ฝึกฝน เตรียมความพร้อม และส่งต่อ
ศูนย์หมุนเวียนพหุชาติร่วมแปซิฟิกสร้างกองกำลังที่น่าเชื่อถือในด้านการต่อสู้
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
เฮลิคอปเตอร์บินลงมาอยู่ในระยะที่ใกล้แค่เอื้อมของทหารที่ประจำอยู่บนปืนใหญ่วิถีโค้ง ฝุ่นและฝนโหมกระหน่ำใส่บุคลากรของกองทัพนิวซีแลนด์และกองทัพสหรัฐฯ ที่อยู่ใต้เครื่องบิน ท่ามกลางท้องฟ้าที่มืดครึ้มด้วยพายุและเสียงฟ้าร้องกระหึ่ม ณ พื้นที่สงวนทางทหารเฮเลมาโน รัฐฮาวาย การฝึกบรรทุกด้วยสายสลิง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมของศูนย์หมุนเวียนพหุชาติร่วมแปซิฟิกที่จัดขึ้นทั่วเกาะหลักทั้ง 8 เกาะของหมู่เกาะฮาวาย แสดงให้เห็นถึงความสามารถของกองกำลังผสมในการเคลื่อนย้ายอาวุธในสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าทึบ และการปรับเปลี่ยนตำแหน่งของปืนใหญ่อย่างรวดเร็วเพื่อการยิงที่แม่นยำและฉับไว
การฝึกดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของชุดการฝึกอันซับซ้อนที่ศูนย์หมุนเวียนพหุชาติร่วมแปซิฟิกจัดขึ้นปีละ 3 ครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างขีดความสามารถของกองกำลังร่วมในการบูรณาการให้เข้ากับปฏิบัติการข้ามชาติที่เป็นที่ต้องการ “ความคลุมเครือของสงครามและความโกลาหลถือเป็นสิ่งที่เราคาดหวังให้เกิดขึ้นในสนามรบ สิ่งสำคัญคือการฝึกฝนอย่างหนักในช่วงเวลาสงบสุขเพื่อที่จะเข้าถึงจุดเสี่ยงปะทะ ซึ่งทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน ความไว้วางใจ และความเคารพซึ่งกันและกัน” พ.ต. เดเมียน จาคส์ ผู้บัญชาการกองร้อยทหารปืนใหญ่ที่ 163 แห่งกองทัพนิวซีแลนด์ กล่าวในระหว่างการฝึกอบรมเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566
กองทัพบกสหรัฐฯ ได้ก่อตั้งศูนย์หมุนเวียนพหุชาติร่วมแปซิฟิกขึ้นใน พ.ศ. 2565 เพื่อให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมการต่อสู้แห่งแรกนอกทวีปอเมริกาในรอบ 50 ปี การฝึกอบรมดังกล่าวทำให้สหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนสามารถแสดงให้เห็นถึงความสามารถของกองกำลังที่น่าเชื่อถือในด้านการต่อสู้ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและภูมิภาคอื่น ๆ กองทหารข้ามชาติหลายพันคนเข้าร่วมกับศูนย์หมุนเวียนพหุชาติร่วมแปซิฟิกเป็นประจำทุกปี เพื่อฝึกฝนทักษะในภูมิประเทศเขตร้อนและป่าไม้ของหมู่เกาะฮาวาย รวมถึงในสภาพแวดล้อมที่เป็นภูเขาและอาร์กติกของรัฐอะแลสกา การหมุนเวียนประจำปีครั้งที่สามจะส่งกำลังพลของศูนย์หมุนเวียนพหุชาติร่วมแปซิฟิกไปยังประเทศพันธมิตรหรือประเทศหุ้นส่วน สหรัฐฯ ได้แบ่งปันขีดความสามารถในการฝึกอบรมให้แก่ประเทศต่าง ๆรวมถึงออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
“การดำเนินการนี้ช่วยให้เราสามารถรักษากองกำลังที่ได้รับการฝึกฝน เตรียมความพร้อม และส่งต่อไปยังภูมิภาคดังกล่าวได้” พล.อ. ชาร์ลส์ ฟลินน์ ผู้บัญชาการกองทัพบกสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก กล่าวใน พ.ศ. 2565 “ซึ่งจะช่วยให้เราสร้างความพร้อมในสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่เราน่าจะมีโอกาสได้ดำเนินปฏิบัติการได้มากที่สุด … อีกทั้งยังช่วยให้เราสามารถฝึกซ้อมกับประเทศหุ้นส่วนร่วมและข้ามชาติอีกหลายประเทศ”
เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนทางการทหารของสหรัฐฯ ศูนย์หมุนเวียนพหุชาติร่วมแปซิฟิกจึงมีผู้เข้าร่วมและผู้สังเกตการณ์จากประเทศต่าง ๆ มากมาย ซึ่งรวมถึงออสเตรเลีย บังกลาเทศ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย มองโกเลีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทย และสหราชอาณาจักร กองพลน้อยทหารราบที่ 196 แห่งกองทัพบกสหรัฐฯ ซึ่งรับผิดชอบด้านการสนับสนุนการฝึกอบรมในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก เป็นผู้นำในการหมุนเวียนประจำปีร่วมกับกองพลทหารราบที่ 25 และกองบินที่ 11
การฝึกเหล่านี้สร้างขึ้นจากเหตุการณ์จำลองที่ซับซ้อน เป็นปัจจุบัน และเสมือนจริง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้สัมผัสกับการฝึกอบรมและได้รับข้อเสนอแนะตามเวลาจริง การต่อสู้ที่จำลองขึ้นจะเริ่มดำเนินการพร้อมกันทั่วทั้งเกาะฮาวาย ศูนย์ฝึกอะแลสกาจะจำลองภูมิประเทศบนที่สูงที่ไร้ความปรานี ซึ่งเป็นที่ที่คาดว่ากองกำลังจะต้องปฏิบัติการในสภาพอากาศหนาวจัด สำหรับการ
บูรณาการเข้ากับศูนย์ฝึกอบรมการต่อสู้ของออสเตรเลียในระหว่างการฝึกทาลิสมันเซเบอร์ พ.ศ. 2566 อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ ศูนย์ที่เข้าร่วมซึ่งนำโดยออสเตรเลีย ได้ท้าทายกองกำลังข้ามชาติเกือบ 10,000 นายด้วยการฝึกอบรมภาคสนามเป็นเวลา 10 วันเพื่อปกป้องหมู่เกาะต่าง ๆ จากกองกำลังรุกรานขนาดใหญ่
ขีดความสามารถในการฝึกอบรมที่มีความคล่องตัวแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ สามารถจัดการฝึกซ้อมได้ทุกที่ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก “เราไม่ได้ยึดติดกับภูมิประเทศใดภูมิประเทศหนึ่ง ซึ่งในแง่ของการฝึกอบรมแล้วทำให้คุณมีตัวเลือกมากมาย” พ.อ. ไบรอัน มาร์ติน ผู้บัญชาการศูนย์หมุนเวียนพหุชาติร่วมแปซิฟิก แห่งกองทัพบกสหรัฐฯ กล่าวระหว่างการประชุมสัมมนาและนิทรรศการของกองกำลังภาคพื้นดินแปซิฟิกที่เมืองโฮโนลูลูใน พ.ศ. 2566 นอกจากนี้ ระบบการฝึกอบรมที่สามารถแบ่งปันกับประเทศอื่น ๆ ได้ยังช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการจัดเตรียมศูนย์หมุนเวียนพหุชาติร่วมแปซิฟิกในประเทศพันธมิตรและประเทศหุ้นส่วนอีกด้วย “กองทัพบกสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิกทำข้อตกลงกับหุ้นส่วนพหุชาติ และต้องการให้เราประจำการอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งในปีหน้า เราเริ่มวางแผนล่วงหน้า 270 วันอย่างละเอียดและรอบคอบ เราเก็บกระเป๋า เคลื่อนย้าย และเดินทาง ก่อนที่จะดำเนินการฝึกอบรมต่อไป” พ.