ความร่วมมือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ฝรั่งเศสและฟิลิปปินส์กระชับความร่วมมือด้านกลาโหมท่ามกลางความตึงเครียดในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

มาเรีย ที. เรเยส

หน่วยปฏิบัติการของกองทัพอากาศและอวกาศฝรั่งเศสภายใต้ภารกิจเพเกส พ.ศ. 2567 ได้แวะเยือนที่ฟิลิปปินส์เป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการส่งกำลังในอินโดแปซิฟิกประจำปีของฝรั่งเศส เพื่อแสดงแสนยานุภาพด้านการสู้รบและการทูตทางอากาศ

ฝรั่งเศสและฟิลิปปินส์ได้เพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงและกระชับความสัมพันธ์ด้านกลาโหมมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศได้ดำเนินงานเพื่อบรรลุข้อตกลงด้านกลาโหมที่มีความครอบคลุมในวงกว้างยิ่งขึ้น

เจ้าหน้าที่กองทัพอากาศและอวกาศฝรั่งเศสลงจอดที่ฐานทัพอากาศคลาร์ก ประเทศฟิลิปปินส์ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการส่งกำลังในภารกิจเพเกส กองกำลังของทั้งสองประเทศได้ดำเนินการบินร่วมกันและให้นักบินฟิลิปปินส์ขึ้นเครื่องบินของฝรั่งเศสในระหว่างภารกิจ
วิดีโอจาก: กองทัพอากาศและอวกาศฝรั่งเศส/กองทัพฟิลิปปินส์

ภารกิจเพเกสมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของฝรั่งเศส ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างการแสดงตน การปกป้องอาณาเขตอำนาจอธิปไตย และส่งเสริมกฎหมายระหว่างประเทศ ท่ามกลางกิจกรรมทางทะเลของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เพิ่มขึ้น

ภารกิจเพเกส พ.ศ. 2567 ประกอบไปด้วยการฝึกซ้อมและการแวะเยือนร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนอื่น ๆ เช่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างกองกำลังผสมและกองกำลังร่วม

“สิ่งที่ภารกิจเพเกสบ่งบอก คือ เราสามารถส่งเครื่องบินรุ่นใหม่ของเราที่ดีที่สุดไปได้อย่างรวดเร็วและในระยะที่ไกลมากเพื่อรับประกันความปลอดภัยของพื้นที่ในอินโดแปซิฟิก ที่ซึ่งผลประโยชน์ของฝรั่งเศสตกอยู่ในความกังวลและถูกคุกคาม” พล.อ.จ. กิลลอม โทมัส หัวหน้ากองบัญชาการป้องกันทางอากาศและกองปฏิบัติการของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหนึ่งในสามฝ่ายของกองทัพอากาศและอวกาศฝรั่งเศส กล่าว

“เราต้องการแสดงให้เห็นถึงการขยายความร่วมมือทางทหารของเราในขอบเขตทางอากาศ เพื่อแสดงถึงความไว้วางใจและความแน่นแฟ้นของความสัมพันธ์ของเรา และเพื่อแสดงให้เห็นว่าฝรั่งเศสยืนหยัดเคียงข้างฟิลิปปินส์” พล.อ.จ. โทมัสกล่าวกับผู้สื่อข่าว

ในระหว่างการมีส่วนร่วมกันหลายต่อหลายครั้งนั้น นักบินเครื่องบินขับไล่ของฟิลิปปินส์ได้ขับเครื่องบินราฟาลที่ผลิตโดยฝรั่งเศส และบินเคียงข้างเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงของตนเอง นั่นคือ เครื่องบินขับไล่ เอฟเอ-50 ที่ผลิตในเกาหลีใต้

นักบินฝรั่งเศสบังคับเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ราฟาลจำนวนสองลำ เครื่องบินลำเลียงทางยุทธศาสตร์ เอ400เอ็ม สองลำ และเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงและลำเลียง เอ330 สองลำ ระหว่างการเยือนฐานทัพอากาศคลาร์กในจังหวัดปัมปังกาที่อยู่ทางตอนเหนือของกรุงมะนิลา ตั้งแต่วันที่ 27 – 31 กรกฎาคม

“ฝรั่งเศสเป็นชาติในมหาสมุทรแปซิฟิก ดังนั้นเราจึงต้องปกป้องประชากรของเรา อาณาเขตในต่างประเทศของเรา ผลประโยชน์ของเราในภูมิภาค และสนับสนุนกองกำลังปกป้องอำนาจอธิปไตยของเราในอาณาเขตเหล่านี้อย่างรวดเร็ว” พล.อ.จ. โทมัสกล่าว

รัฐบาลฝรั่งเศสได้ขยายความสัมพันธ์ด้านกลาโหมกับรัฐบาลฟิลิปปินส์มากขึ้นในช่วงสามปีที่ผ่านมา นายดอน แมคเลน กิลล์ ผู้บรรยายที่ภาควิชาวิเทศศึกษาที่มหาวิทยาลัยเดอลาซาลในกรุงมะนิลา กล่าวกับ ฟอรัม

