดสินใจ และดำเนินการทั้งหมดของคู่ต่อสู้เพื่อ “ชนะสงคราม” ก่อนที่จะมีการเผชิญหน้าด้วยความรุนแรง หากกองทัพปลดปล่อยประชาชนกำหนดรูปแบบการรับรู้และปรับตัวของฝ่ายตรงข้าม ข้อกำหนดเหล่านั้นก็อาจมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ การดำเนินการ และวงจรข้อเสนอแนะได้ การปรับใช้แนวคิดนี้ ซึ่งคือการทำความเข้าใจกองทัพอย่างเป็นระบบและการกำหนดแนวทางการทำสงครามด้วยการเผชิญหน้ากับระบบเหล่านี้ อาจทำให้กองทัพปลดปล่อยประชาชนชนะสงครามได้โดยไม่ต้องต่อสู้หรือก่อนที่การต่อสู้จะเริ่มขึ้น การปฏิวัติแนวคิดนี้หมายถึงการกลับไปสู่แนวทางในการใช้ยุทธศาสตร์ของซุนวู และหันหลังให้กับการตีความทั่วไปของนายคาร์ล วอน คลอสวิตซ์ นักทฤษฎีทางทหาร ที่ระบุเกี่ยวกับคุณค่าของการต่อสู้อย่างเด็ดขาด

ซึ่งการพิจารณาแนวคิดดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาความร่วมมือทางทหารระหว่างรัสเซียและจีน ความสำคัญของภาคส่วนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งในจีนได้มีการอธิบายไว้อย่างชัดเจนเมื่อ พ.ศ. 2558 ในโครงการริเริ่มที่มีชื่อว่า “เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568” และใน พ.ศ. 2563 ด้วยแนวคิด “วงจรคู่ขนาน” ในบางครั้ง ความทะเยอทะยานของจีนที่จะขึ้นเป็นผู้นำในขอบเขตทางเทคโนโลยีได้แสดงออกมาให้เห็นในอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ ซึ่งเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี จุดมุ่งหมายในการผลิตผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีขั้นสูงภายในประเทศนั้นสามารถใช้ได้กับอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ของจีน ซึ่งกำลังปรับปรุงให้ทันสมัยอย่างรวดเร็ว รวมถึงการพึ่งพาตนเองและมีอำนาจในการปกครองตนเองมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ จีนจึงพึ่งพาการซื้อขายทางทหารกับต่างประเทศของรัสเซียน้อยลง ในปัจจุบัน จีนนำเข้าเครื่องยนต์ของอากาศยานที่สร้างโดยรัสเซียเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าอุตสาหกรรมการบินของจีนนั้นใกล้จะตามทันประสิทธิภาพของรัสเซียแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ความสัมพันธ์และความร่วมมือทางทหารระหว่างรัสเซียและจีนที่มีอยู่แล้วนั้นก็ตึงเครียดยิ่งขึ้นเนื่องจากการการกระทำของจีนที่ได้ลอกเลียนแบบและทำการวิศวกรรมย้อนกลับ อีกทั้งยังขโมยทรัพย์สินทางปัญญาและการจารกรรมทางอุตสาหกรรม เช่น จีนได้ทำการโจมตีทางไซเบอร์ต่อบริษัทผลิตยุทโธปกรณ์ของรัสเซีย

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เสาหลักที่สองของความร่วมมือทางทหารระหว่างรัสเซียและจีนจึงเป็นการฝึกทางทหาร โดยมีกิจกรรมการฝึกอบรมระดับทวิภาคีและพหุภาคีอย่างน้อย 79 ครั้ง ในขณะที่รัสเซียได้ปรับปรุงในเรื่องความโดดเดี่ยวทางการเมืองและได้รับโอกาสในการโฆษณาเกี่ยวกับยุทโธปกรณ์ทางทหารของตน กองทัพปลดปล่อยประชาชนก็ได้รับประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศที่หลากหลาย ตลอดจนเรียนรู้ยุทธวิธีและขั้นตอนจากกองทัพรัสเซียที่มีประสบการณ์มากกว่า เนื่องจากความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีของรัสเซียเริ่มอ่อนกำลังลงและประสิทธิภาพของกองทัพรัสเซียที่ทำสงครามกับยูเครนก็ผ่อนกำลังลง ดังนั้นผลประโยชน์ที่จับต้องได้สำหรับจีนจึงมีแนวโน้มว่าจะลดลงในอนาคตอันใกล้ ในระหว่างการฝึกวอสต็อก พ.ศ. 2565 ถือเป็นครั้งแรกที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนได้รับการฝึกพร้อมใช้ยุทโธปกรณ์ที่ผลิตโดยจีนเท่านั้น ทันทีที่ยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ผลิตโดยจีนมีประสิทธิภาพทัดเทียมหรือเหนือกว่าของรัสเซีย กองทัพปลดปล่อยประชาชนสามารถดำเนินการฝึกซ้อมระดับพหุภาคีเพื่อส่งเสริมยุทโธปกรณ์ของตนและเทียบแข่งกับรัสเซียได้ ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอีกครั้ง เนื่องจากการซื้อขายทางทหารกับต่างประเทศนั้นเป็นรองเพียงการซื้อขายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับรัสเซีย ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าผลประโยชน์ร่วมกันของการฝึกระดับทวิภาคีและพหุภาคีจะจำกัดอยู่เพียงแค่การส่งสัญญาณทางการเมืองและยุทธศาสตร์ไปยังสหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาค ตลอดจนเพื่อลดความตึงเครียดระหว่างจีนและรัสเซีย

ความร่วมมือทางทหารระหว่างรัสเซียและจีนดูเหมือนว่าจะมาถึงจุดพลิกผัน อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะสิ้นสุดลง สงครามในยูเครนพิสูจน์ให้เห็นว่ารัสเซียยังคงยึดติดอยู่กับแนวคิดการทำสงครามแบบดั้งเดิม แม้ว่าปฏิบัติการหลอกลวงของรัสเซียก่อนการรุกรานจะตรงกับแนวคิดของจีนที่ว่าด้วยอนาคตของการทำสงคราม ทว่าการประเมินสถานการณ์ภาคพื้นดินในยูเครนที่ไม่มีประสิทธิภาพพอและการไม่ได้เตรียมความพร้อมสำหรับสนามรบอย่างชาญฉลาดของรัฐบาลรัสเซียก็แสดงให้เห็นว่ารัสเซียยังไม่มีความพร้อมสำหรับแนวคิดดังกล่าว ในขณะที่กองทัพรัสเซียไม่สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังในฐานะแบบอย่างสำหรับการแข่งขันกับสหรัฐฯ ได้ และเนื่องด้วยความอ่อนกำลังลงของเทคโนโลยียุทโธปกรณ์ในอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ของรัสเซีย พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะไม่ลงทุนมากนักเพื่อพัฒนาความร่วมมือในด้านเหล่านี้ให้แข็งแกร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเช่นนี้ไม่ได้เป็นการยุติความร่วมมือทางทหารระหว่างรัสเซียและจีน เว้นแต่ว่ารัสเซียจะล้ำเส้นจีน เช่น การใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามกับยูเครน ทว่าความร่วมมือดังกล่าวจะกลายเป็นเพียงสัญลักษณ์และอยู่ในระดับการเมือง ซึ่งมีหน้าที่เพื่อแสดงความท้าทายต่อประเทศเสรีนิยมตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ โดยรัสเซียจะเป็นหุ้นส่วนที่เป็นรองในความสัมพันธ์นี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button