อ. มาร์ตินกล่าว ในหน้าประวัติศาสตร์ที่ไม่ยาวนานนักของศูนย์หมุนเวียนพหุชาติร่วมแปซิฟิก ผู้นำของศูนย์แห่งนี้ยังได้ทำงานร่วมกับทีมศูนย์ฝึกอบรมการต่อสู้ในแคนาดา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเกาหลีใต้อีกด้วย การฝึกอบรมพหุชาติดังกล่าวจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับพันธมิตรและสร้างขีดความสามารถร่วมกัน ความสามารถในการทำงานร่วมกันและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดซึ่งส่งผลให้กองกำลังของประเทศหุ้นส่วนมี “ความได้เปรียบที่สำคัญในการแข่งขัน และในแง่ของความขัดแย้งด้วยหากจำเป็น” พล.อ. ฟลินน์กล่าว การฝึกหลัก ๆ เช่น การฝึกของศูนย์หมุนเวียนพหุชาติร่วมแปซิฟิก “ก่อให้เกิดความคลุมเครือและความขัดแย้งจากความตึงเครียด” พ.อ. มาร์ตินกล่าว อีกทั้งยังเป็น “การฝึกซ้อมที่ใกล้เคียงกับการต่อสู้ในความเป็นจริงที่สุดด้วยกองกำลังของเรา เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อวันนั้นมาถึง กองกำลังจะได้รับการฝึกฝนจนพร้อมเต็มที่แล้ว”
แนวคิดใหม่ ๆ สำหรับกองกำลังที่หลากหลาย
หุ้นส่วนพหุชาติมีบทบาทสำคัญในศูนย์หมุนเวียนพหุชาติร่วมแปซิฟิก พ.อ. มาร์ตินกล่าวที่การประชุมกองกำลังภาคพื้นดินแปซิฟิก บุคลากรของออสเตรเลียถือเป็นหัวใจสำคัญของปฏิบัติการในศูนย์ควบคุมการฝึกซ้อม นอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ในทีมกองกำลังฝ่ายตรงข้าม เจ้าหน้าที่ของแคนาดาและอินโดนีเซียทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการสังเกตการณ์
ศูนย์หมุนเวียนพหุชาติร่วมแปซิฟิกเป็น “กลุ่มปฏิบัติการร่วมอย่างแท้จริง” พ.อ. มาร์ตินกล่าว โดยอ้างถึงการฝึกซ้อมต่าง ๆ เช่น การฝึกซ้อมเซ็นเซอร์เพื่อการยิงในรัฐฮาวาย ซึ่งบุคลากรของกองทัพอากาศ กองทัพบก นาวิกโยธิน และกองทัพเรือทำงานร่วมกันเพื่อระบุหาเรือศัตรูจำลอง แบ่งปันข้อมูลตำแหน่ง และทำลายเป้าหมาย “การฝึกซ้อมเหล่านี้ล้วนเป็น … แนวคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับวิธีการที่เราจะดำเนินปฏิบัติการร่วมในทุกมิติ” พ.อ. มาร์ตินกล่าว
การฝึกอบรมดังกล่าวครอบคลุมถึงว่าการแทรกซึมอย่างรวดเร็วของระบบเครื่องยิงจรวดเคลื่อนที่ การปฏิเสธการติดตามจีพีเอส และการรบกวนความถี่วิทยุ ตลอดจนระบบอากาศยานไร้คนขับ และการตรวจจับขั้นสูงและเพิ่มเติมสำหรับความตระหนักเกี่ยวกับสถานการณ์ พ.อ. มาร์ตินกล่าวเสริม
“ซึ่งทั้งสองแนวทางได้ผลดี” พ.อ. มาร์ตินกล่าว “เนื่องจากเรากำลังเลียนแบบศัตรูที่ใกล้ชิด และกองกำลังฝ่ายตรงข้ามเองก็รับรู้ในจุดนี้เช่นกัน ดังนั้น นี่เป็นสิ่งใหม่ที่กองกำลังของเราต้องเผชิญ” ศูนย์หมุนเวียนพหุชาติร่วมแปซิฟิกได้สร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการฝึกอบรมที่ฝ่ายศัตรูมีกำลังทัดเทียมกันหรือมากกว่า มีการยิงพิสัยไกล และเทคโนโลยีขั้นสูงที่อาจมากกว่าขีดความสามารถของสหรัฐฯ
ศูนย์หมุนเวียนพหุชาติร่วมแปซิฟิกเป็นหนึ่งในโครงการริเริ่มจำนวนมากที่ได้รับแรงผลักดันในภูมิภาคนี้ “ผมพบว่ามีการฝึกซ้อมระดับพหุภาคีและนานาชาติเพิ่มขึ้นมากเป็นสิบเท่า” พล.อ. ฟลินน์กล่าวระหว่างการหมุนเวียนที่รัฐฮาวาย พ.ศ. 2566 ตามรายงานของสำนักข่าวสตาร์แอนด์สไตรป์ โดยได้อ้างอิงถึงการฝึกทาลิสมันเซเบอร์ ซึ่งเดิมทีเป็นการฝึกซ้อมระหว่างออสเตรเลียและสหรัฐฯ ที่ในปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วมถึง
