ความร่วมมือเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือโอเชียเนีย

พันธมิตรและหุ้นส่วนเสริมสร้างความพร้อมทุกขอบเขตด้วยการฝึกซ้อมทางทหารทั่วอินโดแปซิฟิก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

กองกำลังจากพันธมิตรและหุ้นส่วนกว่า 30 ประเทศได้ส่งกำลังพล เครื่องบิน เรือดำน้ำ ยานพาหนะไร้คนขับ และยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ไปยังภูมิภาคอินโดแปซิฟิกในช่วงกลาง พ.ศ. 2567 การฝึกร่วมพหุภาคีที่เกิดขึ้นเกือบจะพร้อมกัน ได้แก่ พิตช์แบล็ก ริมออฟเดอะแปซิฟิก และแวเรียนท์ชิลด์ ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่โอเชียเนียและมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกไปจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

กองกำลังนับหมื่นคนเข้าร่วมการฝึกทุกขอบเขตเพื่อสร้างความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศและหน่วยงานเกี่ยวกับกองกำลัง เสริมสร้างความสัมพันธ์ และยกระดับความพร้อม

The all-domain, multinational exercises Valiant Shield, Pitch Black and RIMPAC took place near simultaneously across the Indo-Pacific in June, July and August 2024. More than 30 Allies and Partners participated in the military exercises to enhance ties and build readiness.
VIDEO CREDIT: AUSTRALIAN DEFENCE DEPARTMENT/U.S. ARMY/U.S. AIR FORCE/U.S. AIR NATIONAL GUARD/U.S. MARINE CORPS/U.S. NAVY

การฝึกพิตช์แบล็กของออสเตรเลีย ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 43 ปี มี 20 ประเทศและเจ้าหน้าที่กว่า 4,400 คนเข้าร่วมการฝึกซ้อมการต่อสู้ทางอากาศในควีนส์แลนด์และนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี กองทัพอากาศออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม ซึ่งมีเครื่องบินมากกว่า 140 ลำจาก 16 ประเทศเข้าร่วมฝึกซ้อมการเคลื่อนที่เพื่อต่อสู้ ยุทธวิธีการต่อต้านทางอากาศเชิงรุกและเชิงรับ และการปฏิบัติการที่ซับซ้อนอื่น ๆ

“คุณภาพของการฝึกที่เราสามารถจัดหาให้ได้ที่นี่ รวมถึงน่านฟ้า สนามยิงปืน และความร่วมมือที่เราได้สร้างขึ้นระหว่างหลายประเทศ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของวิธีที่เราสร้างความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างกองทัพอากาศของพวกเรา และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือวิธีที่เราสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ” พล.อ.จ. พีท โรบินสัน จากกองทัพอากาศออสเตรเลีย กล่าวกับนิตยสารดีเฟนซ์นิวส์

การส่งเครื่องบินขับไล่ เอฟ-22เอ แรปเตอร์ ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ที่ทันสมัยที่สุดในโลก แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่มีต่อความมั่นคงในภูมิภาคและความพร้อมโดยรวม ตามรายงานของกองทัพอากาศสหรัฐฯ การฝึกพิตช์แบล็ก พ.ศ. 2567 ยังมีเรือบรรทุกเครื่องบิน ไอทีเอส คาวัวร์ ของกองทัพเรืออิตาลีเข้าร่วมด้วย

ผู้เข้าร่วมรายอื่น ๆ ได้แก่ บรูไน แคนาดา ฟิจิ ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเกาหลี สิงคโปร์ สเปน ไทย และสหราชอาณาจักร

เครื่องบิน อี-7เอ เวดจ์เทล ของกองทัพอากาศออสเตรเลียบินนำฝูงบินที่ประกอบไปด้วยเครื่องบินจากออสเตรเลีย เยอรมนี อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ โดยบินอยู่เหนือเรือบรรทุกเครื่องบิน ไอทีเอส คาวัวร์ ของกองทัพเรืออิตาลีในระหว่างการฝึกพิตช์แบล็ก พ.ศ. 2567
ภาพจาก: กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย

สหรัฐฯ เป็นผู้จัดการฝึกริมออฟเดอะแปซิฟิกตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน ถึง 2 สิงหาคม ทั้งในและรอบ ๆ เกาะฮาวาย ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีเจ้าหน้าที่กว่า 25,000 คนจาก 29 ประเทศเข้าร่วมการฝึกซ้อมเผชิญเหตุในสถานการณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่การต่อต้านเรือดำน้ำและการสู้รบระหว่างเรือหลายลำ ไปจนถึงการยกพลขึ้นบกและการป้องกันเรือบรรทุกเครื่องบิน

