ทรัพยากรส่วนรวมของโลกเอเชียใต้

ภาคการผลิตด้านกลาโหมของอินเดียทะยานพุ่งสูงขึ้นด้วยยอดการผลิตที่มากเป็นประวัติการณ์และระเบียงอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์

มันดีป ซิงห์

อินเดียยังคงยึดมั่นในรูปแบบระเบียงอุตสาหกรรมกลาโหม ด้วยยอดการผลิตด้านกลาโหมที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดยมีระเบียงในและรอบ ๆ รัฐทมิฬนาฑูและอุตตรประเทศที่เน้นโครงการเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ระบบอากาศยานไร้คนขับ สงครามอิเล็กทรอนิกส์ และอิเล็กโทรออปติกส์

ยอดการผลิตที่เพิ่มขึ้นตอบสนองความต้องการของกองทัพอินเดีย และยังส่งเสริมความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานด้วย เนื่องจากอินเดียกำลังก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกด้านกลาโหมชั้นนำ

การผลิตด้านกลาโหมทะลุ 5.27 แสนล้านบาท (ประมาณ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบเป็นรายปี และเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 นับตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2563 ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอินเดีย

โครงการริเริ่มที่นำโดยรัฐบาลกำลังผลักดันการเติบโต ซึ่งโดยทั่วไปแล้วดำเนินการโดยการส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมภาคการกลาโหมและการบินและอวกาศในระเบียงอุตสาหกรรมกลาโหม จึงได้มีการอนุมัติศูนย์ทดสอบ 7 แห่ง โดยที่ 4 แห่งในจำนวนนี้อยู่ในรัฐทมิฬนาฑู และอีก 3 แห่งอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้แผนการโครงสร้างพื้นฐานการทดสอบด้านกลาโหม

ศูนย์แห่งแรกที่เชี่ยวชาญในโครงการระบบอากาศยานไร้คนขับจะเปิดในระเบียงทมิฬนาฑู ภายใต้ข้อตกลงที่ลงนามในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 ศูนย์แห่งนี้จะดำเนินการโดยกลุ่มบริษัทที่รวมถึงบริษัทรัฐวิสาหกิจกลาโหมของรัฐอย่างเคลทรอน และบริษัทกลาโหมภาคเอกชนอีกหลายแห่ง บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านกลาโหมของอินเดียอย่างภารัตอิเล็กทรอนิกส์จำกัดและอินเดียออปเทลจำกัด จะเป็นหุ้นส่วนหลักสำหรับศูนย์ทดสอบสงครามอิเล็กทรอนิกส์และศูนย์ทดสอบอิเล็กโทรออปติกส์ ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการวางแผนจัดตั้งศูนย์ทดสอบเหล่านี้สำหรับระเบียงทมิฬนาฑูด้วย

โครงการนี้เปิดตัวใน พ.ศ. 2563 ด้วยงบประมาณประมาณ 1.68 พันล้านบาท (ประมาณ 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แผนการโครงสร้างพื้นฐานการทดสอบด้านกลาโหมเสนอเงินทุนของรัฐบาลสูงสุดร้อยละ 75 สำหรับศูนย์ทดสอบเหล่านี้ โดยมีพันธมิตรรายอื่น ๆ ให้การสนับสนุนเงินทุนส่วนที่เหลือ

“เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ ศูนย์เหล่านี้จะมอบอุปกรณ์ทดสอบขั้นสูงและบริการแก่ทั้งรัฐบาลและอุตสาหกรรมเอกชน” กระทรวงกลาโหมระบุ

โครงการริเริ่มเหล่านี้คาดว่าจะส่งเสริมยุทธศาสตร์ของอินเดียในการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเศรษฐกิจโลก ในขณะเดียวกันก็เพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันด้วย นอกจากนี้ยังมีการวางแผนการลงทุนเพื่อผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีการรบขั้นสูงและภาคอุตสาหกรรมที่มีความพึ่งพาตนเองมากขึ้น ตามรายงานของสหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดียในช่วงกลาง พ.ศ. 2567

รัฐบาลอินเดียได้จัดสรรเงิน 7.27 แสนล้านบาท (ประมาณ 20.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการปรับปรุงความทันสมัยให้กับกองกำลังของตนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในงบประมาณชั่วคราวสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2568 ตามรายงานของกระทรวงกลาโหม ระเบียงอุตสาหกรรมกลาโหมมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยและรับมือภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ รวมถึงขีปนาวุธ ยานเกราะ ปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องจักร รวมถึงระบบกองทัพเรือ เรดาร์ และระบบในอวกาศ

“สหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดียรายงานว่า “ระเบียงเหล่านี้จะทำให้อินเดียเป็นผู้ผลิตอาวุธด้านกลาโหมที่เชื่อถือได้ ใช้งานได้ทุกสภาพอากาศ และประหยัดต้นทุนสำหรับโลก”

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดตั้งสภาส่งเสริมการส่งออกและอินเดียดีเฟนซ์มาร์ทขึ้น สภาส่งเสริมการส่งออกนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการส่งออกโดยการปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ การเสนอสิ่งจูงใจทางการเงิน และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ อินเดียดีเฟนซ์มาร์ทเป็นพอร์ทัลออนไลน์สำหรับบริษัทต่าง ๆ ในการยื่นขอและติดตามใบอนุญาตส่งออก กระบวนการรับใบรับรองจากหน่วยงานส่งออกได้รับการปรับปรุงเพื่อให้การขายยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีทางทหารเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น

“มีบริษัทด้านกลาโหมของอินเดียประมาณ 100 แห่งที่ได้ส่งออกอาวุธไปยังกว่า 85 ประเทศ” สหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดียระบุ “ยุทโธปกรสำคัญส่วนหนึ่งที่อินเดียส่งออก ได้แก่ เครื่องบินอเนกประสงค์ ดอร์เนียร์-228 ปืนใหญ่ลากจูงขั้นสูงขนาด 155 มม. ขีปนาวุธ บราห์มอส และระบบด้านกลาโหมอื่น ๆ อีกหลายชนิดที่มีความสามารถซับซ้อน”

มันดีป ซิงห์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button