15 ประเทศและบุคลากรที่เข้าร่วมมากกว่า 30,000 คน การฝึกการูด้าชิลด์ของอินโดนีเซีย ซึ่งเดิมทีเป็นการฝึกซ้อมระดับทวิภาคีร่วมกับสหรัฐฯ ทว่าใน พ.ศ. 2566 มีประเทศที่เข้าร่วมถึง 14 ประเทศและบุคลากรที่เข้าร่วมถึง 6,000 คน และการฝึกยามะซากุระในญี่ปุ่นซึ่งมีกองกำลังจาก 4 ประเทศเข้าร่วม
“ความสามารถในการปรับใช้ ต่อสู้ และเอาชนะ”
กองทัพบกนิวซีแลนด์แสดงความขอบคุณศูนย์หมุนเวียนพหุชาติร่วมแปซิฟิกที่ช่วยให้มั่นใจว่ากองกำลังที่มีความสามารถในด้านการต่อสู้นั้น พร้อมสำหรับความสำเร็จในปฏิบัติการต่าง ๆ ในระหว่างการหมุนเวียนที่รัฐฮาวายในช่วงปลาย พ.ศ. 2566 เหล่าทหารได้ฝึกฝนทักษะของตนเองสำหรับการใช้ปืนใหญ่ 105 มม. และ 155 มม. และทำการจู่โจมด้วยปืนเคลื่อนที่ทางอากาศ นอกจากนี้ บุคลากรด้านการส่งกำลังบำรุง การสื่อสาร และแพทย์ก็ได้เข้าร่วมด้วยเช่นกัน “เรามีความเชี่ยวชาญในการจัดหาการสนับสนุนเชิงรุกในสนามรบ” พ.ต. จาคส์ ผู้บัญชาการกองร้อยทหารปืนใหญ่แห่งกองทัพนิวซีแลนด์ กล่าว “การฝึกซ้อมนี้ช่วยให้เราสามารถทดสอบขั้นตอนของเราและนำไปเปรียบเทียบกับพันธมิตรและหุ้นส่วนของเราได้ เราสามารถตรวจสอบความสามารถของเราในการปรับใช้ ต่อสู้ และเอาชนะในปฏิบัติการที่เกี่ยวกับความขัดแย้งครั้งใหญ่”
พล.ต. จอห์น บอสเวลล์ ผู้บัญชาการกองทัพบกนิวซีแลนด์ในขณะนั้น เน้นย้ำถึงโอกาสในการปฏิบัติการร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วน “การฝึกอบรมที่มีคุณภาพสูงเช่นนี้ทำให้มั่นใจได้ว่าเราจะสามารถบูรณาการร่วมกับหุ้นส่วนทางทหารของเราได้อย่างง่ายดายในเวลาอันสั้น และจะสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ตั้งแต่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปจนถึงการสู้รบอันเนื่องมาจากความขัดแย้งได้” พล.ต. บอสเวลล์กล่าว “นอกจากนี้ยังช่วยให้มั่นใจได้ว่าบุคลากรของเรามีความพร้อมสำหรับการสู้รบและได้พัฒนาความสามารถในการทำงานภายในสภาพแวดล้อมของแนวร่วม ในฐานะหุ้นส่วนที่มีคุณค่าและไว้วางใจได้ รวมถึงการมีส่วนร่วมในภูมิภาคแปซิฟิกที่มั่นคง มีเสถียรภาพ และยืดหยุ่น”
การหมุนเวียนของศูนย์หมุนเวียนพหุชาติร่วมแปซิฟิกยังรวมไปถึงการที่ทหารกองทัพบกฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับความท้าทายที่จำลองถึงวิกฤตและความขัดแย้ง พ.อ.เซอร์เซส ตรินิแดด หัวหน้าฝ่ายกิจการสาธารณะแห่งกองทัพฟิลิปปินส์ กล่าว นอกเหนือจากการเสริมสร้างความร่วมมือและสนับสนุนการทำงานร่วมกันกับประเทศหุ้นส่วนในระดับภูมิภาคแล้ว กองทัพฟิลิปปินส์ยังส่งนักวางหลักการและนักวิจัยเพื่อบันทึกแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในระหว่างการฝึกซ้อมของศูนย์หมุนเวียนพหุชาติร่วมแปซิฟิก
“บทเรียนและข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับในระหว่างการฝึกอบรมจะเป็นพื้นฐานสำหรับการวางหลักการที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมความพร้อมในการต่อสู้ที่ค่ายฟอร์ตแม็กไซไซ ในเมืองนูววาเอซีฮา” พ.อ. ตรินิแดดกล่าวใน พ.ศ. 2565