“ข้อตกลงที่ลึกซึ้งและครอบคลุมมากขึ้นนี้ดูเหมือนจะดำเนินไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน” นายกิลล์กล่าว “ด้วยการที่ฝรั่งเศสเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างมากในด้านความมั่นคงของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ฝรั่งเศสจะต้องกระชับความสัมพันธ์กับประเทศที่อยู่ในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ด้วยสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในทะเลจีนใต้ ประเทศมหาอำนาจที่ห่างไกลจึงให้ความสนใจมากขึ้นในการมีส่วนร่วมในเสถียรภาพของภูมิภาคนี้โดยอิงตามกฎหมายระหว่างประเทศ”

ฝรั่งเศสและฟิลิปปินส์ได้เพิ่มการมีส่วนร่วมด้านกลาโหมมากขึ้นตั้งแต่มีการตกลงอย่างเป็นทางการที่จะกระชับความสัมพันธ์ของพวกเขาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ในเดือนเมษายน ฝรั่งเศสได้ส่งเรือฟริเกต เอฟเอส วองเดแมร์ เข้าร่วมการฝึกบาลิกาตัน ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมทางทหารประจำปีที่ใหญ่ที่สุดระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน รัฐบาลฝรั่งเศสได้แต่งตั้งทูตทหารประจำกรุงมะนิลาเป็นครั้งแรก เพื่อช่วยรับรองว่าจะมีกิจกรรมด้านกลาโหมร่วมกันมากขึ้น

ขณะนี้กำลังมีการเจรจาเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อตกลงกองกำลังเยือนทวิภาคีที่อนุญาตให้กองกำลังของแต่ละประเทศฝึกอบรมและฝึกซ้อมในดินแดนของกันและกัน ฝรั่งเศสมีแผนที่จะส่งร่างข้อตกลงฉบับแรกไปยังให้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ภายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 ตามที่นางมารี ฟอนทาเนล เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำฟิลิปปินส์ กล่าว

ฟิลิปปินส์มีข้อตกลงกองกำลังเยือนกับออสเตรเลียและสหรัฐฯ และเพิ่งลงนามในข้อตกลงการเข้าถึงแบบทวิภาคีกับญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์คาดหวังที่จะลงนามในข้อตกลงที่คล้ายกันนี้กับแคนาดาและนิวซีแลนด์

ความร่วมมือด้านความมั่นคงกับฝรั่งเศสที่ขยายขอบเขตขึ้นนี้ อาจเปิดทางไปสู่ “การสร้างศักยภาพแบบบูรณาการมากขึ้นผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการถ่ายทอดความรู้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมกลาโหมแห่งชาติของฟิลิปปินส์” นายกิลล์กล่าว

เช่น ฝรั่งเศสมีความเชี่ยวชาญในด้านทรัพยากรความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติอย่างเครื่องบิน เอ330 และหน่วยแพทย์ของฝรั่งเศส เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ อาณาเขตในต่างประเทศของฝรั่งเศสเป็นหมู่เกาะขนาดใหญ่ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่เพิ่มขึ้นและความท้าทายในการเข้าถึงการดูแลทางการแพทย์ที่อาจเกิดขึ้น

“โดยรวมแล้ว ฝรั่งเศสเป็นผู้สนับสนุนที่ได้รับการยอมรับอย่างเต็มใจ และเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงและการพัฒนาที่สำคัญ ความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศสและฟิลิปปินส์ที่ประสบความสำเร็จอาจกลายเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานสำหรับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นายกิลล์กล่าว

โครงการริเริ่มของฟิลิปปินส์ในการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงถึงการปรับเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายในภูมิภาค ฝรั่งเศสและพันธมิตรอื่น ๆ ได้ให้ความสำคัญกับความมุ่งมั่นต่อเสรีภาพในการเดินเรือและการบินข้ามน่านฟ้าตามที่กฎหมายระหว่างประเทศรับรอง โดยสนับสนุนการอ้างสิทธิ์ในอำนาจอธิปไตยของฟิลิปปินส์ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 200 ไมล์ทะเลของฟิลิปปินส์

ด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคง ฟิลิปปินส์มุ่งหวังที่จะเพิ่มขีดความสามารถทางทหารของตน เสริมสร้างความมั่นคงของชาติ สร้างเสถียรภาพในภูมิภาค และยึดมั่นในหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ

แสดงความคิดเห็นที่นี่

ความเป็นส่วนตัวของคุณเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา หากคุณเลือกที่จะระบุที่อยู่อีเมลของคุณ เจ้าหน้าที่ของ ฟอรัม จะใช้เพื่อติดต่อกับคุณเท่านั้น เราจะไม่เปิดเผยหรือเผยแพร่ที่อยู่อีเมลของคุณ เฉพาะชื่อและเว็บไซต์ของคุณเท่านั้นที่จะปรากฏในความคิดเห็นของคุณ ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button