การฝึกนี้มีเรือดำน้ำสามลำ กองกำลังภาคพื้นดิน 14 กองกำลัง เรือ 40 ลำ และเครื่องบินกว่า 150 ลำ เพื่อรักษาความร่วมมือระหว่างพันธมิตรที่มีความสำคัญต่อการรับรองเส้นทางการสื่อสารทางทะเลและภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ในปีที่ 29 นี้ ริมออฟเดอะแปซิฟิกยังมีการฝึกซ้อมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติที่ใหญ่ที่สุดด้วย

กองกำลังหลายประเทศได้ทดสอบระบบอาวุธขั้นสูง รวมถึงความสามารถควิกซิงก์ที่ยิงจากทางอากาศของสหรัฐฯ สำหรับการทำลายเรือผิวน้ำ และการยิงขีปนาวุธโจมตีทางเรือด้วยกระสุนจริงที่ประสบความสำเร็จของออสเตรเลีย ตามรายงานของกองทัพเรือสหรัฐฯ การทดสอบเหล่านี้ดำเนินการในระหว่างการฝึกจมเรือโดยใช้กระสุนจริงสองครั้งในบริเวณนอกชายฝั่งเกาะคาไว ซึ่งเจ้าหน้าที่จากออสเตรเลีย มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี และสหรัฐฯ ได้รับประสบการณ์ในการกำหนดเป้าหมายและยิงโจมตีเรือผิวน้ำที่อยู่ในทะเล

ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกนี้ยังรวมถึง เบลเยียม บราซิล บรูไน แคนาดา ชิลี โคลอมเบีย เดนมาร์ก เอกวาดอร์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิสราเอล อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา ไทย ตองงา และสหราชอาณาจักร

“สหรัฐฯ เป็นประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก เรารู้ว่าความร่วมมือของเราในภูมิภาคนี้สร้างความแตกต่างได้ และรู้ดีว่ามิตรภาพคือความแข็งแกร่ง และเราจะไม่มองข้ามคุณค่าของมิตรภาพนี้” พล.ร.อ. ลิซา ฟรานเชตติ หัวหน้าปฏิบัติการกองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าวกับผู้นำกองทัพเรือจากประเทศพันธมิตรและหุ้นส่วน

ในการฝึกแบบพหุภาคีครั้งแรกของแวเรียนท์ชิลด์ พ.ศ. 2567 การฝึกได้นี้ได้เสริมสร้างความเชี่ยวชาญให้กับผู้เข้าร่วมกว่า 10,000 คน ซึ่งได้ฝึกฝนการตรวจจับ การค้นหา การติดตาม และการโจมตีหน่วยต่าง ๆ ในทุกขอบเขต ทั้งทางอากาศ ภาคพื้นดิน ทางทะเล อวกาศ และไซเบอร์

เรือเอฟเอส เบรทาญ ของกองทัพเรือฝรั่งเศส (ด้านหน้า) และเรือยูเอสเอส บลู ริดจ์ ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ทำการเคลื่อนที่ในทะเลฟิลิปปินส์ระหว่างการฝึกแวเรียนท์ชิลด์ พ.ศ. 2567
ภาพจาก: ส.ท. ไรอัน บรีเดน/กองทัพเรือสหรัฐฯ

การฝึกอบรมในและบริเวณรอบ ๆ เกาะกวม หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา ปาเลา และญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 7 ถึง 18 มิถุนายน ได้มีการผสานรวมกองกำลังหุ้นส่วนจากหลายประเทศเข้ากับกองทัพอากาศ กองทัพบก กองกำลังรักษาชายฝั่ง นาวิกโยธิน กองทัพเรือ และกองกำลังอวกาศของสหรัฐฯ

จุดเด่นของการฝึกครั้งนี้รวมถึงการฝึกจมเรือในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ และการฝึกซ้อมการเคลื่อนที่ระหว่างกองทัพเรือฝรั่งเศสและกองทัพเรือสหรัฐฯ ในทะเลฟิลิปปินส์ ขีปนาวุธโจมตีแม่นยำเฉพาะจุดของกองทัพบกสหรัฐฯ ที่เพิ่งนำมาใช้ใหม่ได้ยิงจากปาเลาเพื่อโจมตีเป้าหมายที่กำลังเคลื่อนที่ในทะเล เก้าจังหวัดของญี่ปุ่นเป็นพื้นที่จัดปฏิบัติการทางอากาศและการฝึกการต่อสู้

“การฝึกแวเรียนท์ชิลด์มอบโอกาสพิเศษในการปฏิบัติการและมีส่วนร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนของเรา และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่มีร่วมกันต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของโลก” พล.ร.อ. สตีเฟน ที. โคห์เลอร์ ผู้บัญชาการกองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของกองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button