การฝึกทาลิสมันเซเบอร์ พ.ศ. 2566 นับเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ รวมศูนย์ฝึกอบรมการต่อสู้เข้ากับประเทศหุ้นส่วน โดยที่นักวางแผนการฝึกซ้อมของออสเตรเลียและสหรัฐฯ ซึ่งทำงานร่วมกับนักวางแผนจากแคนาดา ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร ได้บูรณาการบุคลากร กระบวนการ และแพลตฟอร์มเข้าด้วยกัน จากนั้น กองทัพของออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เยอรมนี และสหรัฐฯ ก็ได้จัดตั้งกองกำลังเฉพาะกิจเพื่อขับไล่กองกำลังศัตรูที่จำลองขึ้นมา นอกจากนี้ การฝึกซ้อมเสมือนจริงยังจำลองการต่อสู้ การทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ และการโจมตีทางไซเบอร์อีกด้วย
พ.อ. เบน แม็คเลนแนน ผู้บัญชาการศูนย์ฝึกอบรมการต่อสู้เพื่อการป้องกันประเทศออสเตรเลียแห่งกองทัพบกออสเตรเลีย เรียกความพยายามนี้ว่า “สภาพแวดล้อมการฝึกอบรมที่ไม่ส่งผลกระทบในแง่ลบ ซึ่งมีความเข้มข้นมากที่สุด มีส่วนร่วมมากที่สุด และสมจริงมากที่สุด ที่เราจะสามารถสร้างได้”
“การมีส่วนร่วมในองค์กรช่วยให้ทีมที่ดีที่สุดของเราเข้าถึงศักยภาพในการปฏิบัติงานสูงสุดได้นั้นเป็นเรื่องน่ากระตือรือร้น” พ.อ. แม็คเลนแนนกล่าว
การหมุนเวียนของศูนย์หมุนเวียนพหุชาติร่วมแปซิฟิกที่อะแลสกาเป็นประจำทุกปีนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพแคนาดา ซึ่งแสดงความขอบคุณถึงการฝึกซ้อมดังกล่าวด้วยการเสริมสร้างเส้นทางการสื่อสารระหว่างกองทัพแคนาดาและหน่วยต่าง ๆ ของสหรัฐฯ สหรัฐฯ และหุ้นส่วนระหว่างประเทศใช้การฝึกซ้อมนี้เพื่อประเมินขีดความสามารถในการดำเนินการอย่างเต็มที่ในสภาวะที่รุนแรง
ความร่วมมือระหว่างกองทัพแคนาดา อิตาลี และสหรัฐฯ ในการหมุนเวียนที่อะแลสกาใน พ.ศ. 2566 ไม่เพียงแต่สร้างความไว้วางใจและความสัมพันธ์เท่านั้น แต่ยังพัฒนาประสิทธิภาพของกองทหารในการประสานงานกับกองทัพของหุ้นส่วน การแทรกซึมเข้าไปในดินแดนของศัตรู และปฏิบัติการทางอากาศด้วย หน่วยปฏิบัติการพิเศษของแคนาดาและสหรัฐฯ ร่วมมือกันจัดการฝึกอบรมกระโดดร่มทางทหารภายในวงกลมอาร์กติกจากระดับความสูงมากกว่า 2 กิโลเมตร “การทำงานร่วมกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐฯ เป็นวิธีที่ดีเยี่ยมสำหรับทีมที่จะเรียนรู้ ปรับปรุง และมีประสิทธิภาพมากขึ้นในยุทธวิธีด้านต่าง ๆ” ทหารแคนาดาคนหนึ่งกล่าว
พันธมิตรและหุ้นส่วนต่างก็มีเป้าหมายของตนเองในระหว่างการฝึกอบรมศูนย์หมุนเวียนพหุชาติร่วมแปซิฟิก กองทัพบกสหรัฐฯ ได้ส่งที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือกองกำลังของประเทศหุ้นส่วนในการเตรียมความพร้อมสำหรับการฝึกอบรมและการปรับวัตถุประสงค์ให้สอดคล้องกัน “แต่เราทุกคนจะกลับออกไปพร้อมความสามารถที่มีมากกว่าตอนที่เข้ามา” พ.อ. มาร์ตินกล่าว “และเราทุกคนจะได้เรียนรู้จากกันและกันเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติของเรา และเรากำลังพัฒนาความสัมพันธ์ … ที่จะยืนยาวไปตลอดชีวิตการทำงาน”